--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"จัดระเบียบการค้าชายแดน" ปมร้อน...พม่าปิดด่านเมียวดี

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

การออกมาแถลงว่า ปัญหาการปิดด่านพรมแดนเมียวดี-แม่สอด ของทางการพม่า เกิดจากผู้รับเหมาไทยถมดินลงในแม่น้ำเมย เพื่อก่อสร้างหลักรอบริเวณท่าเรือเอกชน ท่าที่ 16 อ.แม่สอด จ.ตาก ของนายกรัฐมนตรีไทย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นั้น แน่นอนว่ามาจากรายงานที่ได้รับจากข้าราชการไทย น่าสงสัยว่านายกรัฐมนตรีได้รับรายงานเพียงเท่านี้จริง ๆ หรือ

การถมดินลงแม่น้ำเมยนั้นเกิดขึ้นจริง แต่ถูกสั่งหยุดและระงับสัญญาไม่กี่วัน หลังจากที่ฝ่ายพม่าแจ้งปิดด่านเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แต่การปิดด่านยังคงมีมา ต่อเนื่องหลังจากนั้น ที่จริงมีการปิดด่านหลายครั้งตั้งแต่ มิ.ย.ที่ผ่านมา เพียงแต่เป็นการปิดชั่วคราวครั้งละไม่กี่ชั่วโมงบ้าง หรือครั้งละ 1 วันบ้าง โดยเจ้าหน้าที่พม่าระบุเหตุผลแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง เช่น ผู้ใหญ่มาตรวจงาน ฝ่ายทหารต้องการปิดชั่วคราวเพื่อเตรียมงานใหญ่

แต่ก็ได้สร้างผลกระทบสะสมต่อการขนส่งสินค้าเข้า-ออกระหว่างสองประเทศพอสมควร เฉพาะที่ปิด 2-3 วัน ในช่วงกลางเดือน ก.ค. ตัวเลขจากด่านศุลกากรแม่สอดระบุว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบมีมูลค่า 26 ล้านบาท แต่หากนับรวมการขนส่งผ่านท่าเรือเอกชน 19 แห่ง จะมี มูลค่าใกล้ 100 ล้านบาท

การประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 53ที่มีทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก หอการค้าจังหวัดตาก ฝ่ายทหาร ตัวแทนผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกจากพม่า และผู้ประกอบการท่าเรือเอกชน 19 แห่ง ริมแม่น้ำเมย สรุปตรงกันว่า การถมดิน ริมแม่น้ำเมยไม่ใช่เหตุผลหลัก หากแต่เป็นส่วนเสริมให้การปิดด่านมีเหตุผลมากขึ้น

เหตุผลที่แท้จริงของการปิดด่านครั้งแล้วครั้งเล่าของทางการพม่าคือ ความพยายามที่จะ "จัดระเบียบการค้าชายแดน" เพื่อให้รัฐบาลควบคุมได้เบ็ดเสร็จมากขึ้น ทั้งการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม รวมทั้งการควบคุมการส่งออก-นำเข้าสินค้าทุกอย่าง โดยมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อยู่ในลักษณะทำ ๆ หยุด ๆ เพราะ พบอุปสรรคไม่น้อย ทั้งอิทธิพลของ ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ การหลบหลีกที่เป็น มืออาชีพบริเวณชายแดน และความอ่อนด้อยของระบบราชการภายในเอง

แต่ครั้งล่าสุดเดิมพันของรัฐบาลพม่าใหญ่กว่าทุกครั้ง เพราะกำลังจะมีการ เลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้เป็นแรงบันดาลใจใหญ่ให้เข้าควบคุมการค้าชายแดน หลังจากที่บางส่วนตกอยู่ในมือชนกลุ่มน้อยมานาน เพื่อลดอิทธิพลชนกลุ่มน้อย และเพื่อจัดระเบียบด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมาโดยง่าย

ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดน ไทย-พม่า ฝั่ง อ.แมสอด จ.ตาก มีมูลค่าสูงสุดในภาคเหนือปีละ 2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดปีงบประมาณ 2553 (ต.ค. 52-มิ.ย. 53) มีการส่งออกผ่านด่านศุลกากรแม่สอด 2.4 หมื่นล้านบาท และมีการนำเข้าประมาณ 808 ล้านบาท สินค้าส่งออกสูงสุด คือ สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปาล์ม ผงชูรส อาหารปรุงแต่ง

เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยระบุกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สินค้าไทยที่ส่งไปพม่าส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีสินค้าต้องห้ามนำเข้าของพม่า แต่ที่ผ่านมามีการผ่อนปรนเพราะความต้องการในพม่าเองมีสูง ประกอบกับรัฐบาลพม่าไม่สามารถควบคุมได้เต็มที่ ทั้งในส่วนที่อยู่ในความดูแลของชนกลุ่มน้อย หรือที่ดูแลโดยข้าราชการ พม่าเอง มีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำเมียวดีบ่อยครั้ง

"รู้มาก่อนหน้านี้เป็นเดือนว่าจะมีการ ปิดด่าน เป็นเหตุผลการเมืองภายในพม่าเอง สินค้าบางตัวที่ชนกลุ่มน้อยมีอิทธิพลหรือเป็นผู้ดูแลประโยชน์อยู่ รัฐบาลต้องการดึงไปทำเอง รายได้ที่ชนกลุ่มน้อยส่งให้รัฐบาลหรือที่รัฐบาลจัดเก็บเองก็น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้านำเข้า สถานการณ์จะดีขึ้นต่อเมื่อ การเลือกตั้งเสร็จ"

ตัวแทนผู้ส่งออกรายหนึ่งกล่าวว่า การส่งออกสินค้าบางตัวมีปัญหาหนัก เช่น น้ำมันปาล์ม รัฐบาลพม่าสนับสนุนให้นำเข้าผ่านท่าเรือย่างกุ้งเป็นหลัก เนื่องจากมีบริษัทที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าอยู่แล้ว จึงมีความพยายามจะสกัดกั้นการนำเข้าจากชายแดน

ก่อนนี้มีความพยายามสกัดกั้นการนำเข้ารถยนต์ด้วย แต่ต่อมามีการเจรจาประนีประนอมเรื่องการเสียภาษี โดยให้ผู้นำเข้าเสียภาษีกับศุลกากรพม่ามี 2 อัตรา คือ อัตราภาษี 85% ของราคารถยนต์จะใช้รถได้ทั่วประเทศ ถ้าเสียภาษี 35% จะใช้รถได้ในบางพื้นที่เท่านั้น รัฐบาลพม่าจึงยอมให้มีการนำรถเข้าทางชายแดนโดยกำหนดให้ด่านเมียวดีเป็นจุดตรวจนับและสำแดงภาษี

ผู้นำเข้าอีกรายเปิดเผย ว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังเข้มงวดตรวจตราใบอนุญาตนำเข้า หรือ Import License สินค้าที่นำเข้าจะต้องตรงกับที่ระบุในใบขออนุญาตนำเข้าทั้งชนิด เครื่องหมายการค้า และปริมาณ หากไม่ตรงจะถูกปรับหรือจับทันที การเข้มงวดนี้เพื่อควบคุมสินค้าห้ามนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย และเพื่อเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้า ก่อนนี้สินค้าที่นำเข้ากับใบอนุญาตมักไม่ตรงกันทำให้พม่าเสียรายได้มาก

ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นี้ "ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคนแม่สอด ที่เพิ่งยกขบวนนักอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไปประชุมร่วมกับนักอุตสาหกรรมจากพม่า ต่างรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด

ดังนั้นควรจะเป็นคนเริ่มเสนอแง่มุมนี้ ให้นายกรัฐมนตรีไทยทราบ เพื่อรู้ว่า ควรจะแก้ไขตรงจุดไหน อย่างไร หรือแสดงท่าทีอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์

ไม่เช่นนั้นเราจะจมอยู่กับเหตุผลเดิม คือข้อโต้แย้งเรื่องการรุกล้ำลำน้ำ ทั้งที่มันเป็นข้อโต้แย้งปลีกย่อยชายแดน ที่สองฝ่ายต่างใช้เป็นเครื่องมือมาตั้งแต่ปี 2525 แล้ว

****************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น