คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
ลากยาวไปถึงสรรหา ส.ว.??
ถ้าทุกอย่างอยู่บนบรรทัดฐาน และเจตนารมณ์ตามกฎหมายแล้ว คำว่า 2 มาตรฐานก็คงไม่เกิด... รวมทั้งการตะแบง การเลี่ยงบาลี เพื่อให้เกิดการผูกขาดยึดครองอำนาจและผลประโยชน์ก็คงไม่เกิด
แต่เพราะมีกลุ่มคนบางคนที่พยายามเลาะตะเข็บกฎหมาย พยายามตีความกฎหมาย ตะแบงเข้าข้างตัวเอง เอาสีข้างเข้าถูบ้าง แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆ บ้าง เพราะที่จะให้ดำรงไว้ซึ่งอำนาจในมือ... บ้านเมืองก็เลยวุ่นอย่างที่เห็นๆ กันจนทุกวันนี้
ปรากฏการณ์ที่กระทบกับความเชื่อมั่นของสังคมในเรื่องกฎหมาย ที่เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในเวลานี้อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การตีความการดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ว่า สามารถที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่
หลังจากที่มีอายุครบ 65 ปีเต็ม ไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. (State Audit Commission - SAC) เป็นคณะกรรมการ ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีหน้าที่กำกับดูแล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
โดยที่ต้องย้ำว่า คตง. ต้องเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็จะประกอบไปด้วย ประธานกรรมการ 1 คน กรรมการอื่น 9 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่น
ซึ่งการบังคับบัญชา จะดำเนินงานโดยการมีหน่วยธุรการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระ มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
โดยวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละหกปีนับ และดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว
นั่นคือ เนื้อหาของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดล่าสุด ได้สิ้นสภาพลงเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12/2549 โดยให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทน
พูดง่ายๆ ก็คือ การทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายนได้ทำให้ คตง. สิ้นสภาพลงไป และคุณหญิงจารุวรรณ ก็ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วยเช่นกัน
แต่เพราะ ผลจากการรัฐประหารอีกนั่นแหละ ที่ทำให้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 29 ข้อ 2 และ 3 วรรคสอง กำหนดให้คุณหญิงจารุวรรณ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ
แต่เนื่องจากการเมือง เนื่องจาก คมช. รวมไปถึงเรื่องความขัดแย้งในประเทศ ทำให้คุณหญิงจารุวรรณ ลากยาวนั่งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จากปี 2550 มาถึงปัจจุบัน 2 ปีกว่าเกือบจะ 3 ปีอยู่รอมร่อแล้ว ก็ไม่ได้มีการสรรหาใหม่แต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อคุณหญิงจารุวรรณ อายุครบ 65 ปี เมื่อวันที่ 5 กค. ที่ผ่านมา จึงมีคำถามดังขึ้นมาว่า จะต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติหรือไม่???
โดยการยกข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2540 มาตรา 34(2) ประกอบมาตรา 302(3) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมาตั้งคำถามจนกระหึ่มไปทั้งสังคม
แม้แต่คุณหญิงจารุวรรณ เองก็ยังต้องทำหนังสือถึง นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อแจ้งว่า วันที่ 5 กรกฎาคม จะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 65 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด คงต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แม้จะทราบว่า มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่สามารถสรรหา คตง. และผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ได้
แต่ที่น่าจับตามองก็คือ คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ได้มีการเสนอความเห็นทางกฎหมาย อ้างว่า แม้คุณหญิงจารุวรรณ ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยผลของกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2550 แต่ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ข้อ 2 และ 3 วรรคสอง กำหนดให้ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น จึงไม่ต้องนำประเด็นปัญหาการพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์มาบังคับอีก...
ถ้าแบบนี้พูดง่ายๆ ก็คือ คุณหญิงจารุวรรณ สามารถเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะเบื่อไปเอง หรือจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่
สังคมเลยมีการโฟกัสไปที่คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาชุดนี้ ก็พบว่ามี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เป็นประธานฯ มีกรรมการประกอบด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวรินทร์ เทียมจรัส นายสมัคร เชาวภานันท์ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง
หมายความว่าส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. สายตรงม็อบพันธมิตรทั้งสิ้น
ที่สำคัญโดยเฉพาะตัวของนายไพบูลย์นั้น ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายของคุณหญิงจารุวรรณ มาก่อน
งานเข้าทันที ว่าความเห็นดังกล่าว จะถือว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้หรือไม่???
เพราะหากมองข้ามช็อต จะพบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2554 หรือต้นปีหน้า จะต้องมีการสรรหาวุฒิสภาชุดใหม่เกิดขึ้น ซึ่งปกติ 1 ใน 7 คณะกรรมการสรรหาวุฒิสภา จะต้องมีประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินโดยตำแหน่งด้วยคนหนึ่ง
ถ้าคุณหญิงจารุวรรณ ลากยาวเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแบบที่ 40 ส.ว.ตีความแล้ว นั่นจะเท่ากับว่า คุณหญิงจารุวรรณ จะเข้ามาเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการสรรหาวุฒิสภา ด้วยหรือไม่?
มองข้ามช็อตซ้ำ ให้ลึกลงไปอีกที บรรดา ส.ว. สรรหา ที่จะเข้ามารอบใหม่ ก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี หรือเท่ากับยาวไปถึงปี 2560 โน่นเลยทีเดียว!!!
ประเด็นนี้จึงสุ่มเสี่ยงกับเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างที่สังคมตั้งข้อสงสัยได้เหมือนกัน เพราะตราบใดที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่คลอดออกมา ก็จะยังไม่มีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่
และหากเป็นไปตามมุมมองของ 40 ส.ว. ก็เท่ากับคุณหญิงจารุวรรณสามารถเป็นไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจเกณฑ์เรื่องอายุครบ 65 ปี ในขณะที่หาก 40 ส.ว.ได้รับการสรรหากลับเข้ามาอีกวาระ ก็จะอยู่ยาว 6 ปี เป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่กำลังมีใคร หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามใช้ประโยชน์ตรงนี้อยู่หรือไม่... สังคมต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
ที่สำคัญสังคมคงต้องกดดันให้ต้องมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่สามารถสรรหา คตง.และผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำรัฐประหาร 19 กันยา และการประกาศคำสั่ง คปค. นั่นเอง
นี่คือผลงานที่ต้องถือว่าเป็นตราบาปที่สร้างปัญหาที่ชัดเจนของ ประกาศ คปค. ที่ทำให้เกิดการปิดล็อกการใช้กฎหมายปกติ
ซึ่งล่าสุด ประธานวุฒิสภา ได้มีการแจ้งไปยังคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ สตง. แล้ว ซึ่งปรากฏว่าทางคณะกรรมการสรรหาที่มีนายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก็ได้มีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ที่อาคารรัฐสภา 2
อย่างไรก็ตาม คนๆ หนึ่งที่จะสามารถปลดล็อก และสร้างความสง่างามได้ ก็คือ คุณหญิงจารุวรรณเอง
นั่นคือแทนที่จะมาเรียกร้องให้ตีความ หรือวินิจฉัยคุณสมบัติ ว่าอายุครบ 65 ปีแล้วจะอยู่ต่อได้หรือไม่? แต่เปลี่ยนมาเป็นขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายปกติที่ว่า 65 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่ง ... คุณหญิงจารุวรรณ ก็จะได้รับคำชมเชยจากสังคม
ส่วนงานของ สตง. ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะมีรองผู้ว่าการ ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งได้อยู่แล้ว
แต่หากคุณหญิงจารุวรรณ ปล่อยให้ยืดเยื้อ ยื้อตำแหน่งไปเรื่อยๆ ก็ช่วยไม่ได้ หากสังคมจะมีการตั้งคำถามว่า ทำไมจึงไม่กล้าลุกจากเก้าอี้ นั่งทับอะไรอยู่หรือไม่?
หรืออาจจะมองไปถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างที่คนจับตามองกันอยู่ก็ได้เช่นกัน...
น่าคิดมากๆ ใช่หรือไม่... คุณหญิงเป็ด!!!
ที่มา.บางกอกทูเดย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น