--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จิ๊กซอว์ "ประเทศไทย" อนาคต 10 ปี จะไปทางไหน ?

สัปดาห์ที่ผ่านมาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ได้จัดงานประชุมวิชาการ 100 ปี "ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร" เมื่อวันที่ 15 ก.ค 2553 ซึ่งคนรุ่นหลังอาจไม่รู้จัก แต่ในอดีตช่วงประเทศชาติของเรากำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ "ศาสตราจารย์บุญชนะ" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

ในปี 2504 เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญสำหรับประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์บุญชนะเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญเสนอแนวคิดในการจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒน์ พร้อมกับดำรงตำแหน่งอธิบดีวิเทศสหการคนแรกซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการประสานงานของการสนับสนุนต่างประเทศทั้งด้านการเงินและวิชาการ ขณะเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ที่สำคัญท่านยังเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันให้เขียน"แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกในประเทศไทย" เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วยการสร้างมหาวิทยาลัยหัวเมือง อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และยังเป็นอธิการบดี คนแรกของนิด้า นั่นอาจเป็นคุณูปการเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของศาสตราจารย์บุญชนะ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ท่านได้ให้แก่ ประเทศไทย

ดังนั้นเพื่อระลึกถึงศาสตราจารย์บุญชนะ ทางนิด้าจึงได้จัดงานประชุมวิชาการเพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติท่าน โดยมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในฐานะนายกสภานิด้า เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ประเทศไทย : ก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนาที่สมดุล"

จากนั้นมีการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในศตวรรษหน้า" ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บล.จัดการกองทุนรวม MFC จำกัด (มหาชน) และประธานกลุ่มบริษัทเศรณี ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสภาพัฒน์

"ดร.จิรายุ" เปิดประเด็นว่า การจะคิดเกี่ยวกับหัวข้อ "ประเทศไทย" ควรมีการประเมินความสำเร็จและข้อบกพร่องของการพัฒนาที่ผ่านมาและมาวางแผนการพัฒนาในอนาคตให้สอดคล้องกับปัญหาตามความเป็นจริงของประเทศและของโลก

50 ปีที่ผ่านมา (2503-2553) ประเทศไทยประสบผลสำเร็จกับการพัฒนาประเทศหรือไม่ รายงานธนาคารโลกที่จัดทำขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ชื่อ "Strange Report" ระบุว่ามี 13 ประเทศ ที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาประเทศ เกณฑ์ที่ใช้วัดคือ ต้องมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่า 7% เป็นเวลา 25 ปีอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทย ก็เป็น 1 ใน 13 ประเทศ

รายงานบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยน่าจะถือว่าเป็น

"Economic Miracle" หรือเป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่ยากจะอธิบาย และแนวโน้มไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกหรือเกิดขึ้นได้ยาก เพราะฉะนั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทย ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปูพื้นฐานของผู้ที่มีบทบาทในอดีตอย่างเช่นอาจารย์บุญชนะ เป็นต้น

ธนาคารโลกชี้ว่า 50 ปีประเทศไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน... ประชากรไทยเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จาก 27 ล้านคน เป็น 63 ล้านคน แต่รายได้ต่อหัวก็เพิ่มขึ้น 7.5 เท่า จำนวนผู้อยู่ใต้เส้นความยากจน เมื่อปี 2529 มีประมาณ 24 ล้านคน แต่ในปี 2550 ลดลงเหลือประมาณ 5.9 ล้านคน ถือว่าเราก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

ขณะที่ประชาคมภายใต้สหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals ที่เกี่ยวกับประเทศไทย และประเทศกำลังพัฒนา 7 เป้าหมายที่จะต้องบรรลุ ในปี 2015 ได้แก่ 1.ขจัดความยากจน 2.การพัฒนาเศรษฐกิจ 3.การสร้างความเท่าเทียม 4.การลดอัตราการตายของเด็ก 5.การพัฒนาสุภาพของสตรีมีครรภ์ 6.การป้องกันโรคเอดส์ และ 7.การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.จิรายุมองว่าไทยบรรลุข้อ 1-6 แต่ข้อ 7 ยังไม่บรรลุ

นอกจากนี้ ดร.จิรายุได้พูดถึงรายงานของสหประชาชาติในปี 2550 เกี่ยวกับ "การพัฒนาคนของประเทศไทย" ที่พบว่าในระหว่างที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วก็มีความไม่สมดุลและมีปัญหา ที่เกิดขึ้นหลายมิติในการพัฒนาของประเทศ ได้แก่ 1.ความไม่สมดุลด้านการกระจาย รายได้ 2.ความไม่สมดุลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อม 3.ความไม่สมดุลของการพัฒนาเมืองและชนบท และ 4.ปัญหาเรื่องค่านิยม คุณธรรม และศีลธรรม ดูเหมือนจะเสื่อมโทรมลงในการพัฒนาช่วงที่ผ่านมา

ปัญหาแรก ความไม่สมดุลในการกระจายรายได้ พบว่าคนรวยที่สุด 20% แรกของประเทศไทยในปี 2519 ได้ส่วนแบ่งรายได้ 49.3% ปี 2551 อยู่ที่ 54.9% ขณะที่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 20% ในปี 2519 ได้ส่วนแบ่งรายได้ 6.1% แต่ในปี 2551 อยู่ที่ 4.4% ข้อมูลนี้สะท้อนว่า แม้คนอยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงไปมาก แต่หากมองเรื่องการกระจายได้แล้วความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น

ปัญหาที่ 2 ความไม่สมดุลของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเติบโตในอดีตจากภาคอุตสาหกรรมและการ ท่องเที่ยวได้ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม เกิดมลพิษ ถ้าปล่อยให้หมักหมมอยู่นาน ๆ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่สะเทือนขึ้นมา เช่น ปัญหามาบตาพุด เป็นต้น

ปัญหาที่ 3 ความไม่สมดุลของการพัฒนาเมืองกับชนบท เป็นทั้งปัญหาจริงและปัญหาที่อยู่ในใจเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบท

และปัญหาที่ 4 ปัญหาค่านิยม คุณธรรม เสื่อมโทรมลง ดร.จิรายุ มีความเห็นส่วนตัวว่า น่าห่วงมากที่สุด

นี่คือ 4 ปัญหาใหญ่

ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เรื่องใหญ่ ๆ เช่น เรื่องโลกร้อน พลังงานขาดแคลน เราได้เห็นสัญญาณแล้ว ข้างนอกเริ่มมีความไม่มีเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนแปลง และมีโอกาสกระทบเรา และ ซ้ำเติมปัญหาที่กล่าวมา ดังนั้นต้องรีบแก้ไขเพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันผลกระทบจากภายนอก

ทางออกที่ ดร.จิรายุนำเสนอ...ต้องเริ่มต้นที่ "หลักคิด" และ "เข็มทิศ" ก่อน ซึ่งน่าจะมาจาก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มจากจุดนี้เราก็จะเดินหน้าไปด้วยกันได้

ขณะเดียวกันก็ต้องมีเครือข่ายจาก ผู้รู้และหน่วยงานมาช่วยขับเคลื่อน เพราะยังมีโครงการต่าง ๆ อีกจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

เพราะฉะนั้น "อนาคตประเทศไทย" เราไม่ได้เริ่มต้นที่ "ศูนย์" แต่อนาคตมีการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง น่าจะต้องหารูปแบบที่เหมาะสม คงจะเหมือนแบบนี้ไม่ได้

นี่ถือว่าเป็นโจทย์ของวันนี้

10 ปีข้างหน้าต้องมี 3 เสาหลัก

ในส่วนของการอภิปรายหัวข้อ "การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในศตวรรษหน้า" ดร.บัณฑิตชี้ว่า ช่วง20 ปี (2503-2523) เป็นยุคทองของเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตเฉลี่ย 7.5% และเงินเฟ้อต่ำอยู่ที่ 5% สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คือ การส่งออก และการลงทุนภาครัฐ และยังมีพันธกิจที่ชัดเจนง่าย ๆ คือ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีน้ำใจ" นี่คือจุดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ร่วมกันในอดีต

ในปี 2523 เราเข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวมาก เพราะเราไม่ได้มีการเตรียม การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในไม่ได้มีการปรับโครงสร้างที่มากพอ ทำให้เศรษฐกิจต้องปรับตัวมาก และรูปแบบการจัดการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคไม่ยืดหยุ่นพอต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นำไปสู่ปัญหา 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.การมีต้นทุนการผลิตสูง 2.การกระจายผลประโยชน์ได้ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และ 3.ความสามารถของประชาชนที่จะปรับตัวต่อเศรษฐกิจมีน้อยลง ทำให้ต้องพึ่งพารัฐมากขึ้น

ฉะนั้นถ้ามองในอีก 10 ปีข้างหน้า หากประเทศไทยจะเติบโตแบบสมดุลต้องทำอะไรบ้าง ดร.บัณฑิตเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.ระเบียบข้อกฎหมาย ต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้น 2.ภาคการเงิน ต้องทำให้สภาพคล่องในระบบมีเพียงพอเพื่อสนับสนุนภาคการผลิต ในเรื่องนี้ทาง ธปท.ได้ให้ความสำคัญและอยู่ในการดูแลโดยเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน และ 3.การศึกษา เพราะหากจะมุ่งไปสู่สินค้าประเภทสร้างสรรค์ การศึกษาจำเป็นต้องมีความเข้มแข็ง

"นอกจาก 3 แนวทางนั้นแล้ว สิ่งที่เราต้องมีอีกอันหนึ่งคือปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจประสบความสำเร็จในอดีต เราต้องขวนขวายเอาอันนั้นกลับมาคือ 3 เสาหลักด้านเสถียรภาพการเมือง ภาคราชการที่มีความสามารถเข้มแข็ง และภาคเอกชนที่มีพลวัต ผมมั่นใจว่าถ้าเราทำทุกอย่างได้ครบใน 10 ปี 20 ปี หรืออาจจะถึง 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะเติบโตในเศรษฐกิจภาพรวมในสังคมโลก" ดร.บัณฑิตกล่าว

ศูนย์กลางโลกเปลี่ยนจาก "ตต. สู่ ตอ."

ด้าน ดร.ณรงค์ชัยมองเศรษฐกิจไทยว่า ที่ผ่านมาเติบโตจากการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุน เป็นหลัก แต่ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าคงต้องดูว่าสังคมไทยจะค้าขายอะไรเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ดี และทำให้มาตรฐานการครองชีพดีขึ้น ขณะเดียวกันต้องดูว่ากระแสโลกจะไปไหนแล้วจับมาเป็นประเด็น

โดยกระแสโลกขณะนี้คือ ศูนย์กลางความเจริญของโลกเปลี่ยนจากตะวันตกมาเป็นตะวันออก และเรากำลังเดินเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคตต้องเสริมสร้างความสมบูรณ์ของข้อตกลงการค้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น เอฟทีเอ เป็นต้น รวมทั้งแสวงหาผลการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่กับตะวันออกกลาง สหรัฐ รัสเซีย

ส่วนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดร.ณรงค์ชัยเสนอว่า ประเทศไทยควรเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรม บริการ และการเกษตร โดยภาคอุตสาหกรรมนั้นควรเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ต่อยอด หรือเชื่อมโยงกับภาคการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร หรือเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจากพืช รวมไปถึงอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

ส่วนภาคบริการควรเน้นลงทุนและพัฒนาระบบขนส่งและโทรคมนาคม รวมถึงระบบโลจิสติกส์ ที่สำคัญต้องมุ่งส่งเสริมพัฒนาธุรกิจในกลุ่ม hospitality และ wellness หรือด้านสุขภาพทั้งหลาย รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจสร้างสรรค์

สำหรับภาคเกษตรควรเน้นด้านอาหาร โดยสามารถทวนสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตระดับไร่นา การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปและการจัดจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภคเป็นกระบวนการปฏิบัติเพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยอาหาร ได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร และสามารถเรียก กลับคืนสินค้าได้ การทวนสอบย้อนกลับอาจดำเนินการในลักษณะ การทวนสอบย้อนกลับจากผลิตภัณฑ์ (backward traceability) หรือการทวนสอบจากการผลิตในระดับไร่นาจนถึงผลิตภัณฑ์ (forward traceability)

จับตาโลก 5 ด้าน

ส่วน ดร.ปรเมธีกล่าวว่า สภาพัฒน์กำลังอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์โลกและจุดอ่อนของประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนฉบับที่ 11

สภาพัฒน์ได้มองสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกที่สำคัญ 5 ด้าน ซึ่งมีผลต่อการทำแผนฉบับที่ 11 คือ 1.กฎ กติกาใหม่ของโลก ในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การค้าและการลงทุน การเงิน สิ่งแวดล้อม 2.การปรับตัวเข้าสู่หลายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ 3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 4.ภาวะโลกร้อน 5.ปัญหาในด้านอาหารและพลังงาน และ 6.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ขณะที่ความเสี่ยงหรือจุดอ่อนที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศสภาพัฒน์ได้วิเคราะห์ว่ามี 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.กระบวนการบริหารภาครัฐอ่อนแอ 2.โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการเจริญ เติบโตอย่างยั่งยืน 3.โครงสร้างประชากรไม่สมดุล 4.การเสื่อมสลายของค่านิยมที่ดีของไทย และ 5.การเปลี่ยนแปลงในฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

จากนั้นสภาพัฒน์ได้วิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสของประเทศไทย เพื่อนำมาสู่การร่างยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในแผนฉบับที่ 11 ซึ่งมีด้วยกัน 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การสร้างสังคมให้เป็นธรรม 2.การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน 3.การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างปัจจัยแวดล้อม 4.การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค 5.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ 6.การสร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน

ทั้งนี้การจัดทำแผนฉบับที่ 11 มีวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ "สังคมที่อยู่กันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง"

ดร.ปรเมธีบอกว่า นั่นคือ "keyword" ที่สำคัญสำหรับในช่วง 5 ปี ที่สภาพัฒน์ต้องพยายามเรียกกลับมา หรือว่าสร้างให้เกิดขึ้น ในสังคมไทย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
*****************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น