--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โค้งสุดท้าย "แพ้-ชนะ" รัฐบาล-เสื้อแดง

ผลการเลือกตั้งซ่อมระหว่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะเป็นคำตอบใหญ่ที่มีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งใหญ่

เมื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิตัดสินอนาคตการเมืองไทยผ่านการเลือกตั้งซ่อมล่วงหน้า เขต 6 กรุงเทพมหานครไปแล้วกว่า 16,000 คน

ที่เหลืออีกไม่น้อยกว่า 3.8 แสนคน ยังมีเวลาตัดสินใจอีกครึ่งสัปดาห์เพื่อหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันที่ 25 กรกฎาคม 2553

ผลโพลของทั้ง 2 พรรค จาก 16,000 คะแนน ต่างฝ่ายต่างเคลมว่าตัวเองได้คะแนนตุนไว้แล้วมากกว่าฝ่ายตรงข้าม

แต่ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองแพ้หรือชนะ จนกว่าวันเลือกตั้งจริงจะมาถึง

ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายต่างฝ่าย ต่างต้องเร่งหาเสียงทุกรูปแบบ

ฟังใครพูดก็อาจไม่มั่นใจเท่าตัวผู้สมัคร ฝ่ายหนึ่งอยู่ในคุก ฝ่ายหนึ่งอยู่ในเขตเลือกตั้งทั้ง 2 ฝ่าย ปักหมุด เทใจเปิดเผยกลยุทธ์โค้งสุดท้ายผ่าน "ผู้สื่อข่าว"

ก่อแก้ว-เพื่อไทย

"เสียดาย...ไม่ได้หาเสียง"

ก่อแก้ว พิกุลทอง" ตัวแทนเชิงสัญลักษณ์จากพรรค เพื่อไทย ใช้สิทธิในการพูดผ่านลูกกรงเหล็กว่า "เสียดายที่ไม่ได้หาเสียงด้วยตัวเอง"

แต่แกนนำพรรคเพื่อไทย เตรียมใช้กลยุทธ์เปิดแผล-คลายปมเรื่องปัญหาเศรษฐกิจแบบเต็มที่หมดหน้าตัก เพื่อชี้ให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่า เพื่อไทยมีตัวเลขใหม่ อีกชุดที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวเลขจีดีพีและการส่งออกแตกต่าง-ตกต่ำกว่าที่ฝ่ายประชาธิปัตย์พูดไว้

กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ "ก่อแก้ว" มั่นใจในชัยชนะ "เชื่อว่าถ้าหากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 6 ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งในภาวะปกติ ไม่ใช่ในระหว่างประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พรรคเพื่อไทยก็น่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงเมื่อรัฐบาลใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือ ยังคง พ.ร.ก. ฉุกเฉินเอาไว้ก็ไม่เป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน"

สำหรับการใช้ชีวิตในเรือนจำ ระหว่าง ที่ข้างนอกมีการหาเสียงเลือกตั้ง ก่อแก้ว เล่าว่า "รู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสพบกับประชาชนที่รักประชาธิปไตย ไม่สามารถอธิบายข้อเท็จจริงเรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง"

ทดแทนเวลาหาเสียง "ก่อแก้ว" ใช้เวลาส่วนใหญ่ในคุกด้วยการอ่านหนังสือ ออกกำลังกายและสวดมนต์ไม่ให้เครียด รักษาสุขภาพตัวเอง และติดตามข่าวภายนอก จากพี่น้องที่มาเยี่ยมเยียนใน เรือนจำและอ่านหนังสือพิมพ์

"ถ้าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ผมได้คะแนนสูงสุดชนะพรรคประชาธิปัตย์ ก็พร้อมจะเป็น ส.ส.ทำหน้าที่ในสภา ในส่วนของฝ่ายค้านซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลโดยเฉพาะการทุจริต คอร์รัปชั่น ใช้อำนาจโดยมิชอบ"

"การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายถึงการแข่งขันระหว่างฝ่ายที่รักประชาธิปไตย ความยุติธรรม กับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน"

พนิช-ประชาธิปัตย์

"หัวหน้าบอก...ต้องถึงลูกถึงคน"

พนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ

ตั้งแต่ลาออกจากตำแหน่ง เขาลงพื้นที่ทุกวันเช้าจนถึงค่ำ ทำให้เห็นภาพว่าประชาชนตื่นตัวมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญตั้งแต่วันคัดเลือกตัวผู้สมัคร

"พนิช" เล่าว่า กว่าเขาจะได้เป็น"ผู้สมัคร" ต้องฝ่าฟันมาถึง 4 ขั้นตอน ทั้งการคัดเลือกจากประธานสาขาพรรค ขั้นตอนของคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ก. และ ส.ข. เข้าสู่ คณะกรรมการที่มีรองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ จากนั้นส่งชื่อไปยังกรรมการบริหารพรรค 19 คน

ต้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ กรณ์ จาติกวณิช เห็นชอบ-สนับสนุน จึงมีชื่อ "พนิช" ลงสนามแข่งขัน

พร้อมพลังหนุนขั้นเทพจาก "ชวน หลีกภัย" ประธานที่ปรึกษาพรรคที่ลงทุน ลงแรง เข้าถึงพื้นที่เลือกตั้งทั้ง 4 เขต คันนายาว คลองสามวา หนองจอก และบึงกุ่ม มีพื้นที่ 400 กว่าตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมดของ กทม. ที่มี 1,500 ตารางกิโลเมตร มีผู้มีสิทธิ เลือกตั้งประมาณเกือบ 4 แสนคน

เข้าโค้งสุดท้าย "พนิช" บอกว่า ต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด

"หัวหน้าพรรคได้มอบนโยบายให้ พบปะ สัมผัส รับฟังปัญหา ชี้แจงกับประชาชนให้มากที่สุด ท่านบอกให้พูดคุยอย่างถึงลูก ถึงคน เจอประชาชนให้เขาสอบถามได้สัมผัสได้ แต่รับปากไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย เลือกตั้ง สำหรับสถานที่หาเสียงจะมีลักษณะที่ทำประจำ คือ เป็นจุดที่ประชาชนสัญจรไปมาเยอะ ๆ ตามสี่แยก เดินไปทักทาย ยื่นบัตรแนะนำตัว" กลยุทธ์จากรุ่นสู่รุ่น

แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางจะราบรื่น เพราะเขตเลือกตั้งนี้มี "สีแดง" อยู่หลายส่วนการยื่นบัตรแนะนำตัวจึงมีบางทีที่ "พนิช" แจกเก้อ

ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบของคู่แข่ง "พนิช" วิเคราะห์ว่า

"อีกฝ่ายหนึ่งเขาเลือกคนที่มาหาเสียงเองไม่ได้ เมื่อประชาธิปัตย์เลือกคนที่มาหาเสียงเองได้ ก็มีคนอื่นมาช่วยหาเสียง ทั้ง ส.ส. รัฐมนตรี ก็มาช่วยกัน ส่วนเพื่อไทย เขาก็มาหาเสียงช่วยกัน แต่ยังไงก็คงไม่เหมือนผู้สมัครมาหาเสียงเอง"

"ถ้าจะมองในแง่ผมเสียเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งอยู่บนเวที นปช.มาตลอด มีคนรู้จักเห็นหน้าเห็นตามาก่อน ส่วนผมแทบไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง"

"พนิช" มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีนัยถึง 3 ระดับ คือ เป็นการแข่งขันระหว่าง ผู้สมัครในเขต 6 ส่วนที่มากกว่านั้นยังเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง และนอกจากนั้นยังถูกมองว่าเป็นการ แข่งขันกันระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านของผู้ชุมนุมเสื้อแดง หรืออาจจะมองว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับไม่ประชาธิปไตย แต่เราคิดว่าเราก็เป็นประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง

พนิชบอกว่า หากชนะการเลือกตั้งได้เข้าเป็น ส.ส.ก็พร้อมทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนในสภาตั้งแต่วันแรกที่ เปิดสภา คือ 1 ส.ค. ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน แต่หากคนที่ชนะเลือกตั้งอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวตนก็ไม่ทราบว่าเขาจะสามารถเดินทางมา สภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่นั้นได้หรือไม่

ในโค้งสุดท้าย "พนิช" บอกจุดชี้ขาดสำหรับการแพ้-ชนะนั้นยังเป็นเรื่อง "นโยบาย" ของพรรค

"เพราะนโยบายที่ดีของพรรคประกอบกับการลงพื้นที่ของตนที่ทำอย่างเต็มที่ ได้สัมผัสกับประชาชนลงพื้นที่จริงร่วมกับ ส.ส. รัฐมนตรี เราไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีเรื่องใต้ดิน ขณะที่เราถูกหาว่าใช้อำนาจรัฐ แต่เราเองก็ถูกกระทำโดยมีการดึงป้ายหาเสียงออกไป ขณะที่เราทำอะไรภายในกรอบกฎหมาย แต่มีคนอื่นที่ทำนอกกรอบกฎหมาย

และส่วนตัวไม่คิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ใครได้เปรียบ เสียเปรียบ เพราะทุกพรรคก็อยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน"

วันที่ 25 กรกฎาคม 2553 เป็นวันประวัติศาสตร์การเลือกตั้งอีกวันที่จะบันทึกไว้ว่า ผู้สมัคร ส.ส.ที่อยู่ในคุก-กับผู้สมัครที่อยู่ในพื้นที่ ใครคือผู้ชนะ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น