--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ผู้นำกับแมว

สัตว์เลี้ยงประจำบ้านอย่างสุนัขและแมว

นอกจากมีสรรพคุณช่วยจรรโลงจิตใจเจ้านายแล้ว หลายกรณียังสามารถช่วยนักการเมืองได้ด้วย

ประเด็นแรกเป็นที่เข้าใจกัน

ส่วนประเด็นหลังผมวิเคราะห์เองจากการเห็นผู้นำหลายประเทศ “ปลีกวิเวก” เข้าหาสัตว์เลี้ยง

ผู้นำบางคนรักสุนัขหรือแมวจริงๆ ส่วนบางคนคล้ายกับจะอาศัยเป็นตัวสยบความเคลื่อนไหวทางการเมือง

ทำนองเห็นสถานการณ์การเมืองวุ่นวายนัก ก็ขอให้แมวช่วยซะเลย

ล่าสุดท่านดาโต๊ะ ซรี นาจิบ ตุน ราซัค ผู้นำมาเลเซีย แวบหาแมวเช่นกัน

คงเป็นเรื่องคนรักแมวจริงๆแหละครับ ไม่ใช่หวังผลทางการเมือง

ท่านดาโต๊ะไปเปิดงานแสดงสินค้า รณรงค์ให้ซื้อสินค้าท้องถิ่นชื่อ "Buy Malaysia" แล้วเหลือบเห็นลูกแมวเปอร์เซียสีส้มขาว อุ้มขึ้นตรวจดูคุณลักษณะพักหนึ่งจึงตกลงซื้อในราคา 650 ริงกิต (6,500 บาท)

จากนั้นท่านดาโต๊ะนำเรื่องนี้มาเล่าในบล็อกในเว็บไซต์ www.1malaysia.com.my บอกแฟนคลับว่า มีแมวอยู่แล้วหลายตัว แต่เห็นว่าลูกแมวสวยดี ลูกสาวคงชอบ จึงซื้อมา ปิดท้ายด้วยการขอให้แฟนคลับช่วยกันตั้งชื่อ

คำเชิญชวนของผู้นำมาเลเซียได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพียง 2 วันแรกมีแฟนคลับเสนอชื่อไป 500 คน

ชื่อที่เสนอไปมีความหมายเกี่ยวกับผู้นำและครอบครัว บางชื่อมีความหมายเกี่ยวกับประเทศ และสิ่งที่ท่านดาโต๊ะทำเพื่อชาติ เช่น ชื่อเมลซินเดีย (Melcindia) ผู้เสนออธิบายว่า ย่อมาจากมะลายู (Melayu) ซินา (Cina) และอินเดีย (India) ที่รวมกันเป็น 1 Malaysia

ขณะผมเขียนต้นฉบับ ผู้นำมาเลย์ยังไม่ประกาศผลการเลือกชื่อ แต่สรุปได้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอาจจะเกินคาดก็ได้ เนื่องจากมีแฟนคลับร่วมเสนอชื่อจำนวนมาก

นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ได้ข่าวก็ไม่นิ่งดูดาย ได้ส่งเสาฝนกงเล็บ (เสาสำหรับให้แมวข่วนเล่น) และบอลของเล่นด่วนจี๋มาเป็นของกำนัล

ฝ่ายสนับสนุนคึกคักกับการลุ้นชื่อ ขณะที่ฝ่ายค้านตำหนิตามระเบียบ มองว่าผู้นำมาเลย์ทำตัวอย่างไม่ดีเพราะซื้อแมวมาเลี้ยงแทนที่จะรับจากสถานสงเคราะห์ที่มีแมวรอเจ้านายใหม่กันอย่างแออัด

ตกลงเรื่องนี้ แมวเป็นตัวช่วยหรือตัวเพิ่มปัญหายังน่าสงสัยครับ

แต่ก็อย่างนี้แหละครับผู้นำขยับไปไหนย่อมไม่เว้นควันหลงตามมา

ถ้าทำอะไรแล้วไม่มีใครทักท้วงผมว่าเหงาแย่เหมือนกัน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5 ฉบับ 266 วันที่ วันที่ 3 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 51 คอลัมน์ เรื่องเล่าต่างแดน โดย วรวุฒิ สารพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น