--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สงสารตำรวจ อะไรก็(กรู) "ศ.แสวง" ชงไอเดียปฎิรูปสีกากี แบบแฮปปี้ ๆ

ชั่วโมงนี้ เป็นยุคปฎิรูป อะไรก็ต้องปฎิรูป ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือ รัฐธรรมนูญก็ต้องปฎิรูป ความจริงก็ต้องปฎิรูป รวมถึงตำรวจก็ต้องจับมาปฎิรูป

แต่ดูเหมือน ตำรวจ จะไม่ค่อยแน่ใจว่า ปฎิรูปแล้ว ตำรวจเอง จะดีขึ้นหรือเลวลง ?

เพราะลึกๆ แล้ว ฝ่ายการเมืองอาจแค่ อยากปฎิรูปตำรวจ เพราะต้องการจัดการ ตำรวจมะเขือเทศ มากกว่าอยากทำให้ตำรวจดีขึ้นจริงๆ

เมื่อไม่นานมานี้ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์สอนกฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มายาวนานหลายทศวรรษ เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญาขนานแท้และดั้งเดิมไป พูดเรื่องการปฎิรูปตำรวจที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เห็นว่าสาระสำคัญมีประโยชน์ เป็นอย่างยิ่ง จึงนำแนวคิดผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอดังนี้

@ โครงสร้างตำรวจใหญ่ เกินไปแล้ว !!!

การที่ตำรวจยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปฎิรูปตำรวจ อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดแรงต่อต้าน ทั้งๆ ที่ความจริง ทุกวันนี้ ตำรวจเดือดร้อน จึงต้องมาช่วยกันให้ประชาชนได้ประโยชน์ และทำให้ชีวิตตำรวจดีขึ้น ไม่ต้องโดนกล่าวหา แบบทุกวันนี้

ประการแรก โครงสร้างตำรวจ ใหญ่มาก ทั้งๆ ที่โครงสร้างตำรวจ ขนาดใหญ่แบบประเทศไทย ไม่ค่อยมีแล้วในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันประเทศต่างๆ มีการซอยโครงสร้างตำรวจให้เล็กลง บางประเทศกลายเป็นตำรวจท้องถิ่น มีแต่ของเราเองที่โครงสร้างตำรวจยังรวมศูนย์ และใหญ่มาก ในอดีตเป็นแค่ อธิบดีกรมตำรวจ แต่เป็นอธิบดีที่ใหญ่กว่าทุกอธิบดีในประเทศนี้ ทุกวันนี้ก็ยังใหญ่เหมือนเดิม

แต่สังเกตไหมว่า เมื่อตำรวจต้องมาขึ้นกับตรงนี้ ตำรวจเองก็ลำบาก เพราะต้องดูว่า นาย จะเอาอย่างไร ขณะที่นายเองก็ต้องดูว่า การเมือง จะเอาอย่างไร เมื่อการเมืองมานั่งเป็นประธานบอร์ดตำรวจ หรือ การเมืองก็ต้องมองมากว่า มีใครสั่งมาหรือไม่ เป็นปัญหาของตำรวจ เราจึงได้ยินข่าวเสมอๆ ว่า เวลาตำรวจ เดือดร้อน ต้องวิ่งหาใคร การซื้อขายตำแหน่ง ก็เป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ

ในหลายประเทศมีการซอยตำรวจลงเป็นตำรวจท้องถิ่น แล้วให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เป็นการทำงานไปด้วยกัน ตรงนี้ ถ้าเราทำได้จะเป็นประโยชน์ เพราะท้องถิ่น ก็รู้จักตำรวจของเขาเอง แล้วตำรวจจะเข้ามาร่วมดูแลท้องถิ่นของเขาเอง ขณะเดียวกันเวลาตำรวจมีปัญหาก็มีภาคประชาชนหนุนช่วย

ตำรวจไม่ต้องวิ่งดั้งด้นมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบบจ่าเพียร เพื่อหาคนช่วย ซึ่งที่สุด ก็ไม่มีใครช่วยจ่าเพียร ได้

@ ชงไอเดีย ตำรวจท้องถิ่น ต่อไป ตำรวจจะมีประชาชนเป็น แบ็ค

แต่ถ้าเป็นระบบตำรวจท้องถิ่น ภาคประชาชน หนุนช่วยตำรวจได้แน่นอน และจริงๆ ในแผ่นดินนี้ ถ้าคุณทำงานเกี่ยวกับประชาชน ต้องมีประชาชนมาหนุนช่วย ทำงานไปด้วยกัน หากมีประชาชนหนุนช่วย เรื่องใหญ่ ก็ทำได้สำเร็จ เหมือนที่ นพ. ประเวศ วะสี พูดเรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา

นอกจากนี้ ภาคเอกชน จะเข้ามามีบทบาทเรื่องตำรวจบ้าน ที่จะเข้ามาช่วยตำรวจอีกแรง ฉะนั้นแล้ว โครงสร้างตำรวจจะเล็กลง กว่าปัจจุบัน แต่จะมีภาคประชาชนเข้ามาหนุนช่วย รูปแบบนี้มีข้อดี เพราะฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกได้ยาก เพราะภาคประชาชนหนุนช่วยตำรวจ หากมองมุมนี้ ตำรวจอบอุ่นขึ้นแน่นอน

ประการที่สอง ต้องกำหนดบทบาทของตำรวจให้ชัดเจน ปัจจุบันตำรวจรับงานมากมายไปหมด อะไร ๆ ก็ตำรวจ แล้วยังหาเรื่องไม่ถนัดมาให้ตำรวจ ทุกเรื่อง เห็นได้จากกฎหมายใหม่ๆ หลายฉบับ หางานให้ตำรวจในสิ่งที่ไม่ถนัด เช่น กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ให้ตำรวจไปจับ ซึ่งตำรวจจะไปรู้ได้อย่างไรว่า โฆษณาแบบไหนผิดกฎหมาย โฆษณาแบบไหนไม่ผิดกฎหมาย ในภาวะที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว
หรือ กฎหมายสุขภาพจิต เขียนให้ตำรวจไปจับผู้ป่วยมาบำบัด ตำรวจต้องทำงานสารพัด จิปาถะ หรือ เวลาตายไม่ปกติ ตำรวจก็ต้องไปชันสูตรพลิกศพ

@ สงสารตำรวจไทย งานเยอะไปหมด

จริงๆ แล้ว ควรกำหนดบทบาทตำรวจให้ชัดเจน ผมมีข้อเสนอที่ชัดเจน หนึ่ง ถ้าเป็นงานดูแลความสงบเรียบร้อย ผมถือว่าเป็นงานหลักของตำรวจ แต่งานคดี ผมเสนอว่าต้องหาคนมาช่วยงานตำรวจ เพราะบางคดีมีความซับซ้อนมาก ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งตำรวจไม่มีความถนัด 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจะให้อาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไปช่วยงานตำรวจ แต่ก็มีปัญหาว่า อาจารย์สอนกฎหมายจะเข้าไปในฐานะอะไร

ผมจึงเสนอว่า ผู้ที่จะเข้าไปช่วยตำรวจก็คือ อัยการ นั่นเอง ในต่างประเทศ อำนวจสอบสวนกับอำนาจฟ้องคดี ต่างประเทศเขาไปด้วยกัน ในระบบกล่าวหา ในระบบนี้ แยกงานออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ งานสอบสวนกับอำนาจฟ้องร้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจกับอัยการ

กลุ่มที่สองคือ อำนาจพิพากษา ส่วนนี้เป็นของผู้พิพากษา แยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ แต่บ้านเราแยกเป็น 3 กลุ่ม สอบสวนเป็นของตำรวจ ฟ้องเป็นของอัยการ ส่วนพิพากษาเป็นของศาล ผมว่าเป็นเรื่องแปลก ที่ถูกต้องแล้ว ตำรวจกับอัยการ ต้องไปด้วยกัน

หากเราปรับระบบนี้ ผมเชื่อว่า ตำรวจจะหายใจคล่องขึ้น โดยเฉพาะคดีที่มีอิทธิพล หรือ คดีการเมือง ตำรวจจะมีอัยการเป็นมาหนุนหลัง การเอาอัยการมช่วยตำรวจ จะทำให้ระบบเราเป็นสากลมากขึ้น ส่วนงานส่วนอื่นๆที่ตำรวจไม่ถนัด ควรเอาออกไป เช่น การชันสูตรพลิกศพ เอาไปให้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ นายแพทย์ รับไปดำเนินการ

@ เหลียวดูโมเดลประเทศที่เจริญแล้ว เขาทำกันอย่างไร

ทุกวันนี้ งานคดีอาญา ถ้าตายผิดธรรมชาติ ต้องชันสูตร โดยกฎหมายเขียนให้ ตำรวจเป็นเจ้าภาพ ตำรวจต้องไปตามหมอ ถ้าหมอไม่มา ตำรวจจะทำอย่างไร เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้วที่ รถชนกันกลางถนน ศพอยู่บนถนน ตำรวจเคลื่อนย้านศพไม่ได้ ขณะที่หมอก็ไม่มาสักที แล้วทำอย่างไร นี่คือ ปัญหา แต่ในต่างประเทศ เขาไม่ได้ให้ตำรวจทำทั้งหมด ในประเทศอังกฤษ กรณีตายผิดธรรมชาติ คนที่ออกไปชันสูตร ไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ศาลแต่งตั้ง หรือ โคโลเนอร์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่จะออกไปชันสูตร แต่ถ้าไม่รู้ต้องไปตามหมอมาชันสูตร อีกรูปแบบหนึ่งในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ระบบนี้ใช้หมอ ถ้าเมืองที่มีหมอเพียงพอก็ใช้หมอ ถ้ามีหมอไม่พอก็ใช้โคโลเนอร์ แต่บ้านเราใช้ตำรวจทำทั้งหมด ซึ่งเป็นงานที่หนักและตำรวจไม่มีความถนัด

ผมเป็นเสนองานวิจัย เรื่องชันสูตรปี 2547 ผมเสนอแนวคิดให้เอางานชันสูตรออกจากตำรวจ โดยจะมี 2 สำนวน สำนวนแรก เป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ นายแพทย์ เป็นคนทำสำนวนชันสูตร ส่วนสำนวนการสอบสวนเป็นหน้าที่ของตำรวจ 2 สำนวน จะส่งไปให้อัยการ แต่รูปแบบนี้จะทำได้ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แนวคิดในการปฎิรูปตำรวจ ผมเสนออีกว่า ควรฝ่ายจับกับฝ่ายสอบสวนออกจากกัน ฝ่ายจับก็จับไป ฝ่ายสอบสวนก็สอบสวนไป แยกงานตามความถนัด เพราะการจับเอง สอบสวนเอง บางที่ตำรวจก็มีใจโน้มเอียงได้ เมื่อแยกบทบาทชัดเจนแล้ว งานตำรวจจะเหลือน้อยลง

ส่วนสุดท้ายคือ งบประมาณ เมื่อ เอาตำรวจไปอยู่กับท้องถิ่น จะทำให้ท้องถิ่นดูแลตำรวจ ประชาชนจะดูแลตำรวจ รูปแบบนี้ จะทำให้ตำรวจ ไม่ต้องไปรีดไถ การปฎิรูปตำรวจ จะทำให้ตำรวจดีขึ้น และประชาชนก็ได้รับประโยชน์ วิธีการนี้ ประชาชนจะเข้ามาช่วยตำรวจ

ข้อเสนอปฎิรูปตำรวจ ตามสูตร ศ. แสวง อาจทำให้ ตำรวจ 1.4 แสนคน สบายใจมากกว่า สูตรปฎิรูปเวอร์ชั่น นักการเมือง อย่างไม่ต้องสงสัย !!!
ที่มา.มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น