จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
(รายงานพิเศษ) กรณีโหวต ‘มาร์ค V11’ ถึง..‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ สะท้อนพลังเงียบ+คนเสื้อแดงเลือกตั้งซ่อมกทม.เขต6
“มรึงออกได้ละ ไอ้...อภิสิทธิ์”
“อภิสิทธิ์ออกก็จบ เสื้อแดงจะเผาไหม ถามหน่อยครับบบบบ!!”
“แม่(ง)พูดมาได้ เห็นประชาประท้วงมาขนาดนี้ เป็นผมผมออกไปนานแล้ว แล้วทีตัวเองไม่ออก...!”
“กลัวตาย กลัวออกประเทศไม่มีเงินใช้หรือไง(วะ)!”
เป็นข้อความส่วนหนึ่งของ “มาร์ค V11” นายวิทวัส ท้าวคำลือ ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายรายการเรียลิตี้ล่าฝันยอดนิยม “ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7” (เอเอฟ 7) จนทำให้วันแรกของการขึ้นเวทีของเขาต้องถูกระงับไปกะทันหัน โดยพ่อแม่ของ “มาร์ค V11” แถลงสั้นๆ ขอใช้สิทธิความเป็นพ่อแม่เพื่อความสมานฉันท์ และไม่ต้องการให้เรื่องลุกลามบานปลาย ขณะที่ทรูฯก็อ้างเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่รู้ว่าจะมีปฏิกิริยาจากแฟนคลับต่อต้านอย่างไร
V11 คะแนนพุ่งกระฉูด
อย่างไรก็ตาม หลังมีข่าวข้อความของ “มาร์ค V11” ออกไป พร้อมๆกับขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ “Social Sanction” หรือ “ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม” ที่ใช้โจมตีใส่ร้ายบุคคลต่างๆทางโลกออนไลน์ ซึ่งแพร่หลายอย่างมากขณะนี้ โดยเฉพาะกรณีกลุ่ม “เสื้อหลากสี” ที่ออกมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และโจมตีคนเสื้อแดงนั้น ปรากฏว่าคะแนนของ “มาร์ค V11” กลับทะยานแบบพุ่งกระฉูด เพราะตอนที่ไม่มีข่าวนี้คะแนนของ “มาร์ค V11” อยู่ในอันดับเกือบรั้งท้ายได้ 3.89% แต่เมื่อถูกโจมตีกลับพุ่งไปถึง 17.52%
คะแนนที่พุ่งพรวดจะเป็นเพราะคนเสื้อแดงที่รวมพลังโหวตให้หรือคะแนนสงสารจากประชาชนก็ตาม ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ได้เป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึง “มาร์ค V11” ว่าแม้เป็นการโพสต์ก่อนเข้าแข่งขันและไม่เกี่ยวกับบริษัท แต่ความรับผิดชอบส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงแผนปรองดองของนายอภิสิทธิ์ว่ามีความจริงใจหรือไม่ เพราะแม้แต่ความเห็นของเยาวชนคนหนึ่งที่แสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจและตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แทนที่นายอภิสิทธิ์จะใจกว้างแสดงความเป็นประชาธิปไตยและเมตตาธรรมในฐานะผู้นำ กลับแสดงความกังขาและทวงถามความรับผิดชอบ
ขบวนการบิดเบือน
ด้านนางวรรณา ท้าวคำลือ มารดาของ “มาร์ค V11” ได้ออกมาปกป้องลูกชายว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นตามประสาวัยรุ่นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารขณะบ้านเมืองไม่ปรกติ ซึ่งเขียนขึ้นขณะอยู่ต่างประเทศที่มีข่าวจากประเทศไทยรุนแรงมาก แต่ที่กลายเป็นเรื่องขึ้นมาเพราะมีคนเอารูป “มาร์ค V11” ขึ้นมาตัดแปะและโจมตีในออนไลน์ ซึ่งห้ามไม่ได้ แต่เข้าใจลูกชายดี และครอบครัวทุกคนก็เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวตำหนิกรณีขบวนการล่าแม่มดในเครือข่ายออนไลน์ที่ต่อต้านกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึง “มาร์ค V11” ว่าเป็นการแสดงความเกลียดที่รุนแรงเกินไป ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล หากไม่ใช้ความรุนแรง หรือละเมิดกฎหมาย ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถทําได้อย่างอิสระ
เช่นเดียวกับนายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ไม่แปลกใจที่ขบวนการล่าแม่มดเกิดขึ้นในสภาวการณ์ขณะนี้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่งอย่างชัดเจน โดยมีการตามล่า ตามเช็กประวัติการเคลื่อนไหวข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่ต่อต้านรัฐบาล หลังจากนั้นจะออกกดดัน ข่มขู่ หรือขู่ฆ่า ซึ่งสะท้อนถึงการขาดความอดกลั้นของสังคมต่อการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
นับเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งกับสังคมไทยที่กำลังสูญเสียพื้นที่ประชาธิปไตย สูญเสียช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองได้ ทั้งยังเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการไม่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อกดดันให้มีการลงโทษผู้อื่น ซึ่งเรื่องนี้จะมีอยู่ในรายงานประจำปีของฮิวแมนไรท์ วอทช์ที่ต่างประเทศจะนำไปใช้อ้างอิงสถานการณ์ในประเทศไทยได้
“มาร์ค V11” ถึง “ก่อแก้ว”
กรณีของ “มาร์ค V11” จึงสอดรับกับสถาน การณ์การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 กรุงเทพฯ แทนนายทิวา เงินยวง อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยพรรคเพื่อไทยส่งนายก่อแก้ว พิกุลทอง ที่ถูกคุมขังในข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” ลงสมัคร ซึ่งนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็พยายามออกมาขัดขวางให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยคุณสมบัติของนายก่อแก้ว โดยเฉพาะการกล่าวหาว่า “นายก่อแก้วเบอร์ 4 เป็นผู้ก่อการร้าย” แต่ กกต. ยืนยันว่านายก่อแก้วมีคุณสมบัติถูกต้อง
แม้จะแค่ 1 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็มีความหมายอย่างยิ่งกับสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตอย่างมาก เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่นัยทางการเมืองในผลแพ้หรือชนะเท่านั้น แต่ยังเหมือนสัญลักษณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดง เพื่อทวงความยุติธรรมในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ทั้งถูกเปรียบเหมือนการต่อสู้ระหว่าง “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการซ่อนรูป” ว่าประชาชนเชื่อฝ่ายใด?
หาเสียงบนคมดาบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายก่อแก้วต้อง “ชกข้ามคุก” ไม่สามารถออกมาหาเสียงได้ ต้องให้เพื่อนพ้องน้องพี่ในพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงหาเสียงแทน แต่การพูดถึงเหตุการณ์นองเลือดก็ทำไม่ได้ง่าย เพราะเสี่ยงต่อการทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วยังอาจต้อนตัวเองเข้ามุมอับให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงดาบเชือดอีกด้วย
ที่น่าสังเกตคือ ในการปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยทุกครั้งจะมีคนเสื้อแดงไปรับฟังและให้กำลังใจมากมาย แต่ก็มีคำถามว่าคนเสื้อแดงมากมายที่มาฟังคำปราศรัยนั้นเป็นคนในพื้นที่ที่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าคะแนนจัดตั้งหรือฐานคะแนนเสียงของแต่ละพรรคจะเป็นตัวชี้ผลแพ้ชนะในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2553 โดยเฉพาะเสียงของประชาชนที่เป็นพลังเงียบที่อาจไม่ชอบทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง และพรรคประชาธิปัตย์
แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิอย่างมากมาย ซึ่งจะทำให้คะแนนเสียงของผู้ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดเป็นตัวแปรที่สำคัญกับผลการเลือกตั้ง เพราะคะแนนเสียงเหล่านี้จะไหลไปตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งจะบ่งบอกอารมณ์และความรู้สึกของสังคมต่อสถานการณ์การเมืองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดความชอบธรรมของนายอภิสิทธิ์และกองทัพได้เป็นอย่างดี
นายก่อแก้วจึงไม่ใช่แค่ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่จะเหมือนสัญลักษณ์ในการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจเผด็จการซ่อนรูปอีกด้วย
ความจริงไม่มีวันตาย
เช่นเดียวกับ “มาร์ค V11” ที่จะต้องต่อสู้กับขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ และกลุ่มอํานาจรัฐที่พยายามบิดเบือนความจริงที่ดัดจริตใส่หน้ากากประชาธิปไตย แต่ธาตุแท้กลับไม่ต่างกับ “เผด็จการทรราชมือเปื้อนเลือด” ที่ไม่สะทกสะท้านแม้แต่การเข่นฆ่าและทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง
เช่นเดียวกับนายก่อแก้วที่จะมีคนเสื้อแดงหลายสิบล้านคนเป็นกำลังใจ แม้จะไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้เห็นพลังของประชาชนที่รักประชาธิปไตยทั่วทั้งแผ่นดินที่ต้องการประชาธิปไตยและความยุติธรรมกลับคืน
การเลือกตั้งซ่อมเขต 6 กทม. จึงต้องจับตาอย่ากะพริบว่า “ก่อแก้ว ก่อการร้ายเบอร์ 4” จะล่าฝัน “ประชาธิปไตย” ได้หรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น