--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นโยบายการเงิน และส่วนต่างของดอกเบี้ย

โดย...วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านว่าที่ผู้ว่าการได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทันทีที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ทั้ง ๆ ที่ท่านยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยและนายกสมาคมธนาคารไทยอยู่

ไม่แน่ใจว่าท่านพูดในฐานะใด ถ้าจะ โดยฐานะทางภาคเอกชนที่ท่านยังดำรงตำแหน่งอยู่ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะสื่อมวลชนถามท่านในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำอะไรบ้าง ท่านก็เลย ตอบว่าคงจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปให้ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นปีนี้

ส่วนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้นท่านจะดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่สะท้อนเฉพาะปริมาณเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าไหลออกเท่านั้น แต่จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ท่านจะไม่กล้าพูดอะไรมาก

ทันทีที่ท่านนายกสมาคมธนาคารไทย พูดถึงดอกเบี้ยจะต้องขึ้นทีละขั้น ขั้นละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ไปถึง 3 ขั้น ตลาด ตราสารหนี้ซึ่งมีทั้งที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนก็หวั่นไหวราคาตกลงทันที

บรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการออกตลาดขายตราสารหนี้ต่าง ๆ อยู่ก็หยุดชะงักต้องทบทวนอัตราดอกเบี้ย ระยะยาวเงื่อนไขต่าง ๆ เสียใหม่ ทำให้ตลาดชะงักงัน

ดังนั้นการพูดจาของท่านนายกสมาคมธนาคารไทย และท่านผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นคนเดียวกันกับท่านว่าที่ ผู้ว่าการ ธปท. จึงมีความหมายและมีผล ต่อตลาดทุนเป็นอันมาก

ในกรณีของประเทศไทยนั้นเรามีคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งประธานไม่ใช่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่น ไม่เหมือนกับกรณีของประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นประธานของ คณะกรรมการของธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ย

ดังนั้นหากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ลงมติไม่เห็นด้วยที่จะให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนในตลาดทุนอันได้แก่ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นก็จะเกิดขึ้นทันที เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงินคงไม่ใช่ตรายางของผู้ว่าการ ธปท.

การที่โครงสร้างของขบวนการการตัดสินใจเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเรากับของสหรัฐอเมริกานั้นไม่เหมือนกัน การประกาศล่วงหน้าเป็นเวลานาน ๆ โดยยังไม่ได้สวมหมวกผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย อีกทั้งที่มีหนักกว่านั้นคือยังสวมหมวกผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ และนายกสมาคมธนาคารไทยอยู่ จะเป็นการสมควรหรือไม่

กรรมการนโยบายการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานกรรมการคงลำบากใจ หากประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งผู้ว่าการและว่าที่ผู้ว่าการก็คงจะเสียเกียรติภูมิ ราคาตราสารก็คงจะเปลี่ยนแปลงกลับมาที่เดิมอีก

ครั้นถ้าคณะกรรมการจะมีมติตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งเป็น อย่างน้อย ในทุก 6 สัปดาห์ที่มาการประชุม ก็เท่ากับทำตามความเห็นของทางธนาคารพาณิชย์และนายกสมาคมธนาคารไทย เกียรติภูมิของคณะกรรมการนโยบายการเงินก็คงจะถูกกระทบกระเทือน

ที่จะดูไม่สวยอย่างยิ่งคือ ถ้าเกิดธนาคารกสิกรไทยซื้อขายตราสารหนี้ในตลาด ในช่วงเวลาก่อนหน้าหรือหลังจากการให้ข่าว ก็อาจจะถูกครหาหรือสงสัยได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นเรื่องจริง

เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ทางที่ถูกควรให้ผู้ว่าการคนปัจจุบันท่านว่าของท่านไปก่อนจนกว่าท่านจะปลดเกษียณไปน่าจะดีกว่า เพราะท่านพูดในฐานะผู้ว่าการ ธปท. มีหมวกเพียงใบเดียว หรือทางที่ถูกคือให้ท่านประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน เป็นคนพูดเมื่อท่านเห็นว่าควรจะพูด อย่างสหรัฐอเมริกาน่าจะถูกต้องกว่า เพราะท่านพูดแทนคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ดีกว่าท่านผู้ว่าการ และน่าจะเหมาะสมกว่า

เข้าใจว่าทุกท่านที่ออกมาพูดด้วยความมั่นใจว่า ดอกเบี้ยนโยบายควรจะขึ้นจาก 1.25 ไปเป็น 2.00 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยขั้นละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ก็เพราะอัตราเงินเฟ้อได้สูงขึ้นเกินประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ยที่แท้จริงจึงติดลบ เช่นฝากเงินได้ดอกเบี้ย 2.5 เปอร์เซ็นต์ ผู้ฝากเงินจึงขาดทุน 2 ลบด้วย 3.5 เท่ากับ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการออมก็จะน้อยลง แต่การใช้จ่ายในการบริโภคก็จะมากขึ้น ตำราเศรษฐศาสตร์เขาว่าอย่างนั้น

แต่ความจริงในขณะนี้มันมิได้เป็นเช่นนั้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของเรายังเกินดุลอยู่ทุกเดือน ก็เท่ากับว่าการออมของเรายังสูงกว่าการลงทุนอยู่โดยตลอด อาจจะเป็นได้ทั้งสองทางคือการออมมากเกินไป หรือไม่ก็การลงทุนน้อยเกินไป มีเหตุผลทั้งที่ เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลทางการเมือง หรือเหตุผลจากต่างประเทศก็ว่ากันไป

สภาพคล่องในตลาดการเงินจึงยังล้นตลาดอยู่ ภาคเอกชนจึงเตรียมการระดมทุนจากตลาดทุนเพื่อจะได้เงินทุนระยะยาวขึ้นแทนที่จะใช้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์ก็เสียลูกค้าชั้นดีที่จะมาขอกู้มากขึ้น ซึ่งต่างก็แข่งขันกันเสนอดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำอยู่มาก

การขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้โดยดูแค่อัตราเงินเฟ้ออย่างเดียวก็จะยิ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดสูงขึ้นไปอีก ในที่สุดนโยบายขึ้นดอกเบี้ยก็อาจจะไม่มีผล แต่ถ้ามีผล โอกาสการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวก็ยากขึ้นไปอีก ท่านว่าที่ผู้ว่าการควรไปดูให้ดีให้รอบด้านก่อนแล้วค่อยพูดจะดีกว่าจะได้ไม่ผูกมัดตัวเอง และไม่น่าให้เกิดความชะงักงันในตลาดทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดตราสารหนี้ นโยบายดอกเบี้ยจะดูแต่อัตราเงินเฟ้ออย่างเดียวหรือให้น้ำหนักเกินไปก็คงไม่ถูก

สถานการณ์ที่ยุโรปก็ดี ที่อเมริกาก็ดี ขณะนี้ก็ค่อย ๆ ชัดเจนว่าเศรษฐกิจคงไม่ ฟื้นตัวอย่างถาวร โอกาสที่เศรษฐกิจการเงินของยุโรปรวมทั้งอังกฤษจะยังย่ำแย่ต่อไป และคงจะเป็นโรคติดต่อไปยังสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะยังไม่เห็นเงื่อนไขที่จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาฟื้นตัวได้อย่างง่าย ๆ แม้ว่าจีนจะยอมขึ้นค่าเงินหยวน เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐก็ตาม

เมื่อถึงเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม แล้วทางคณะกรรมการการเงินเห็นว่าสถานการณ์ของโลก สถานการณ์ในประเทศยังไม่ดีพอที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำอย่างไร

สำหรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนถึงแม้ว่าจะเห็นว่ายังไม่ควรพูดก่อน แต่นโยบายใหญ่ของเราก็คงไม่เปลี่ยน กล่าวคือ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีการจัดการ ส่วนจะจัดการอย่างไรไม่มีใครทราบ ตลาดก็ไม่ทราบ เดาเอาว่าจะค่อย ๆ ขึ้น ค่อย ๆ ลงโดยใช้ดุลพินิจของ ธปท. แต่ทราบว่าเท่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกงและอาเซียน โดยอ้างว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเราเมื่อปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อหรืออัตรา แลกเปลี่ยนที่แท้จริงแล้วไม่ได้แข็งกว่าประเทศ คู่ค้าในภูมิภาค การเปรียบเทียบคงไม่รวมจีนกับฮ่องกง ซึ่งเขาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่ประโยคที่ว่าจะดูแลให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศก็คงหมายความว่าจะไม่ยอมให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป

แต่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ที่เป็นอัตราตลาดที่ไม่ได้ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อนั้น สำคัญต่อตลาดการส่งออกและนำเข้ามากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง

ทั้งนโยบายดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องระยะสั้น แต่มีผลรุนแรง แก้ปัญหาได้ชะงัด แต่ผลข้างเคียงสูงไม่เหมือนนโยบายการคลังเป็นเรื่องระยะยาว ให้ผลช้า แต่มีผลข้างเคียงน้อยเมื่อทำผิดก็แก้ไขได้โดยไม่มีผลเสียหาย มากนัก มีเวลาพอให้แก้ไขได้

ส่วนเรื่องที่จะลดผลต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้นั้น คงจะดูผิวเผินไม่ได้ เพราะโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยนั้นยุ่งยากพอสมควร ดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายอัตราและเปลี่ยนแปลงอ่อนไหวตามภาวะตลาดอยู่เสมอ รวมทั้งต้นทุนด้วย

ต้นทุนของสถาบันการเงินนั้นต่างรวมเอาต้นทุนมาตรการเพื่อความมั่นคงของสถาบันการเงินเข้าไปด้วย

ถ้าอยากจะลดผลต่างของดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก ก็ต้องเข้าไปสำรวจดูว่ามีมาตรการอะไร ที่ไม่ได้เป็นความจำเป็นหรือเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบที่อ่อนอาวุโสและประสบการณ์เสนอให้ใช้เพื่อความสะดวกของฝ่ายตรวจสอบ แต่เป็นต้นทุนของสถาบันการเงิน ผู้ที่รู้ดีในเรื่องนี้ไม่ใช่ฝ่ายตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน แต่เจ้าหน้าที่สถาบันการเงินนั้นเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ของ ธปท.มากจนไม่กล้าโต้เถียงแต่อย่างใดลองถามเขาดูก็ได้

ที่อยากเห็นก็คือขอให้มีวิญญาณของนักพัฒนาด้วย ไม่ใช่สวมวิญญาณเฉพาะการเป็นผู้กำกับและควบคุมแต่เพียง อย่างเดียว

อย่างไรก็ดีขอแสดงความยินดีกับว่าที่ผู้ว่าการและขอให้โชคดี

ทีมา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น