--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สังคมเป็นเช่นไร สื่อก็เป็นเช่นนั้น แล้วจะปฏิรูปอะไรกับสื่อ

โดย : ทศพร โชคชัยผล

คนในแวดวงรัฐบาลและสื่อตื่นตัวกับกระแสการปฏิรูปกันมาก บางครั้งก็มากเกินไปจนไม่ได้ทำอะไร ถามว่ารู้หรือยังว่าสื่อเป็นอย่างไร ก่อนที่จะพูดปฏิรูป

"สื่อ" ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ล้วนแต่ถูกเป็น"เป้า"การปฏิรูป หรือการจัดการทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองเกิดขึ้น

ในช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 เราก็พูดกันมากถึงการปฏิรูป"สื่อ" เนื่องจากในครั้งนั้น คนทั่วไปมองกันว่าปัญหาความรุนแรงทางการเมืองเกิดจากการ"ปิดกั้นข่าวสาร"ของรัฐบาล แต่สิ่งที่ทำได้ก็อย่างที่เห็น

ในครั้งนี้ เขาก็พูดเกี่ยวปฏิรูป นำโดยรัฐบาล เพราะเห็นว่า"สื่อ"มีส่วนอย่างสำคัญกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทั้งการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง

ในครั้งนี้ สังคมไทยไม่ได้เผชิญกับปัญหา"ปิดกั้นสื่อ"เหมือนในอดีต แต่"สื่อ"เปิดมากจนรัฐบาลไม่สามารถคุมได้ และเป็นการเปิดอย่างน่าหวาดผวาอย่างยิ่ง เนื่องจากกลุ่มความขัดแย้งทางการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างก็มีสื่อของตัวเอง อีกทั้งก็ไม่ยอมรับฟังเสียงจาก"สื่ออื่น"อีกด้วย

คำถามก็คือจะปฏิรูปอะไร และรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการปฏิรูปหรือยัง?

ผมไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวงการสื่อมากมายจนสามารถเสนอแนวทางปฏิรูปได้ แต่ได้ยินได้ฟังคนในวงการเขานินทากันว่าการพูดถึงการปฏิรูปสื่อในช่วงที่ผ่านมา "เหมือนพายเรือในอ่าง" และยิ่งเห็นคณะของนายกรัฐมนตรีของเราเดินสายพบสื่อสำนักต่างๆเพื่อขอรับฟังความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรกันดี ก็ยิ่งเห็นอกเห็นใจนักการเมืองอย่างยิ่ง เพราะถึงที่สุดแล้ว ผมก็เชื่อว่า"ไม่มีอะไรในกอไผ่"

เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับ"สื่อ"ในปัจจุบัน อีกทั้งมีความเข้าใจบทบาทของสื่อในสังคมอย่างขาดขาดเกินๆ รวมทั้งภาคสังคมที่มีอิทธิพลต่อสื่อด้วย

เมื่อไม่กี่วันมานี้ เพื่อนผมที่สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ได้รับโทรศัพท์จากชายนิรนาม อ้างตัวเองว่าเพิ่งกลับจากอเมริกา หลังจากไปแสวงโชคมานานหลายสิบปี พร้อมกับพูดโวยวายว่า"สื่อทำไมเป็นอย่างนี้ละ อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ไปทางนี้ พออ่านอีกฉบับก็ไปอีกทาง" พร้อมตบท้ายว่า"สื่อเมืองไทยเป็นอะไรไป"

เขาบอกว่าทำไมไม่เหมือนกับตอนที่เขาออกจากเมืองไทยไป "สื่อไม่เป็นยังงี้นี่"

จากนั้น เขาก็ขอคำแนะนำว่าหากอยากรู้ข่าวควรอ่านฉบับไหนดี ซึ่งเพื่อนผมก็ถามกลับว่า "อยากรู้ข่าวอะไรละ" แล้วก็สาธยายให้ฟังว่า"หากคุณต้องการรู้ข่าวการเมือง ต้องอ่านอย่างน้อย 5 ฉบับ แต่หากอยากรู้ข่าวเศรษฐกิจ ก็อ่านบางฉบับก็พอ รวมทั้งหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของหนังสือรายสัปดาห์ก็น่าจะพอ"

ที่เล่าให้ฟัง มีความหมายความว่า "สื่อ"ปัจจุบัน ก็มีสภาพเช่นนี้แหละ แล้วรัฐบาลจะเสนอปฏิรูปอะไร และผมก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่โทรมาว่าเกิดสิ่งที่เรียกว่า" shock culture" ซึ่งทำให้นึกถึงวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์วิธีหนึ่งที่มักสอนผู้วิจัยว่าหากเข้าไปในสังคมที่"แปลกหน้า" เราจะรู้สึกถึง"ความต่าง"เสมอ ในขณะที่คนที่อยู่ในสังคมก็ไม่เห็นว่ารู้สึกแปลกที่ตรงไหน เพราะ"เคยชิน"มานาน

คนในสังคมไม่รู้สึกว่า"ปัญหาอยู่ตรงไหน" แต่คนภายนอกอาจมองเห็นว่าเป็นอย่างไร แม้จะไม่ถูกต้องเสมอไป ซึ่งผมว่าสถานะของ"สื่อ"ในปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้แหละ

อันที่จริง เป็นเรื่องยากมากที่แยกจะแยก"สื่อ-สังคม"ออกจากกัน จนมีคำกล่าวของคนในแวดวงสื่อว่าสังคมเป็นเช่นไร สื่อก็เป็นเช่นนั้น หากคนในสังคมชอบเรื่อง"ฉาว"ของดารา สื่อก็พยายามหาเรื่อทำนองนี้ รวมถึง"เต้าข่าว" ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ผู้อ่านท่านนี้จะรู้สึกว่า"สื่อเอียงไปข้างโน้นข้างนี้" ก็เพราะสังคมเกิดความแตกแยกทางความคิดกันครั้งใหญ่ และก็เป็นความแตกแยกจริงๆเสียด้วย ไม่ใช่"คิดเอาเอง"

คำถามก็คือ หากเราจะปฏิรูปกันจริงๆ เราควรจะปฏิรูปอะไรก่อน ระหว่าง"สื่อ-สังคม" และว่ากันจริงๆแล้ว "สื่อ"ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น หากรัฐบาลวางแผนปฏิรูปสังคมได้ "สื่อ"ก็ขยับตามไปเอง

ความจริง วงการสื่อ เขาก็มีหลักจรรยาบรรณและกฎหมายฟ้องร้องดูแลกันอยู่แล้ว อีกทั้งคนไทยที่บริโภคข่าวสารก็แยกแยะกันได้มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมเราก็มีการพัฒนาในส่วนนี้มากพอสมควร

ผมเห็นแต่พวกนักการเมืองนั่นแหละ ที่ยังไม่พัฒนาไปถึงไหน แต่เป็นพวกที่ชอบ"ชี้นิ้ว"ไปที่ส่วนอื่น แล้วจะอาสามาปฏิรูปอะไร
**************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น