--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ"ขายไอเดียปฎิรูปประเทศไทย

ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ขนานแท้และดั้งเดิม เพราะเล่นมาแล้วทุกบทบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้นำสหภาพ หรือ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ล่าสุด ชื่อ ของเขาอยู่ใน "คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป " และ"คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย" บทบาทการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ครั้งนี้ ถูกจับตามองว่า ข้อเสนอ ของคณะกรรมการ 2 ชุด จะจบแค่กระดาษกองโต หรือ จะฝ่าวงล้อมจากวิกฤตสังคมไทย ได้จริง ๆ

" ทีมข่าว " สนทนากับ "ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" ในทุกประเด็นที่คนไทยอยากรู้ !!!

ที่มาที่ไป ทำไมอาจารย์ มีชื่ออยู่ใน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งสองคณะเลย

(คิด...)เรื่องทั้งหมดคงจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนของหมอประเวศ ผมทำงานกับหมอประเวศมาเกือบ 2 ปีแล้ว เรามีเวทีคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทย ซึ่งจะประชุมที่สถาบันจุฬาภรณ์เดือนละสองครั้ง โดยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสิรมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งมีเรื่องทั้งหมด 10 เรื่องที่เราทำมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือเรื่องสร้างระบบสวัสดิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมทำมาตั้งแต่ประมาณปี 2542-2543 โดยมีงานวิจัย 3-4 ชิ้น และได้เสนอไปตอนที่ผมยังเป็นประธานคณะกรรมการจัดรายได้จนกระทั่งรัฐบาลรับเป็นวาระแห่งชาติ ในเรื่องการผลักดันสังคมสวัสดิการ

เวลาที่พูดถึงเรื่องสวัสดิการ เราไม่ค่อยมีใครทำงานด้านแรงงาน เรามักจะพูดเรื่องสวัสดิการชุมชน สวัสดิการคนชนบท คนแก่ สารพัด และมักให้ความสำคัญกับคนยากคนจนในเรื่องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสวัสดิการต่างๆ แต่ผมพูดเสมอว่าเราต้องอยู่กับความเป็นจริง อยู่กับพลวัตของสังคม ปัจจุบันถ้าเราพิจารณาแล้วคนส่วนใหญ่ของสังคมไม่ใช่เกษตรกร ผมพูดมาประมาณตั้งแต่ปี 2543-2544 จนกระทั่งหมอประเวศท่านเข้าใจ ท่านเห็นด้วยจนสนับสนุนให้ผมทำงานพวกนี้ที่ต้องให้ความสำคัญกับแรงงานมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ปัจจุบันกำลังแรงงานซึ่งหมายถึงคนอายุ 15-60 ที่ทำงานได้ ไม่รวมพระภิกษุ สามเณร ตาเถร เณร ชี เราจะมีคนที่ทำงานได้อยู่ 38 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 67 ล้าน ใน 38 ล้านคนเป็นลูกจ้าง 17 ล้าน และ14 ล้านคนเป็นลูกจ้างเอกชน อีก 3 ล้านเป็นลูกจ้างรัฐ ตัวเกษตรกรจริงๆแล้วมีจริงแค่ 12 ล้านคน เราเรียกได้ว่ากลุ่มลูกจ้างเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสังคม

เวลาเราพูดเรื่องคนยากคนจน เรามองไม่เห็นลูกจ้างเลย แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าทิ้งเกษตรกรนะ แต่เราต้องเข้าใจว่าเรากำลังพัฒนาตัวเองเข้าสู่สังคมทุนนิยม นำโดยการค้าและอุตสาหกรรม เราดู GDP แล้วภาคเกษตรเหลือ 10 % ภาคอุตสาหกรรมปาเข้าไป 90 % แต่เรากลับไม่ได้คิดของพวกนี้ เพราะสินค้าเกษตรมันหมายถึง Primary Product หรือ สินค้าพื้นฐานที่ไม่แปรรูป อย่างข้าวนี่ถ้าเป็นข้าวสาวเป็นสินค้าเกษตรนะ แต่ถ้าเป็นแป้งเมื่อไหร่เป็นอุตสาหกรรมแล้วนะ เพราะมันต้องผ่านโรงงานมาแปรรูป

เมื่อเราเข้าใจโครงสร้างหรือเข้าใจว่าฐานสังคมส่วนใหญ่เป็นแรงงานแล้ว มันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายอะไรบ้าง

เวลาเราบอกว่าจะปฎิรูป เราจะตั้งคำถามว่าปฎิรูปอะไร จากนั้นก็อาจโยงไปถึงเรื่อง "ความขัดแย้ง" เพราะสังคมมันขัดแย้งเหลือเกินตามภาคการเมืองและสังคมแบบนี้เนี่ย คราวนี้ก็ไล่ไปว่าความขัดแย้งหลักมันมาจากไหน ถ้าคุณบอกว่า เอ้า มันมาจากการแย่งชิงอำนาจของผู้นำ แต่การแย่งชิงอำนาจของผู้นำเนี่ย เขาใช้อะไรเป็นปุ๋ยหละ ถ้าถามลึกๆแล้วก็คือ ในสังคมไทยอะไรเป็นปุ๋ยของความขัดแย้ง

ความเหลื่อมล้ำ ?

อืม แปลว่าต้องมีคนสูง คนต่ำ มีคนรวย คนจน แล้วใครเป็นคนยากคนจนหละ ยอมรับไหมหละว่าคนยากคนจนเป็นเกษตรกรและคนใช้แรงงาน ก็ไล่ไปสิแบบที่พูดไปข้างต้น พอถึงจุดนี้นะไอคนที่จะยกประเด็นเรื่องแรงงานขึ้นมาพูดเนี่ยไม่มี นักเศรษฐศาสตร์ก็พยายามพูดว่าคนจนคือคนที่รายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลลาร์ โทษทีนั่นมันใช้มาตรฐานของแอฟริกา ถามว่าคนไทยมีรายได้วันละ 33 บาท หรือ 1ดอลลาร์เนี่ย คนขี้หมาที่ไหนจะอยู่ได้ ผมบอกว่ามันน่าจะเปลี่ยนได้แล้วเราเป็นประเทศอุตสาหกรรมพอเราเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทุกอย่างเป็นสินค้าหมดแล้ว พอทุกอย่างเป็นสินค้าหมดเราก็ต้องใช้เงินมากกว่าแอฟริกา อันนี้เป็นความผิดมหันต์เลยที่เทียบแบบนี้ พอเราเทียบแบบนี้แล้วเราก็บอกว่าแรงงานไม่ใช่คนจนแล้ว มันจะจนได้ยังไงได้เงินเดือนละ 4 พันบาท ถ้าจนก็ต้องได้เงินเดือนละแค่พันบาท

พอมองว่าไม่ใช่คนจนก็จะไม่ช่วยเลย มุ่งไปที่ภาคเกษตรอย่างเดียว

ถูกต้อง รัฐบาลเลยชอบคำอธิบายแบบนี้ เพราะฉะนั้นตัวเลขมันเป็นเรื่องทางการเมือง

รัฐบาลต้องการให้เห็นว่าคนจนน้อย จะได้เป็นความสำเร็จของรัฐบาล

ใช่ ดังนั้น คำว่าคนงาน คนจน จะไม่อยู่ในสายตาเลยเพราะมองว่าพวกคุณไม่ใช่คนจน แม้แต่ตัวผมเองไปคุยกับทั้งสองคณะนะ แทบจะไม่มีใครพูดเรื่องนี้เลย มีแต่หมอประเวศที่พูดเรื่องแรงงานขึ้นมาว่าเรามีประเด็นเรื่องแรงงาน เรื่องคนด้อยโอกาส และนั่นคือสาเหตุที่หมอประเวศดึงผมเข้าไปเพราะผมมองเห็นตรงนี้ และก็หมอประเวศบอกไปช่วยคุณอนันต์ด้วยเพราะจะได้เชื่อมกันเข้ามา

ทีนี้ในงานวิจัยของผมบอกว่า ร้อยละ 60 ของคนงานมีเงินเดือนไม่ถึง 6 พัน แต่มาตรฐานกลับบอกว่าราชการต้องมีเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 7 พัน ผมขอถามหน่อยว่าแล้วคนงานอยู่ได้หรือ แล้วสวัสดิการาชการก็เบิกได้ คนงานเบิกได้บ้างหรือเปล่า ก็ต้องพึ่งประกันสังคม แล้วคำว่าประกันสังคมก็ต้องออกทุกเดือนนะไม่ใช่ได้ฟรีๆ คนงานร่วมรับผิดชอบไม่ใช่แลกแจกแถมเหมือนที่ทำกันอยู่นะ

ถ้าเรามองโครงสร้างได้แบบนี้แล้ว เราจะใส่นโยบายอะไรให้มันแก้ปัญหาแรงงานได้

เราก็กลับมาสู่ความเหลื่อมล้ำ ถามว่าคนที่อยู่ต่ำกว่าเป็นใครบ้าง เป็นเกษตรกร เป็นแรงงาน คนที่อยู่ข้างบนจะแก้ยังไง อย่าให้คนที่อยู่ข้างบนมีมากเกินไป ให้เขาเฉลี่ยกลับมาบ้าง โดยทั่วไปการทำให้คนข้างบนเฉลี่ยกลับลงมาได้มี 2 อย่าง หนึ่งคือภาษี สองคือระบบควบคุมเช่นการควบคุมระบบการผูกขาด แต่เราควบคุมได้หรือ เห็นกันอยู่ปัญหาไข่ ปัญหาเหล้า ทุนบางอย่างก็ผูกขาด

ส่วนภาษีเนี่ยมันก็เอื้อให้คนรวย ลองดูสิเราไปกินอาหารเนี่ย แว็ตมันยังคิดจากเราเลย เขียนแว็ตเท่านี้ ค่าอาหารเท่านี้ มันผลักมาให้เรา เป็นการบอกอะไรครับว่า เอาจริงๆแล้วคนรวยเสียภาษีเยอะก็จริง แต่สิ่งที่คนไม่คิดคือคนรวยที่ทำธุรกิจ ผลักภาระได้ เขาบวกเป็นต้นทุนได้ แต่คนที่จ่ายภาษีเต็มที่ไม่รู้จะผลักไปหาใครคือ มนุษย์เงินเดือน จะผลักไปหาใครได้ มันเก็บ ณ ที่จ่ายเลย แต่มนุษย์เงินเดือนที่โดนคือพวกที่มีรายได้เกินหมื่นห้า พวกคนยากคนจน เกษตรกรไม่เกินก็ไม่ต้องจ่าย ก็โดนแว็ตอย่างเดียว คนชั้นกลางรับไปโดนสองเด้ง คนรวยก็สองเด้งแต่ผลักได้ ถ้าคิดแบบนี้เรารู้เลยตกลงภาษีเมืองไทยใครแบ่งรับ คือมนุษย์ค่าจ้างเลย เห็นชัดเจน

ถามว่าภาษีที่เราจะดึงคนรวยว่าอย่ารวยเกินไป เราทำได้มากน้อยแค่ไหน ลองดูนะถ้าขึ้นภาษี เขาบอก เห้ย มันทำลายการลงทุน พวกนั้นก็บอกจะทำรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการคือสวัสดิการจัดโดยรัฐทุกอย่าง พอจ่ายทุกอย่างก็ต้องใช้เงินเยอะ แล้วเอาเงินจากไหน คุณไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย คนจนไม่มีเงินจ่าย พวกคนชั้นกลางก็ต้องโดน มันแฟร์หรือ

ก็เลยเป็นที่มาของการเสนอภาษีที่ดิน โรงเรือน ?

อืม ผมเสนอตั้งแต่อยู่สภาที่ปรึกษาแล้ว ภาษีทรัพย์สิน โรงเรือน สารพัดแต่ไม่ผ่านหรอกครับ ภาคธุรกิจเขาไม่ให้ผ่าน

แล้วภาษีกำไรหุ้น เอาด้วยไหม ?

ก็เหมือนกัน ผมถึงบอกมันเป็นการเอาใจคนรวย คนแก่คนเฒ่ามีเงินเก็บประจำกินดอก ดอกจ่ายภาษี แต่พวกเล่นหุ้นรวยจากหุ้น กำไรจากหุ้นไม่จ่ายภาษี บ้าหรือเปล่า เงินกองทุนต่างๆ เงินลงทุนทั้งหลายก็ไม่จ่ายภาษี ถามว่าคนมีเงินเก็บแสนสองแสน เอาเงินไปลงทุนไหม คนทำงานมีเงินเก็บ 40 ปี ไม่รู้จักหรอกครับลงทุน ฝากธนาคารทั้งนั้นหละครับ เก็บดอกเบี้ย มันแฟร์หรือเปล่า

พอเราดูคนรวยตรงนี้มันทำลำบาก แต่ก็ต้องทำ ลองมองอีกด้านสิ่งที่เราต้องทำคู่กันคือถ้าเราอยากเพิ่มรายได้เกษตรกร สิ่งแรกจ้องถามว่าจะทำยังไงจะลดต้นทุนได้ ราคาไม่เพิ่มแต่ต้นทุนลดก็กำไรได้ คำถามที่ว่าลดต้นทุนยังไงไม่ค่อยมีคนถาม มันถามแค่ว่าจะทำยังไงรายได้จึงจะเพิ่ม ถามมากพ่อค้าเสียประโยชน์ นักการเมืองไม่ได้ประโยชน์

คราวนี้จะลดต้นทุนยังไง

อ่าว ถ้าเราถามใจตัวเอง คุณเลิกใช้เครื่องจักรได้มั้ย การที่ราคาข้าวมันผันผวน เราควบคุมตัวเองจะง่ายกว่าไหม มันดีกว่าไหม เลี้ยงควาย ใช้ปุ๋ย เราเคยทำแบบนี้มาก่อน ทำไมถึงเลิกหละ ไปถามชาวบ้านเขาบอกว่า มันไม่ทันสมัย เพราะอะไรหละ เพราะกระแสสื่อมันโหมไปทุกวัน ไม่มีโฆษณาช่องไหนบอกลดใช้ปุ๋ยเถอะ ลดใช้เครื่องจักรเถอะ พ่อค้าโฆษณาหมด เมื่อคุมต้นทุนไม่ได้ คุมตลาดไม่ได้ ราคามันก็เพิ่ม พอปีนี้บอกประกันราคากันเสร็จ ปุ๋ยก็ขึ้น ยาก็ขึ้น โลกมันเปลี่ยนหมดแล้ว

แต่ตรรกะโลกยุคใหม่ต้องใช้เครื่องจักร มันมีวาทกรรมว่าพอใช้แล้วประสิทธิภาพการผลิตสูง

เอาอย่างนี้จะเอาประสิทธิภาพการผลิตหรือจะเอาขาดทุนไม่ขาดทุนหละ คุณบอกว่าจะทำไปทำไม บอกไร่นึงได้ 100 ถังจากเดิมแค่ 50 ถัง ผลผลิตเพิ่มแต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ กับคุณได้ 50 ถังเท่าเดิมแต่ลดต้นทุนอันไหนคุ้มกว่า

ตอนนี้มีปรากฎการณ์ว่าโรงงานเปิดรับสมัครคนงานเข้าสู่ภาคผลิต แต่ไม่มีคนเข้าไปสมัครเลย มันเกิดอะไรขึ้น

ก็คนมันยังกดค่าจ้างอยู่ไง เพราะแรงงานต้องการคนมีฝีมือ หรือไม่ก็งานมันให้เงินต่ำไป เลยไม่ทำแล้ว

กำลังแรงงานคนหนุ่มสาวไปไหนหมดครับ ทำไมไม่เข้าสู่ระบบแรงงาน

มันเวียนต่อกันหมด คนจบม.5ต่อปริญญาตรี โท เอก ติดข้างฝากันหมดแล้ว มันไปให้ค่าของงานอยูที่ปริญญากันหมดไม่ใช่ทักษะ

แล้วคราวนี้ก็มีอีกปรากฎการณ์หนึ่งอย่างการขึ้นเงินเดือน ของก็ขึ้นไปหมดเลย

ผมถามเลยขึ้นเงินเดือนแล้วต้นทุนขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจบางอย่างมันใช้ต้นทุนแรงงานไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ไอที่ถึงนี่เป็นพวกธุรกิจแบบใช้แรงงานเข้มข้นอย่างพวกโรงแรม ธรุกิจ อุตสาหกรรมทุกวันนี้ใช้ทุนและเครื่องจักรมากกว่าแรงงาน ถ้าต้นทุนแรงงานโดยเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์คุณเพิ่มเข้าไปไม่กี่บาท มันจะกระทบถึง 3 เปอร์เซ็นต์ไหม แล้วก็ไปขึ้นราคากันกว่า 10-20 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาคือระบบตลาดบ้านเรามันแย่ไง คุณพูดถึงแข่งขันเสรี ภาพมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไง แต่พยายามสร้างให้มันเป็น ซึ่งโครงสร้างเราไม่ได้เป็น

ยกตัวอย่าง ร้านปูนซีเมนต์เต็มไปหมด ผู้ผลิตไม่กี่ราย ร้านไข่เต็มไปหมด ผู้ผลิตมีกี่ราย ทำไมไม่ไปแก้ แบบนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของแข่งขันเสรี พอคุณเห็นทำไมผูกขาด มันมีอำนาจการเมือง มันมีอำนาจธุรกิจประดังขึ้นมา ผลสุดท้ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจทำให้ทุกอย่างเป็นปัญหาไปหมด อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการเมือง

ถ้าร่างบรรทัดสุดท้ายของการปฎิรูปเสร็จแล้ว จะได้อะไร ถ้าโครงสร้างยังเป็นอำนาจที่เกาะกุมกัน

ความเห็นของผมวิเคราะห์ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หนึ่งคือต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นมา ต้องเปิดโอกาส ยกตัวอย่าง ภาคคนงานจะมีสหภาพ ก็ต้องส่งเสริมให้มี เพราะการรวมกลุ่มของคนยากคนจนมันจะเป็นพลังต่อต้าน

ผมคิดว่า มีแต่การสร้างพลังต่อรองของภาคประชาชนจะแก้ปัญหาผูกขาดและความเหลื่อมล้ำได้ นโยบายต้องเปิดใจให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสสร้างพลังตัวเองอย่างเสรีโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ผมถามว่ามันมีบ้างไหม ยกตัวอย่าง นายจ้างจะตั้งสมาคมเมื่อไหร่ก็ได้ ส่งเสริมกันด้วย แต่ลูกจ้างตั้งสหภาพ กลับตั้งไม่ได้ สื่อพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ถามว่ามีกี่ฉบับที่มีสหภาพแรงงาน ตั้งขึ้นมานายทุนก็ปลด

ผมร่วมมือกับกลุ่มประชาชน ยกตัวอย่างผมสร้างเครือข่ายขึ้นมาบัตรของเรา 105 บาท แต่พวกอื่นเขากินกันเป็นทอดๆขาย 110 เราสู้เขาได้ เมื่อโมเดลเริ่มเป็นจริงก็เริ่มขยาย

ผมบอกคณะคุณอนันต์ แล้วและคุณเสกสรรค์ก็เห็นด้วยว่าจุดศูนย์กลางของการแก้ปัญหาของความเหลื่อมล้ำคือ การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ พอพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันหมายถึงอำนาจทางการเมือง อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจแทบทุกอย่างเลย ทำให้คนต่อรองเรื่องสิทธิ ศักดิ์ศรีตัวเองได้ ซึ่งทุกอย่างจะถูกปรับหมดถ้าตรงนี้เปลี่ยน

ฟังดูแล้วมันเป็นนามธรรมหรือเปล่า จะทำอย่างไรให้มันนำไปปฎิบัติได้จริง

ก็คุณเริ่มจริงก็ทำได้ การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างทำได้ไหม อย่างคุณเป็นนักข่าวสงครามลงไปทำข่าว มีความเสี่ยง จะขอค่าความเสี่ยงจากบริษัทได้ไหม คุณพูดได้ไหม ทำไม่ไม่พูด คุณมีสิทธิจะพูดก็เห็นกันอยู่ว่าตายกัน เราเรียกร้องมานานแล้วว่าต้องกล้าพูด

ในยุโรปต้องพึ่งพรรคแรงงานอาศัยฐานเสียงจากสหภาพแรงงานทั้งสิ้น อาศัยการแลกเปลี่ยนนโยบายกัน บ้านเรามันกลัวนายทุน เพราะรัฐมนตรีกินเงินนายทุนทั้งนั้น ไม่ให้เงินลงทุนก็ไปเลือกตั้งไม่ได้ ของเรามันจึงเป็นรัฐทุนนิยม เหมือนพวกเสื้อแดงบอกเป็นอำมาตย์แต่เป็นทุนนิยมทั้งนั้นนะ อำมาตย์ตอนนี้อยู่ใต้นายทุนหมดแล้ว ราชการก็อยู่ใต้นายทุน

เวลาทำงานของ 2 ชุดนี้ก็คงประมาณ 2 ปี จบลงด้วยการทำข้อเสนอให้รัฐบาล

คือก็ทำข้อเสนอทุก 6 เดือน หลังจากนั้นก็คงถี่ขึ้นเรื่อยๆ ของทีมหมอประเวศเป็นทีมขับเคลื่อนถ้าเสนอแล้วรัฐบาลไม่ทำก็จะมีแรงกดดันจากสังคม การทำงานของเราโดยเฉพาะผมเองผมเชื่อในพลังทางสังคมมากกว่าพลังจากการบังคับทางกฎหมาย คนหนีกฎหมายอยู่เรื่อย กฎหมายมันสร้างเอาไว้ให้เลี่ยง ถ้าอำนาจรัฐไม่ถือเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง ก็มีไว้ให้เลี่ยง เพราะฉะนั้นก็ต้องมีพลังทางสังคมควบคู่ไปด้วย

ดังนั้น พลังทางสังคมจะบีบรัดให้รัฐบาลออกกฎหมายภาษีที่ดิน มรดก และตลาดหุ้น ?

ถ้าสังคมต้องการ สังคมก็ต้องลุกขึ้นมาบังคับให้มันเป็น

มีคนวิจารณ์ว่าอาจารย์รับเงินถึง 2 เด้งจากการทำงานนี้ ความจริงแล้วเป็นยังไงครับ

ผมบอกได้เลยว่าผมรับแค่เบี้ยประชุมครั้งละ 2500 บาท คนก็ว่ากันไปเรื่อย ผมก็ทำของผมไป ณรงค์ถอยรถป้ายแดงบ้าง ก็ว่ากันไป แต่ขอโทษผมบรรยายธุรกิจชั่วโมงละหมื่น

อาจารย์คิดว่าที่สุดแล้วการทำงานของอาจารย์เรื่องปฎิรูปประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้มากน้อยอย่างไร หรือว่าเสร็จแล้วก็จะต้องเก็บเข้าลิ้นชักไป

พูดง่ายๆว่าผมไม่เคยหวัง อะไรมากกับประเทศไทย คุณก็เห็นอยู่ว่ามันซับซ้อนแค่ไหน แต่หลักคิดของผมก็คือว่า ถ้าคุณไม่ได้นับหนึ่ง คุณก็ไม่มีโอกาสนับสอง ถ้าความสำเร็จอยู่ที่การนับสิบ สิ่งแรกที่ต้องทำคือนับหนึ่ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น