--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บุกยึดที่ป่า-ที่ดิน บสท.-บสก. บททดสอบนโยบาย "โฉนดชุมชน"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่กระแสการบุกรุกพื้นที่ป่า รวมทั้งที่ดินของรัฐหลายแห่งทั่วประเทศในขณะนี้ตรงกับช่วงเวลาที่ภาครัฐกำลังเดินหน้านโยบาย "โฉนดชุมชน" ที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภาเต็มสปีดพอดี หลายฝ่ายเลยอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า นโยบายที่รัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" แถลงไว้ต่อรัฐสภา และกำลังเร่งขับเคลื่อนให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรม แม้จะเกิดจากเจตนาดี ต้องการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินอยู่อาศัยทำกินเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต

แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยไม่มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขหรือแนวทางปฏิบัติที่รัดกุมและชัดเจน แทนที่นโยบาย ดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน และปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐตามวัตถุประสงค์หลัก ก็อาจส่งผลกระทบในด้านลบ โหมกระแสให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น น่าห่วงกว่านั้นคือการที่กลุ่มทุนธุรกิจการเมือง ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อาจฉกฉวยโอกาสครอบครองที่ดินสงวนหวงห้ามโดยอาศัยร่มเงานโยบาย "โฉนดชุมชน" ซึ่งหากเป็นจริงก็จะถือเป็นการปล่อยผีกลุ่มทุนที่ฮุบที่ดินรัฐครั้งใหญ่

กรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้อย่างการบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากะปง จังหวัดพังงา ที่เพิ่งจะถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ หลังกลุ่มทุนจากส่วนกลางบุกรุกและยื่นขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ การบุกรุกที่ดินของรัฐบริเวณสวนผึ้งจังหวัดราชบุรี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่กาญจนบุรี, เชียงใหม่, เชียงราย ฯลฯ

หรือล่าสุดที่แกนนำประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลางบุกเข้ายึดครองที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะท้าทายและน่าจะเป็นบททดสอบได้เป็นอย่างดีว่า "โฉนดชุมชน" ทางเลือกใหม่ที่รัฐบาลชุดนี้นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และการบุกรุกที่ดินของรัฐ สามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ไขวิกฤตข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาที่ดินของประเทศได้ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่

หรือจะซ้ำรอยนโยบายปฏิรูปที่ดิน ที่จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรครอบครองเพื่อใช้อยู่อาศัยและทำกิน ด้วยการให้ถือครองเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ที่กำหนดเงื่อนไขห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ยกเว้นเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน ซึ่งรัฐบาลมองว่าการดำเนินการที่ผ่านมาค่อนข้างจะประสบความล้มเหลว เนื่องจากเกษตรกรที่ได้รับแจกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 จำนวนมากนำที่ดินไปขายให้กับนายทุน

ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่า นโยบาย "โฉนดชุมชน" ที่ให้ชุมชนหรือสหกรณ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในการใช้ที่ดินที่รัฐจะจัดสรรให้ โดยออกหนังสืออนุญาตให้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน จากนั้นจึงมอบที่ดินให้คนในชุมชนครอบครองใช้ประโยชน์อีกทอดหนึ่ง โดยผู้ครอบครองทำกินในที่ดินต้องยึดถือและปฏิบัติตามกฎกติกาที่วางไว้ หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็จะถูกตัดสิทธิ โดยชุมชนจะยึดคืน ที่ดินเพื่อนำไปมอบให้บุคคลอื่นที่อยู่ในข่ายจะได้รับสิทธิแทน

เพื่อให้นโยบาย "โฉนดชุมชน" เดินหน้าไปตามแผนที่วางไว้ 7 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มี โฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อี่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา สาระสำคัญคือ

ให้ประชาชนที่รวมตัวกันเป็นชุมชนมีสิทธิได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามนโยบายโฉนดชุมชน โดยให้มีคณะกรรมการกลางทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ชุมชน และประชาชน เพื่อดำเนินการขออนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตามระเบียบนี้กำหนด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา และใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ยั่งยืน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

โดยให้คำจำกัดความคำว่า "ที่ดินของรัฐ" ว่า หมายถึงที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท ได้แก่ ที่ดินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุที่อยู่ ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเสื่อมโทรม ที่ดินที่ประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น

"โฉนดชุมชน" หมายถึง หนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน ซึ่งชุมชนมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยกฎหมายและระเบียบนี้

"ชุมชน" หมายถึง กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อการจัดการด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ

ขณะเดียวกันได้กำหนดให้มีกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน หรือ ปจช.ขึ้น โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตัวแทนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ

ทำหน้าที่เสนอนโยบาย แผนงาน งบประมาณ กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์การออกโฉนดชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนความพร้อมของชุมชน พิจารณาความเหมาะสมของชุมชนที่จะได้รับอนุญาตในการดำเนินงานโฉนดชุมชน ติดตามผลการดำเนินงาน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชน ฯลฯ

พร้อมกับจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชนขึ้นในทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงาน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เหมือนจะส่งสัญญาณว่านโยบาย "โฉนดชุมชน" เริ่มขยายผลสู่การปฏิบัติแล้ว

ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ปจช. จะเสนอรายชื่อคณะกรรมการเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งเร็ววันนี้ ควบคู่ไปกับการจัดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกสำรวจพื้นที่นำร่อง โดยตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2553 จากนั้นจะเสนอให้หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินอนุญาตออกโฉนดชุมชน และมอบโฉนดให้ชุมชนต่อไป

เบื้องต้นมีที่ดินที่ถูกคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ออกโฉนดชุมชน 30 แห่ง เนื้อที่รวม 10,000 ไร่ จากพื้นที่นำร่องที่สำรวจทั้งหมด 88 แห่ง ที่สำรวจ อาทิ สหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง จังหวัดนครปฐม นิคมสหกรณ์พิชัยภูเบนทร์ จังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม บ้านทับเขือปรักหมู รอยต่อจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดตรัง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน พ.ศ. ...ประกาศบังคับใช้ เพื่อผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนในระยะยาว และจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งในอนาคตจะจัดซื้อที่ดินบางส่วนของเอกชนหรือทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ของสถาบันการเงิน นำมาจัดสรรให้กับผู้ไม่มีที่ดินทำกินภายใต้นโยบายนี้ ก่อนจะมีรายได้ก้อนใหญ่เข้ามาจากการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต

เวลานี้ทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามนโยบาย "โฉนดชุมชน" เดินหน้าเต็มที่แล้ว แต่จะสัมฤทธิผลตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องจับตาดูต่อไป
***************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น