--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สิทธิมนุษยชนเหนือ ธนกิจการเมือง

“หน้ากระดานเรียงหนึ่ง กดปุ่ม อภิวัฒน์ประเทศ” วิพากษ์กระบวนการขับเคลื่อนประเทศ คู่ขนานมหากาพย์ปฏิรูปประเทศ แตกประเด็นให้เห็นเด่นชัดอย่างรอบด้าน ฉบับนี้ ปักหมุดตั้งเข็มทิศ สโคปไปที่วาระแห่งสิทธิมนุษยชน ผ่าน มุมมอง “น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้ให้ความเห็นไว้ได้อย่าง น่าสนใจยิ่ง

> แก่นของปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย

“เรื่องหลักๆ ในปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย 1.เป็นเรื่องของสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องสิทธิชุมชน ประกอบด้วยสิทธิในการเข้า ถึงการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ และอีกส่วนหนึ่งของ สิทธิชุมชน คือการที่ต้องยอมรับในวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทำให้ เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา ยอมรับความหลากหลาย

“ส่วนที่ 3 คือ สิทธิเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส คนขอทาน หรือคนไร้บ้าน ซึ่งคนเหล่า นี้ด้อยโอกาสในทางสังคม ที่บางครั้งเรานึก ไม่ถึง นอกจากนี้ ยังมีการละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิเรื่องสื่อ รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น”

> แนวทางแก้ปัญหาในภาพกว้าง

“ต้องทำความเข้าใจว่า ระบบประชา ธิปไตยโดยประชาชน ต้องยึดหลักในการสิทธิมนุษย์ หมายถึงสิทธิเสรีภาพและเสมอภาค หลักที่เป็นประโยชน์ความถูกต้อง คือ ถ้านึกถึงสิทธิมนุษย์ ต้องนึกถึงประชาชนเป็นใหญ่ อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาส พูดว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่ประ ชาธิปไตยเราเลือกการปกครองระบบรัฐสภา แต่ต้องยึดเอาประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่เห็นว่า การเมืองเป็นของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว ซึ่งพอเราเจอปัญหาการเมืองของนักการเมือง ที่ล้มเหลว แล้วไม่สามารถใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ในทางสร้างประโยชน์ของประชาชนได้ ตรงนี้ คือสิ่งที่การเมือง 70 กว่าปีล้มเหลว”

> ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาแบบท็อปดาวน์ อิงกับอิทธิพลทางธุรกิจเป็นหลัก

“ระบบธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยการ เมืองการปกครอง ที่มันชัดคือในช่วงตั้งแต่ปี 44 เป็นต้นมา ทำให้เห็นระบบทุนที่เข้ามาครอบงำ ระบบการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของ การจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งผลประ โยชน์ตรงนั้น อย่างที่ผมเรียนต้องเป็นประ โยชน์ของภาคประชาชน แต่เนื่องจากระบบธุรกิจที่เข้ามา ทุนกับการเมืองหลอมรวมกัน ที่เราเรียกระบบธุรกิจการเมือง Money Politic นั่นหมายความว่านักการเมืองกับนักธุรกิจเป็นคนคนเดียวกัน ทำให้เกิดมีเครือข่าย ของการสร้างฐานอำนาจ ที่เชื่อมโยงระหว่าง ผลประโยชน์ของธุรกิจกับการเมือง ที่เราเรียก ผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้เกิดการใช้อำนาจ ที่ไม่ชอบ ไม่ว่าอำนาจการทุจริต คอร์รัปชั่น หรืออำนาจในการละเมิดอำนาจสิทธิมนุษยชน”

“ในสมัยผมที่เป็น ส.ว. การแทรกแซงของรัฐสภาทำให้เราเกิดสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภา และเมื่อไปควบรวมการผูกขาดเรื่องผลประโยชน์ ทำให้เรียกว่าทุนนิยม ผูกขาด หมายความว่า คนที่มีอำนาจและมีเงินด้วย สร้างฐานอำนาจ และผลประโยชน์จากความ ร่ำรวย ด้านดีก็คือ ทำให้ประชาชนรู้สึกได้รับการดูแลเชิงนโยบายมากขึ้น แต่นโยบายก็แค่ ฉาบฉวย เป็นนโยบายการสร้างภาพตอนหาเสียงในเชิงคุณภาพจะยังไม่เกิดขึ้น”

> หลายคนมองว่าช่วงการเมืองผลัดใบ ก็ยังเป็นไปในมิติเดิมๆ

“นี่คือสิ่งที่สังคมไทย ต้องพยายามสรุปบทเรียน เพื่อให้สังคมไทยเข้ามามีส่วนต่อสู้ของระบบทุนและก็เป็นทุนข้ามชาติ และเป็นทุนของกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างที่อาจารย์ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ บอกว่าเป็นทุนสามานย์ ที่ไม่มีเรื่องของคุณธรรมและศีลธรรม ถึงแม้ในสังคมไทยจะยอมรับในการเรื่องของธุรกิจการค้าเสรี แต่เน้นต้องเป็นธรรม ฉะนั้น สังคมไทยจะต้องรับรู้ ต้องเตรียมตัวรู้ว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้แย่งชิงอำนาจก็คือกลุ่มระบบทุนข้ามชาติ ทั้งส่วนกลางถึงภูมิภาค นอกจากนี้ เราต้องตระหนักในเรื่องความไม่เป็นธรรมในทางการเมือง เมื่ออำนาจทาง การเมืองมาผูกขาดและระบบทุนและทางธุรกิจ ต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง และแนวคิดก็เข้า ไปสู่การปฏิรูป และแนวคิดการปฏิรูปการ เมืองในปี 2540 อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ปี 40 ปฏิรูปแล้วทำให้เกิดตาลปัตรเกิดระบบ ผูกขาดและเผด็จการทางรัฐสภา ในขณะนี้เรา ต้องมาสนใจในเรื่องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ครั้งที่ 2 เพื่อทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่สร้างความเป็นธรรมมากขึ้น นี้คือสิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนัก และต้องเข้ามาต่อสู้รวมกัน”

> สิทธิการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ถูกละเลยมานาน

“ภาคประชาชนหรือภาคสังคมได้ต่อสู้ในเรื่องการเมืองที่เป็นผลประโยชน์ของตัวเขาในเรื่องของสิทธิ และยกระดับขึ้นเป็นเชิง นโยบายโครงสร้างมาเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิรูปที่ดิน ป่าชุมชน การประมงพื้นบ้าน ที่ขณะนี้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ประมงพื้นบ้าน เรื่องแรกที่อยู่ทางเหนือ ก็เสนอร่าง พ.ร.บ.แรก หรือแม้กระทั่งเรื่องของสวัสดิการ ชุมชน หรือแม้กระทั่งเรื่องของธนาคารที่ดิน หรือกองทุนที่จะมาพัฒนาในเรื่องปฏิรูปที่ดินต่างๆ เหล่านี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องสื่อ เรื่ององค์กรอิสระ สิ่งเหล่านี้ ภาคประชาชนได้ผลักดันในเชิงนโยบายแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า ภาคการเมือง หรือหน่วยงานภาครัฐจะรับลูกในเรื่องของการที่ทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติ ที่ไปแก้ไขปัญหาของเขาได้จริงๆ”

“แต่สิ่งที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คือการที่รัฐบาลใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากประ ชาชนในการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเชิงนโยบายโครงสร้าง ที่สอดคล้องในเรื่องของสิทธิ ในเชิงนโยบาย ได้จริงหรือ ขณะเดียวกัน จะป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมันกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย ของนักการเมืองได้อย่างไร โครงการหรือแนวทาง ปฏิบัติในการปฏิรูปการเมือง เป็นแนวทางที่จะนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง และปลอดจาก การทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างที่ในรัฐบาลชุดคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เอง ก็มีโครงการที่มีชื่อดีๆ เยอะ เช่น ไทยเข้มแข็ง หรือเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราพบว่าโครงการเหล่านั้นก็มีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นภาระของรัฐบาล ให้การทำงานทุก ภาคส่วนของกลไกรัฐ ทำงานควบคู่กับคณะกรรมการปฏิรูป”

> ข้อเสนอแนะต่อภาคประชาชน

“สำหรับภาคประชาชน ผมมีความมั่นใจในการพัฒนาและการเติบโตของภาคประชาชน กับภาคประชาสังคมอย่างมาก แต่ปัญหาก็คือว่า เราจะทำให้ภาคประชาชน ที่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ยังมีความแตกต่าง แตกแยกในเชิงความคิดในทางประชาธิปไตย ได้หันมาเห็นตรงกันว่า การเมืองของภาคพลเมืองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และผลักดันหรือกดดัน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการปฏิรูป หรือว่า คณะกรรมสมัชชา และรัฐบาลที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ได้ใช้อำนาจรัฐที่ตัวเองได้รับมอบหมายในการแก้ไขปัญหา ได้หรือเปล่า เพื่อทำให้การปฏิรูปนั้นเป็นจริง ที่สำคัญ ผมอยากให้เกิดการต่อสู้ของภาคประชาชน ที่สามารถอยู่บนลำแข้งของตัวเอง ไม่ควรไปฝากความหวังไว้กับบรรดานักการเมือง หรืออำนาจรัฐ และตรงนี้ผมคิดว่าใช้การเมือง ของภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของประ ชาชน ในการที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และติดตามตรวจสอบ ผมว่าตรงนี้จะทำให้สังคมไทย มันมีความเข้มแข็งมากขึ้นอย่างแท้จริง แทนที่จะเป็นเครื่องมือของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ”

และนี่คือข้อเสนอในการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องอยู่เหนือธนกิจการเมือง ของ “น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” ที่รัฐบาล และทุกภาคส่วนต้องขบให้แตก

ที่มา.สยมธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น