--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กู้ศักดิ์ศรี! ธรรมศาสตร์-หมดยุคใบสั่ง?

ที่มา.บางกอกทูเดย์

ทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริง
การปลูกฝังประชาธิปไตย จะต้องสร้างตั้งแต่ในวัยเด็ก ในวัยศึกษา เพื่อที่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต จะได้รังสรรค์ประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับประเทศชาติบ้านเมือง

ด้วยหลักคิดเช่นนี้ ทำให้บรรดาประเทศแม่แบบประชาธิปไตยในยุโรป ในสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับการสร้างประชาธิปไตยในสถาบันการศึกษาเป็นอย่างมาก

แต่สำหรับประเทศไทยในช่วงหลังจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การปลูกฝังประชาธิปไตยในสถาบันการศึกษาหลักของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา กลับอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด

ในอดีตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยมีชื่อเต็มว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ถือเป็นหนึ่งเสาหลักด้านประชาธิปไตยในสถาบันการศึกษาของประเทศ

เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถือเป็นอีกสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง
หรือไม่น้อยหน้า ก็ต้องยกให้มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของเมืองไทย คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นอีกสถาบันที่เคียงคู่กับบทบาทประชาธิปไตยและการเมือง โดยไม่น้อยหน้าใคร

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอีกมากมายหลายหลาก ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

จนหากมองด้วยสายตาภายนอก ก็น่าที่จะอดเชื่อมั่นไม่ได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยน่าที่จะเข้มแข็ง

แต่หลังวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา มุมมองที่มีต่อผู้นำสถาบันการศึกษาหลักของเมืองไทยก็เปลี่ยนไป... ประเทศชาติเกิดการแตกแยกแบ่งขั้ว มีการทำลายล้างกันทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการใช้อำนาจทหารและปากกระบอกปืน รวมทั้งการใช้อำนาจนอกระบบ เข้ามาย่ำยีประชาธิปไตย เข้ามาฉีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

แต่ผู้นำสถาบันมหาวิทยาลัยที่เคยมีบทบาททางประชาธิปไตย และไม่กลัวเกรงอำนาจการเมืองและอำนาจทหาร กลับมีท่าทีที่เปลี่ยนไป

นิ่ง! อมพะนำ! ไม่คิดที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แถมบางคนยังกลับสนับสนุนการทำรัฐประหาร สนับสนุนให้ต่อต้านประชาธิปไตย โดยอาศัยข้ออ้างอารยะขัดขืนขึ้นมาฉาบทา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คือการเลือกขั้วเลือกข้างอย่างชัดเจน

เหตุผลเป็นเพราะว่า บรรดาผู้ที่ดำรงตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายที่ ถูกกำหนดตัวเข้ามา และวนเวียนอยู่เฉพาะกลุ่มใช่หรือไม่?

หลายคนเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง อย่างเช่น นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ที่เป็นทั้งนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เช่นเดียวกับ นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ดำรงตำแหน่งหลายมหาวิทยาลัยเช่นกัน หรือแม้แต่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นผู้ที่มีภารกิจมากมายหลากหลาย

และรวมถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยศิลปากร และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ทำหนังสือถึง นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้ตรวจสอบสมาชิกภาพว่า จะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ส.ส.หรือ ส.ว. ไม่สามารถเป็นกรรมการในหน่วยงานของฝ่ายบริหารได้...หรือไม่

กรณีต่างๆ เกี่ยวกับสภามหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้น เมื่อมาผสมกับการที่บรรดาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง ที่นอกจากจะไม่เน้นการปลูกฝังประชาธิปไตยให้กับนักศึกษายุคปัจจุบันเท่าที่ควรแล้ว ยังทำตัวไม่เป็นแบอย่างทางประชาธิปไตยให้กับนิสิต นักศีกษา อีกด้วย

ไม่เช่นนั้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551กลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เรียกว่ากลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ คงจะไม่รวมตัวกันนำพวงหรีดไปมอบให้ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี เพราะทนไม่ได้ที่มีบทบาททางการเมืองน่าเคลือบแคลง

แถลงการณ์ของนักศึกษาระบุชัดเจนเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในขณะนั้นว่า เป็นการไว้อาลัยกับแนวคิดทางการเมืองของนายสุรพลที่ฝักใฝ่อำนาจนอกระบบ!!!

ดังนั้น น่าจะถึงเวลาหรือยังที่ควรจะต้องมีการสังคายนา บุคคลที่จะเป็นแกนนำทางความคิดในมหาวิทยาลัยต่างๆ
โดยเริ่มต้นทวงศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอดีตให้กลับคืนมา เนื่องจากว่า ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ จะครบวาระในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ในราวเดือนกันยายน 53นี้พอดี

โดยรายชื่อของผู้ลงชิงตำแหน่ง 3 ราย ประกอบด้วย รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ประกาศลงชิงชัยตำแหน่งอธิการบดี มธ.คนใหม่ ต่อจาก ดร.สุรพล

ต้องถือว่ามุ่งมั่นและกล้าหาญมาก เพราะ รศ.ดร.กำชัย เป็นคนแรกที่ประกาศตัวเข้า ชิงชัย และหากดูเส้นทางการทำงานที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ต้องถือว่ามีคะแนนนิยมพอฟัดพอเหวี่ยงกับ ดร.สุรพล เลยทีเดียว

รายที่ 2 คือ “อาจารย์ตู่” ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิติศาสตร์รุ่น 21 เพื่อนซี้ของ ดร.สุรพล หรือ “อาจารย์คุง” ที่เปรียบเสมือนฝาแฝด
ชนิดที่เลือก ดร.สมคิด ก็ได้ ดร.สุรพล แถมกลับมาอีกคนนั่นเอง

ส่วนรายที่ 3 คือ รศ.ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ผู้ชูสโลแกน ว่า “เปิดใจให้กว้าง เราร่วมกันสร้างธรรมศาสตร์”

มอตโต้หลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ “เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม” ในขณะที่วาทะหัวใจที่ติดปากชาวเหลืองแดงทุกคนก็คือ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ดังนั้น การเลือกอธิการบดีในครั้งนี้
จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างยิ่งในการเป็นสถาบันการศึกษาที่หนุนค้ำประชาธิปไตยของเมืองไทย

สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ ในช่วงสมัยของ ดร.สุรพล ได้มีการวางฐานทางการเมืองเพื่อยึดธรรมศาสตร์เอาไว้อย่างต่อเนื่อง ดร.สุรพลเป็นอธิการบดีมา 2 สมัย แล้วเตรียมหาทางส่งไม่ต่อให้ ดร.สมคิด โดยเมื่อ ดร.สมคิด หมดวาระ คณบดี คณะนิติศาสตร์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คนที่ก้าวขึ้นมาแทนก็คือ รศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง พันธมิตรของ อธิการบดีสุรพลนั่นเอง

ได้มาแบบกำลังภายในที่ ทำกันอย่างเนียน ๆ ยึดเงียบได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อ ดร.สุรพล หนุนหลัง
แม้วันนี้กระบวนการหนุน ดร.สมคิด จะเดินหน้าจนถือแต้มต่อ แต่ ดร. สมคิด ก็มีจุดอ่อน คือ ภาพลักษณ์ที่ถูกวิจารณ์จาก ปัญญาชน ฝ่ายก้าวหน้า ในประชาคมธรรมศาสตร์ ที่ไม่เห็นด้วยกับ ท่าทีและจุดยืนของ “สุรพลและสมคิด”ที่เข้าไปเป็นมือกฎหมาย หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะ ดร.สมคิด เข้าไปเป็นเลขานุการของสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

แต่แม้ว่า ดร.กำชัย อาจจะต้องเหนื่อยหนักหน่อย แต่หากดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อครั้งลงชิงชัยตำแหน่งอธิการบดีกับ ดร.สุรพล
ครั้งนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 ดร.สุรพล ได้รับการเสนอชื่อทั้งสายอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เป็นจำนวน 2,502 เสียง ส่วนผู้ประกาศชิงเก้าอี้อธิการบดี คือ รศ. ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ ครั้งนั้นได้รับการเสนอชื่อมากถึง 3,016 เสียง
มากกว่าถึงห้าร้อยกว่าคะแนน

ที่น่าสนใจในครั้งนั้น ก็น่าจะเป็นผลการเสนอชื่อของบุคคลากรในสำนักงานอธิการบดี ที่ปรากฏว่า รศ. ดร. กำชัย ได้รับการเสนอชื่อมากที่สุด
แต่สุดท้ายแล้ว ดร.สุรพล ก็คว้าเก้าอี้อธิการบดีไปครองได้ โดยที่มี รศ.ดร.กำชัย เป็นตำนานคู่ขนาน

นี่คือเครดิตการันตีให้เห็นว่า ดร.กำชัย ไม่ใช่ไม้ประดับที่ กลุ่ม ดร.สุรพล จะมองข้ามได้ง่ายๆ
และการแข่งขันชิงเก้าอี้อธิการบดีครั้งนี้ ถือเป็นการพิสูจน์ด้วยว่า ประชาคมธรรมศาสตร์ยังมีอิสระเพียงใด

นายวีระชัย เอื้อสิทธิชัย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า มธ.ควรใช้หลักวิชาการนำการเมือง และควรยึดถือผลประโยชน์ของ มธ.เป็นหลัก อธิการบดีคนใหม่ควรมีวิสัยทัศน์และโยบายทางวิชาการที่ชัดเจน เพื่อรองรับต่อการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ต้องมีเวลา มีหลักธรรมาภิบาล

ขณะที่นายดาบมนต์ ศรีพงศ์สานต์ นศ.ชั้นปีที่ 5 คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาอธิการบดีเท่าที่ควร ตนมองว่าอธิการบดีของ มธ.ควรจะมาจากการเลือกตั้งของนักศึกษาเป็นหลัก

ส่วนนายไพโรจน์ เบญจนนท์ รองประธานสภาข้าราชการ มธ. กล่าวว่า ประชาคมของ มธ.ไม่สนใจและเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องการสรรหาอธิการบดี เพราะทุกคนเห็นว่าอำนาจการสรรหาอธิการบดีอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามนายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงวุฒิ ในฐานะกรรมการสรรหา กล่าวว่า จะรวบรวมความคิดเห็น เพื่อนำไปเสนอต่อคณะกรรมการสรรหา 29 ก.ค.นี้ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการรับสมัครและเสนอชื่อจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแถลงนโยบายและวิสัยทัศน์ต่อไป

ก้าวสำคัญครั้งนี้จึงอยู่ที่ ประชาคมธรรมศาสตร์เองนั่นแหละ จะกู้ศักดิ์ศรีและสร้างความแข็งแกร่งให้กลับคืนมาสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือไม่???
หวังว่าคงไม่ลืมนะว่า ธรรมศาตร์นั้น

“พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ”
-------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น