--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ได้เวลา วางเข็มทิศประเทศ

หลังจากที่ต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มบ้านเลขที่ 111 เมื่อรัฐบาลทักษิณ ถูกรัฐประหาร และพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค วันนี้บทบาทของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในทางการเมืองแม้ว่าจะยังไม่หันหลังให้ แต่ดร.สมคิดบอกว่า หากจะกลับมาในวงการเมืองอีกแล้ว ไม่ทำให้ประเทศดีขึ้น สู้อยู่กับบ้านเลี้ยงลูกดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิดไม่ได้ปล่อย เวลาให้เปล่าประโยชน์ วันนี้ดร.สมคิดเข้าไปอยู่ในแวดวงการศึกษา โดยยังทำงานให้กับนิด้า รวมทั้งเข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมทั้งยังเดินสายไปให้ความรู้กับประชาชนอยู่เนืองๆ

ล่าสุด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง เดินทางไปปาฐกถา ในงาน CEO Talk with Dr.Somkid with the Launching of GLEM COOKING Appliances and RCD’GRAND panorama kitchen cabinetry เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดร.สมคิดให้มุมมองเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า ประเทศไทยในขณะนี้ ถือว่ายังแข็งแกร่งทั้งในภาพของสถาบันการเงิน และภาคเอกชน ซึ่งแตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่หลายคนต้องกลายเป็นหนี้ NPL สถาบันการเงินล้ม คนตกงานสูง ซึ่งถือว่าเป็นความย่อยยับที่แท้จริง แต่วิกฤติเศรษฐกิจใน หรือแฮมเบอร์เกอร์ครั้งนี้เราตั้งรับได้ดี ภาคเอกชน มีความพร้อมขนาดเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลกแต่เรายังไปได้ดี ที่เป็นเช่นนี้เพราะ พื้นฐานเศรษฐกิจของเราดี ประการต่อมาเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ตกลงมามาก อีกประการหนึ่งก็คือภาคการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาถือว่าฟื้นตัวดี อย่างไรก็ตามในส่วนของการท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศยังคงต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้เติบโต 5-6% ซึ่งเป็นผลมาจากบุญเก่าที่ได้ทำไว้ เพราะจีดีพีในปี 52 อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ทำให้จีดีพีในครึ่งปีแรกเติบโตในระดับสูงและพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ดีอยู่แล้ว เนื่อง จากพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ดีจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง แม้ว่าภาพการท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศจะยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเชื่อมั่น แต่ระยะสั้น ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ หากมองในระยะยาว ประเทศ ไทยควรระมัดระวังการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังถึงต้นปี 2554 เศรษฐกิจโลกจะปรับเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่เกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤติจำนวนมาก ดังนั้นไทยจะต้องไม่ประมาท รัฐบาลควรจะทำงานให้หนักขึ้น ปฏิรูปปรับเปลี่ยนประเทศอย่างจริงจังโดยเร่งสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศให้เกิดขึ้น และใช้เวลาในการทำงานที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่ ไม่ควรหวังพึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว รัฐบาลควรสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เกิดความ สมดุลกับการส่งออกที่เติบโตสูง

“ไอเอ็มเอฟเริ่มออกมาเตือนปีหน้าต้องระวัง ทำให้ปีหน้าไทยต้องระวังด้วยเช่นกัน รัฐบาลต้องใช้ช่วงเวลานี้ทำงานให้เต็มที่ อย่าประมาท ที่สำคัญต้องสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศให้แข็งแกร่ง”

ดร.สมคิด บอกด้วยว่า ไทยต้องติดตามสถานการณ์ต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการติดตามบทความของ โกลด์แมน แซ็คส์ ที่ออกมาทำนายว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจ 50-60% จะถูกครอบคลุมโดยประเทศมหาอำนาจใหม่ ในกลุ่มที่เรียกว่า BRIC อาทิ บราซิล รัสเซีย จีนและอินเดีย รวมกับกลุ่มประเทศที่เรียกว่า N 11 (NEXT11) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา 11 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บังกลาเทศ ปากีสถาน อิหร่าน อียิปต์ เม็กซิโก และอีกหลายประเทศ แต่เป็นที่แปลกใจว่าในกลุ่มประเทศ N 11 กลับไม่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจะโตเร็วมาก เรียกว่าเป็นการระเบิดของกลุ่ม Middle Income Country อำนาจการซื้อจะย้าย Shift จากกลุ่มประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ไปยังประเทศเหล่านี้

ดังนั้น ไทยจะต้องพัฒนาตัวเองและหาทางพัฒนาการส่งออกไปยังเหล่านี้ให้มากขึ้น พร้อมทั้งเร่งเจาะกลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปตามความต้องการผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออก ภาคธุรกิจจะต้องรู้ค่าเงินที่ผันวผน และการค้าการลงทุนของโลก เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่น่าจับตามองอยู่

ส่วนเรื่องแผนปฏิรูปประเทศไทยนั้น ดร.สมคิดบอกว่า แผนปฏิรูปประเทศไทยที่รัฐบาลควรเริ่มทำขณะนี้คือ ประกาศทิศทางของประเทศไทยใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเดินไปทางไหน จะมียุทธศาสตร์ของประเทศอย่างไร เพื่อให้ประชาชนและเอกชนสามารถวางแผนได้ถูกต้องและขับเคลื่อนประเทศไทยพร้อมกัน และไม่ควรวางนโยบายบริหารประเทศ โดยตั้งเป้าหมายเพียงว่า จะทำให้กลับมา บริหารประเทศได้ในสมัยหน้าเท่านั้น ไม่เช่นนั้นประเทศจะลำบาก

สำหรับปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับไทยในขณะนี้ คือประชาชนที่เกิดความอ่อนแอจากปัญหาของความยากจน จนเกิดปัญหาของประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ แนวทางแก้ปัญหายากจน รัฐบาลควรกระจายรายได้ออกไปสู่ภูมิภาค และในแต่ละท้องถิ่นให้ทั่วถึง ซึ่งหากประชาชนเข้มแข็งมีอำนาจซื้อมากขึ้น ก็จะส่งผลดีให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง พร้อมกับการเร่งเข้าไปแก้ปัญหาของประเทศให้ถูกจุดอย่างรวดเร็วและต้องทำเดี๋ยวนี้ โดยไม่ต้องรอเวลาและรอคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆ

เห็นได้จากปัญหาส่วนหนึ่งของประเทศมาจากระบบการศึกษา ความสามารถของประเทศไทยถดถอย ก็ควรเข้าไปแก้ทันที ให้ความรู้พร้อมกับมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศมากที่สุด

นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการ และไม่มีทิศทางชัดเจน ดังนั้น คนไทยมองข้ามวิกฤติทางการเมือง และรัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการปรับเปลี่ยนไทยสร้างความเชื่อมั่นด้วยตัวเอง โดยให้มองถึงประเทศ ไม่ใช่มองการเลือกตั้งในครั้งหน้าเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การปฏิรูปประเทศไทยสิ่งแรกที่ควรแก้ไข คือ ปัญหาความยากจน โดยเน้นการกระจายไปสู่ภาคชนบทมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น

“ประเทศชาติจะเจริญถ้าประชาชน ในประเทศเข้มแข็ง เอกชนก็จะเข้มแข็งพร้อมกันไปด้วย และรัฐบาลควรใช้เวลาในขณะนี้ทำให้ดีที่สุดเข้าไปแก้ปัญหาอย่างทันทีและทำให้ดีที่สุด และไม่ควรแก้ประเทศเพื่อให้เลือกตั้งได้ในครั้งหน้า ไม่งั้นประเทศลำบาก ควรระบุอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับวันนี้แล้ว”

ก่อนปิดท้ายการ Talk ครั้งนี้ ดร.สมคิดยังให้ความเห็นถึงการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ว่า ดร.ประสาร เหมาะสมเป็นผู้ว่าการ ธปท. เพราะเคยทำงานอยู่ที่ธปท.มาก่อน รวมทั้งยังเคยเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอยู่ในภาคเอกชน จึงสามารถมองได้หลายมุม เชื่อว่าดูแลธปท.ได้เป็นอย่างดีและซื่อสัตย์สุจริต

ทั้งนี้ การบริหารนโยบายการเงินของประเทศไม่ใช่มุ่งแต่เพียงการดูแลนโยบายอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องประสานให้สอดคล้องกับกระทรวงการคลัง เพื่อสร้างเสถียรภาพการเงินการคลัง เพราะธปท. ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารนโยบายการเงินของประเทศ

“ไม่จำเป็นต้องแนะนำผู้ว่าการธปท. ทำอะไรเป็นพิเศษ เชื่อว่า นายประสาร รู้หน้าที่” ดร.สมคิด กล่าวสรุป

ที่มา.สยามธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น