ตั้ง "กองพลทหารราบที่ 7" กระชับพื้นที่แดงภาคเหนือ "สุเทพ" จับมือบิ๊กกองทัพตกลงเสร็จสรรพก่อนบินไปจีน ชี้เป็นเสียงสำคัญ "เจ้ามูลเมือง" ผวา! มีกำลังไม่พอดูแล "ป๊อก" เด้งรับทันควัน ให้กรมทหารราบที่ 7 และ 17 ขึ้นตรง เตรียมเกลี่ยกำลังพลภาคเหนือ-อีสาน 8,000 นาย พร้อมเสนอของบหมื่นล้านบาทในสัปดาห์หน้า หึ่ง! หวังสกัดแผนผุดกองพลทหารม้าที่ 3 ของป๋าเปรม
มีรายงานจากกองบัญชาการกองทัพบกว่า ในการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนรัฐบาลจะยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง สกลนคร ร้อยเอ็ดนั้น ก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อหาแนวทางสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีความพยายามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
"การเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ภาคเหนือที่ผ่านมา สร้างความลำบากใจต่อการควบคุมกลุ่มประชาชนจำนวนมาก เพราะกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอในการปฎิบัติงาน นายสุเทพจึงขอให้กองทัพบกรับผิดชอบในการควบคุมดูแลความสงบในพื้นที่ภาคเหนือ"
รายงานแจ้งว่า ในที่ประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ได้เสนอแนวความคิดขยายกำลังทหารในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยการจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 7 ขึ้น โดยจะใช้พื้นที่กรมรบพิเศษที่ 2 เดิมเป็นกองบัญชาการกองพล โดยกองพลทหารราบที่ 7 จะมีหน่วยขึ้นตรง 2 กรมคือกรมทหารราบที่ 7 (จ.เชียงใหม่) และกรมทหารราบที่ 17 (จ.พะเยา) และจะบรรจุอัตรากำลังพลที่เกลี่ยมาจากหน่วยต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนเกือบ 8,000 นาย โดยจะมีการเสนอของบประมาณจำนวนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณภายในเดือนสิงหาคม และเพื่อเป็นการสะดวกต่อการบรรจุตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 7 ในการปรับย้ายนายทหารในครั้งนี้ด้วย
สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ มีเพียงกองพลทหารราบที่ 4 กองพลเดียว ดังนั้นกองพลทหารราบที่ 4 จำเป็นต้องตั้งกรมทหารราบที่ 14 (จ.ตาก) ขึ้นมาใหม่อีก 1 กรม เพื่อบรรจุให้ครบตามการบรรจุอัตรากำลังพล พร้อมกับกรมทหารราบที่ 4 (จ.นครสวรรค์) เดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้ต่อไปนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีหน่วยทหารเป็น 2 กองพลคือ กองพลทหารราบที่ 4 และกองพลทหารราบที่ 7 ขึ้นตรงกับกองทัพภาคที่ 3 ส่วนในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 จะมีหน่วยทหารกำลังหลัก ซึ่งประกอบด้วย กองพลทหารราบที่ 3 และกองพลทหารราบที่ 6 และในส่วนของกองทัพภาคที่ 4 จะประกอบไปด้วย กองพลทหารราบที่ 5 และกองพลทหารราบที่ 15 "เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสุเทพมีความต้องการสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.ในพื้นที่ภาคเหนืออย่างจริงจัง และพร้อมผลักดันการจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 7 เข้า ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการในสัปดาห์หน้า" รายงานข่าวระบุ
มีกระแสข่าวอีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า การจุดประเด็นเรื่องการตั้งกองพลทหารราบที่ 7 ขึ้นมา อาจเกี่ยวข้องกับการเสนอจัดตั้ง
กองพลทหารม้าที่ 3 ซึ่งได้รับการผลักดันจาก พล.อ.เปรม ติณสูณลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการอวยพรปีใหม่แก่ พล.อ.เปรม ของ พล.อ.ประวิตรและผู้บัญชาการเหล่าทัพ พล.อ.เปรมก็ได้ฝากว่าอยากเห็นการจัดตั้งกองพลดังกล่าวก่อนเสียชีวิตลง แต่จนปัจจุบันการจัดตั้งก็ยังไม่มีความคืบหน้า
"มองกันว่าการเสนอเรื่องกองพลทหารราบที่ 7 หาก ครม.อนุมัติ ก็จะเปิดทางให้ตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 ด้วย แต่หาก ครม.ไม่เอาแนวคิดนี้ ก็เท่ากับปิดประตูการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 ซึ่งป๋าก็จะโทษกองทัพไม่ได้ที่ไม่ผลักดันเรื่องดังกล่าว" แหล่งข่าวกล่าวถึงมุมมองในเรื่องการทหาร ส่วนการเมืองนั้นก็ขึ้นอยู่กับการประเมินว่ากลุ่มคนเสื้อแดงในภาคเหนือจะรุนแรงเหมือนภาคอีสานหรือไม่
สำหรับรูปแบบกองพลทหารม้าที่ 3 นั้น ยังไม่มีรูปร่างที่ชัดเจน โดยกองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1) นั้น เป็นกองพันทหารม้าลาดตระเวน เสริมด้วยทหารม้าบรรทุกยานเกราะ ในขณะกองพลทหารม้าที่ 2 (พล.ม.2 รอ.) นั้น เป็นกองทหารม้ายานเกราะแบบสมบูรณ์ จึงคาดว่ากองพลทหารม้าที่ 3 น่าจะเป็นแบบเดียวกับ พล.ม.1 แต่ก็มีข่าวว่าอาจเป็นกองพลทหารม้าส่งทางอากาศด้วยเช่นกัน.
ทีมา.ไทยโพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น