--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ป้ายหาย

กิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” ที่มี นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักถือเป็นวิธีการแสดงออกทางการเมืองตามแนวทาง “อหิงสา” อย่างแท้จริง เพราะไม่มีความตั้งใจที่จะดำเนินการด้วยความรุนแรง แต่ใช้การสร้าง “สัญลักษณ์” โดยการ “ผูกผ้าแดง” ที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ ประกอบการแสดงที่ทำให้เห็นว่า “ที่นี่มีคนตาย”

ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย ที่ถึงแม้ว่ารัฐบาลเลือกที่จะบริหารราชการด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ในเมื่อประเทศไทยเรายังมีรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่ การที่ นายสมบัติ และคณะพากันไปที่สี่แยกราชประสงค์ทุกเย็นวันอาทิตย์ จึงเป็นไปตามครรลองอันควร ที่หากรัฐบาล “ใจกว้าง” พอ ควรปล่อยให้เป็นไป

เพราะถ้ายอมแค่นี้ไม่ได้ ก็ไม่รู้จะท่องคาถา “ปรองดอง” กันไปทำไม!!

แต่อย่างว่า รัฐบาลมีทีท่า “แข็งกร้าว” แต่แรก ตั้งแต่การจับกุม นายสมบัติ เมื่อครั้งที่ไป “ผูกผ้าแดง” ที่ป้ายสี่แยกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม และกักกันตัวไว้ร่วม 2 สัปดาห์ จนในที่สุดต้องยอมปล่อยตัวเพราะศาลไม่อนุญาตเนื่องจากไม่มีเหตุเพียงพอที่จะขังไว้ต่อ ท่ามกลางแรงกดดันจากสังคมและสื่อมวลชนบางสำนักที่ตั้งคำถามว่า “ผูกผ้าแดง” ผิดกฎหมายด้วยหรือ?

ครั้นเมื่อ นายสมบัติ ได้รับอิสรภาพ ยังคงเจตนารมณ์เดิม เดินหน้าทำกิจกรรมดังกล่าวต่อ ทั้งมีผู้คนที่ร่วมมากขึ้น บวกด้วยผู้สังเกตการณ์ที่ยังกลัวๆกล้าๆ สงสัยปนหมั่นไส้รัฐบาลมายืนดูใกล้บ้างไกลบ้างตามอัธยาศัยของแต่ละคน

แหม เย็นๆวันอาทิตย์ เศรษฐกิจอย่างนี้ เงินช็อปปิ้งก็ไม่ค่อยมี มายืนดูการท้าทายอำนาจรัฐสนุกๆ สบายใจดีออก!!

หลังการปล่อยตัวรัฐบาลทำ “ใจดีสู้เสือ” รองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แก้เกี้ยวว่าผูกผ้าแดงไม่ผิดกฎหมาย แต่คงหวั่นอยู่ในที เพราะกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำนองนี้เรียกคนที่ยัง “คับข้องหมองใจ” ให้ออกมาร่วมและรวมตัวกันได้ และถ้ามี “โมเมนตั้ม” เกิดเป็นกระแสต่อเนื่องขึ้นมา ขยายตัวเต็มสี่แยก รัฐบาลจะพลอยอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องปฏิบัติการ ทำให้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่สี่แยกราชประสงค์จึงเป็นทั้ง “วันอาทิตย์สีแดง” และ “วันอาทิตย์สีกากี”!!

และเมื่อ นายนที สรวารี หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐบาลในทางที่ผิดมาอย่างต่อเนื่อง ยืนตะโกนปากเปล่าโต้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีเครื่องขยายเสียงว่า “ที่นี่มีคนตาย ผมเห็นที่นี่ถูกเผา ผมเห็นคนถูกยิงที่นี่ เอาชีวิตเพื่อนผมคืนมาแล้วเราจะปรองดองด้วย” ตำรวจ (นอกเครื่องแบบ) จึงรวบตัวไปด้วยข้อหา “ส่งเสียงดังเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ” ถูกปรับ 100 บาทก่อนปล่อยตัว

นายนที คงเพิ่งรู้เหมือนกันว่าตนเสียงดังกึกก้องน่ารำคาญก็วันที่ถูกจับนั่นเอง แต่จะไปทำให้ใคร “รำคาญใจ” และเป็นใครใหญ่โตแค่ไหนไม่รู้ได้!!

ที่ตลกยิ่งกว่านั้น เป็นมุขที่แม้โชว์ตลกคาเฟ่ต้องอาย คือป้าย “สี่แยกราชประสงค์” ถูก “มือมืด” เอาสีขาวพ่นทับ ทำให้เจ้าหน้าที่เขตมีเหตุผลอ้างได้ในการ “ปลดป้าย” ไป “ซ่อม” ทำเอา “ขาเม้นท์ขาเมาท์” ในโลกไซเบอร์ถึงกับ “ฮา” ว่ารัฐบาลนี้ “อุ้ม” แม้กระทั่ง “ป้าย”

นี่ถ้าเปลี่ยน “สี่แยก” เป็น “วงเวียน” ได้คงทำไปแล้ว!!

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่รู้ว่า นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “รับรู้” และ “ได้รับรายงาน” หรือไม่ หรือเป็นเรื่องของดุลพินิจเจ้าหน้าที่ระดับใด แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตแล้ว รัฐบาลยังนิ่งเฉย ก็ต้องสรุปว่า “รู้และเห็นชอบ” เพราะในทางการเมืองนั้น การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มีความหมายอันทรงพลังที่เมื่อ “โดนใจ” แล้ว ยากที่จะหยุดยั้งไว้ได้ รัฐบาลส่วนใหญ่จึงเลือกใช้วิธี “ตัดไฟแต่ต้นลม”

แต่รัฐบาลมักจะ “ลืม” ไปว่า หากการใช้อำนาจที่ผ่านมาไม่ได้มีความชอบธรรม ลมที่พัดย่อมมีแต่จะแรงขึ้น และไฟที่โหมกระหน่ำมีแต่จะลุกโชน ไม่มีอะไรมาทัดทานไว้ได้ ยิ่งมา “เก็บเล็กเก็บน้อย” ไม่มีทีท่าประนีประนอม ป้ายที่หายไปกลับเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลที่ขาดความมั่นคงและความมั่นใจ

มีเพื่อนบางคนบอกผมว่ารัฐบาลนี้ “Paranoid” คือเห็นอะไรกลัวไปหมด บางคนบอกผมว่าเป็น “Hypocrite” ผมไม่แน่ใจเลยรีบเปิดพจนานุกรมดูได้ความหมายว่า “ผู้ที่ทำตัวเป็นคนดี แต่หัวใจเลวทราม” หรือ “คนชนิดที่มือถือสากปากถือศีล, คนมารยา”

ให้คนจำว่าเป็นรัฐบาลที่ “ใจกว้าง” ไม่ดีกว่าหรือ?!?

โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2553
***********************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น