14 กรกฎาคม คือวันก่อตั้งพรรคไทยรักไทย 26 กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันเกิด "ทักษิณ ชินวัตร"
และในเชิงสัญลักษณ์ 14 กรกฎาคม คือวัน "ปฏิวัติฝรั่งเศส"
12 ปี กลายเป็นพรรคที่มีจุดแข็งเรื่องการรวมตัว-รวมพลัง จัดกิจกรรมเฉพาะกิจ
ทำให้จุดแข็งด้านนโยบายประชานิยมถูกเล่นแร่แปรธาตุ
จากพรรคไทยรักไทย สู่พรรคพลังประชาชน และเป็นมรสุมพรรคเพื่อไทย
คนในพรรค 3 ชื่อ 3 รุ่น กะเทาะเปลือก "พรรคทักษิณ"
----------------------------------------------
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ฉายภาพ พัฒนาการ 12 ปี ของพรรค
"พรรคไทยรักไทยเป็นผลจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งต้องการให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ประชาชนเลือกพรรคการเมืองมากขึ้น และเนื่องจากพรรคไทยรักไทยเกิดในช่วงวิกฤต จึงทำให้พรรคนี้ถูกบีบให้ต้องพัฒนาตัวเองในเรื่องนโยบาย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่ประชาชนเลือกพรรคและนโยบาย"
ส่วนพรรคพลังประชาชนก็มีความพยายามนำเอาอุดมการณ์แนวคิดของพรรคไทยรักไทยมาทำต่อ แต่อ่อนแอเพราะขาดบุคลากร จาก "111" หลังจากนั้นพรรคพลังประชาชนก็ถูกทำลายต่อ
จนกระทั่งมีพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีจุดอ่อน นอกจากจุดอ่อนเรื่องบุคลากรแล้ว บุคลากรจำนวนมากที่มีศักยภาพ ก็ไม่อยากดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากเกรงว่าพรรคจะถูกยุบแล้วตนเองจะถูกเพิกถอนสิทธิ์ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีความอ่อนแอ
ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า พรรคเพื่อไทยจะสามารถทำภารกิจต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนได้หรือไม่ ในการทำให้ประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตย
การที่พรรคเพื่อไทย ไม่มีคนที่มีบทบาทประสบการณ์มาเป็นกรรมการบริหารมากเกินไป ทำให้การทำงานของพรรคไม่ใช่ "ระบบพรรคการเมือง" การตัดสินใจไม่มีความชัดเจนว่าตัดสินใจจากที่ไหน นักการเมืองมีส่วนร่วมน้อยลง ถ้าปล่อยเป็นอย่างนี้จะเหลือเหตุผลเดียวที่นักการเมืองยังอยู่ คือถ้าไม่อยู่ก็สอบตก
คำเตือน-จากรุ่นพี่บ้านเลขที่ 111 คือ
"พรรคเพื่อไทยต้องทำพรรคให้เป็นพรรคการเมือง ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของคนไม่กี่คนอย่างที่เป็นอยู่ พรรคเพื่อไทยต้องหันมาเน้นนโยบาย ลดการต่อล้อ ต่อเถียงรายวันให้เหลือน้อย และเน้นนโยบาย ซึ่งการทำแบบนี้ต้องจัดระบบพรรคการเมืองเสียก่อน"
"จาตุรนต์" พูดทุกครั้ง ทุกเวที เรื่อง "การก้าวข้ามทักษิณ"
"คนที่นิยมพรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อย นิยมผูกพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จะตัดขาดออกไปเสียเลยก็คงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันการเอาพรรคไปผูกกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เกินไปอย่างที่เป็นอยู่ ก็ไม่ได้เป็นของดี"
"ต้องทำให้พรรคเป็นของประชามหาชน ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้ประโยชน์ไปด้วย ก็เป็น เรื่องธรรมดา แต่ต้องไม่ใช่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณก่อน"
---------------------------------
นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า พรรคเพื่อไทยเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดกับไทยรักไทยและพลังประชาชน
จากการทำโพลของพรรคเพื่อไทยพบว่า นโยบายที่คนคิดถึงมากที่สุดคือการปราบปรามยาเสพติด และนโยบายต่อมาคือ 30 บาทรักษาทุกโรค และนโยบายกองทุนหมู่บ้าน เป็นนโยบายหลัก ๆ
"นโยบายธงเหล่านี้ได้วางรกรากเป็นการถาวรแล้ว ต้องได้รับการต่อยอดและสานต่อไป เพื่อสังคมเศรษฐกิจรากหญ้าเราต้องดำเนินการต่อ โดยทำถ้วนหน้าทั้งรากหญ้าชนบทและในกรุงเทพฯ นโยบายของพรรคเพื่อไทย 70-80% ของนโยบาย มุ่งแก้ปัญหาความยากจนเป็นหลัก"
ช่วงรอยต่อที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมใช้มาตรการภาษี ต่อยอดประชานิยมเข้าสู่รัฐสวัสดิการ "คณวัฒน์" อ่านทางการเมืองว่า เป็นยุทธศาสตร์ในการหารายได้ของรัฐบาลทุกรัฐบาล
เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ได้ศึกษาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ การปรับโครงสร้างภาษี เตรียมพร้อมระหว่างที่ยังไม่เป็นรัฐบาล และกำลังเฝ้าดูความตั้งใจของพรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่าจะดำเนินการเรื่องภาษีที่ดิน เพราะมีการพูดมานาน
"คงเป็นกุศโลบายของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ที่ชูธงเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นแค่โวหารในการที่จะล่อใจเพื่อหาคะแนนนิยม เป็นกุศโลบายที่จะต่อสู้ทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับนโยบายที่ทำสำเร็จแล้ว"
เมื่อเปรียบเทียบรัฐ "ประชานิยม" หรือ "รัฐสวัสดิการ"
เทียบประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย "คณวัฒน์" อธิบายว่า
เมื่อประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล ได้ทำ สิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลในการใช้จ่ายงบประมาณ จ่ายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท เรียกว่าประชานิยมในความหมายที่เลวร้าย
"ถ้าพรรคเพื่อไทยจะทำรัฐสวัสดิการ เราจะจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และตามสถานะทางการคลังภาครัฐ ถ้าต้องปรับโครงสร้างภาษีก็ต้องไม่กระทบการ ฟื้นตัวเศรษฐกิจ ถ้าจะพูดถึงรัฐสวัสดิการ พรรคเพื่อไทยได้ทำมาตั้งแต่ปี 2544 ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย"
แม้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคของ "คนจน" จัดลำดับความสำคัญการสร้างรายได้ให้ภาคเอกชนทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรม และประชาชนโดยทั่วไปก่อน จากนั้นจะเป็นภาษีของรัฐ ซึ่งได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราทำมาคือสวัสดิการของรากหญ้า
และแน่นอนที่สุดว่า ความเชื่อของ "คณวัฒน์" ชื่อ "ทักษิณ" คือ "แบรนด์" ที่ทำให้ "ไทยรักไทย-พลังประชาชน และเพื่อไทย" มีผลงาน
ตัวบุคคลยังเป็นแม่เหล็กมากกว่านโยบาย
"คุณทักษิณไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว แต่อานิสงส์ที่พรรคพลังประชาชนกับพรรคเพื่อไทยรับมา เป็นอานิสงส์ของนโยบายที่คุณทักษิณผลักดันจนสำเร็จ"
"ฉะนั้นเป็นมรดกตกทอดที่พรรคเพื่อไทยรับมาจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย ประชาชนเขาฝังใจกับคนคนหนึ่ง กับสิ่งที่คุณทักษิณทำ"
------------------------------------
เช่นเดียวกับ นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ที่ยังคงคลุกวงในพรรคเพื่อไทย
เขาบอกว่า นโยบายไทยรักไทยไม่ใช่ "ประชานิยม" เพราะคำนี้มาจากผู้ที่ต่อต้านคุณทักษิณ
"ในสายตานักวิชาการตะวันตก ประชานิยมเป็นคำเลวร้าย เป็นการเอาใจชาวบ้านโดยไร้เหตุผล พรรคไทยรักไทยไม่ได้คิดเรื่องประชานิยม เพราะประชานิยมคือการไม่สนใจวินัยการคลัง"
ข้อวิเคราะห์การลงคะแนนเลือกตั้งครั้งหน้า ของคนรุ่นที่ 2 ของไทยรักไทย คือ
"เหมือนดูหนัง อาจจะดูใครแสดงด้วย คละเคล้ากันแต่ละเขต ภาคเหนือกับอีสานอาจจะเห็นเรื่องบทบาทคุณทักษิณมากกว่านโยบาย เป็น 60 ต่อ 40 แต่ภาคกลาง อาจจะ 65 ต่อ 35 เชื่อว่ามีทั้ง 2 ส่วน ไม่มีใครแยกแยะได้"
สมานบอกว่า "จุดแข็งของคุณทักษิณ คือช่างคิด ช่างเลือก"
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น