โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร
ตะลึงตึงตังกันไปตามคาดสำหรับคลิปฉาวภาค 2 เกี่ยวกับบุคคลในศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเผยแพร่ทางโลกไซเบอร์
คราวนี้พุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมของตุลาการโดยตรง ไม่ได้เชื่อมโยงกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
ว่ากันว่าผู้พิพากษาหลายคนที่ได้ชมคลิป แม้แต่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมเองยัง "อึ้ง" ไปตามๆ กัน และถามกันให้แซ่ดว่า ตุลาการที่เกี่ยวพันกับเนื้อหาในคลิปจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างไร?
คลิปฉาวภาค 2 นี้มี 3 ตอน ใช้ชื่อว่า "พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย" เป็นภาพและเสียงการพูดคุยกันของบุคคล 3 คน โดย 2 ใน 3 ถูกระบุว่าเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ "นาย พ." ซึ่งเคยตกเป็นข่าวพัวพันคลิปฉาวภาค 1 ที่โยงถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และถูกปล่อยออกมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า
เนื้อหาหลักๆ ของคลิปฉาวภาค 2 เป็นการหารือกันเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับคลิปอีกชุดหนึ่งที่คนเหล่านี้เชื่อว่าถูกบันทึกภาพการเจรจาตกลงระหว่างตุลาการกลุ่มหนึ่งในการนำข้อสอบที่ใช้สอบบรรจุเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญไปแจกจ่ายให้กับคนใกล้ชิดของตุลาการเหล่านั้น ซึ่งก็มีทั้งคนที่เล่นด้วยและไม่เล่นด้วย เมื่อมีข่าวว่าคลิปดังกล่าวหลุดออกไปและอาจตกไปอยู่ในมือของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ทำให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องมานั่งหารือกันเพื่อหาทางแก้เกมและแก้ข้อครหาที่จะตามมา
ภาพและเสียงที่ปรากฏในคลิปฉาวภาค 2 ทำให้พอมองเห็น "เรื่องราว" เบื้องหลังคลิป และ "เรื่องลับๆ" ในศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ
1.ข้อสันนิษฐานที่เคยคาดกันว่าพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังการถ่ายทำ หรือ "จัดฉาก" ให้เกิดคลิปเหล่านี้ อาจไม่จริงทั้งหมด เพราะจากเนื้อหาในคลิปชัดเจนว่ามีการ "แอบถ่าย" กันเองระหว่างบุคคลในศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้วเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพื่อต่อรองอะไรกันบางอย่างในลักษณะ "กำความลับของอีกฝ่าย"
2.คลิปฉาวไม่ได้มีแค่ 2 ภาคหรือ 2 ชุดที่ถูกปล่อยออกมาแล้ว แต่น่าจะยังมีอีกอย่างน้อย 1 ชุด คือคลิปที่เชื่อกันว่าเป็นการบันทึกภาพการเจรจาตกลงระหว่างตุลาการกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับการโกงข้อสอบบรรจุเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทว่ายังไม่ถูกเผยแพร่
3.จากภาพและเสียงที่ปรากฏในคลิป ยากที่จะปฏิเสธว่ามีความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานภายในศาลรัฐธรรมนูญจริง ไม่ว่าจะเป็นการสอบบรรจุเจ้าหน้าที่ศาล โครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ หรือการต่อรองตำแหน่งสำคัญในหมู่ตุลาการ
4.พฤติกรรมของตุลาการบางคนที่เอ่ยถึงบุคคลที่สามอย่างไม่ให้เกียรติ ซึ่งบางรายเป็นพยานในคดียุบพรรคด้วย ทำให้ความน่าเชื่อถือที่สังคมมีต่อตุลาการลดลง แม้ว่าจะเป็นการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการในห้องที่ปิดลับก็ตาม
แน่นอนว่าเมื่อคลิปฉาวชุดที่ 2 ถูกแพร่ออกมา ได้ส่งผลให้เครดิตของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตกต่ำอย่างน่าใจหายอยู่แล้วก่อนหน้านี้ อยู่ในภาวะ "ดับวูบ" กันเลยทีเดียว และผลสะเทือนของมันน่าจะกระทบทั้งในมิติที่เกี่ยวกับอนาคตของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองซึ่งอาจเกี่ยวโยงถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วย และมิติทางการเมืองที่มีความพยายาม "เล่นงาน" กระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" มาตลอด
เริ่มจากอนาคตของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อน แนวโน้มที่เป็นไปได้มี 3 ประการ คือ
1.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแสดงสปิริตลาออกทั้งคณะ ซึ่งจะทำให้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ต้องหยุดชะงักลง
2.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนตัดสินใจลาออก จนอาจกระทบกับองค์คณะที่ทำหน้าที่วินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งต้องมีไม่ต่ำกว่า 5 คน
3.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งก็จะกระทบกับความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนในมิติทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครดิตและความน่าเชื่อถือของตุลาการชุดนี้แทบจะหมดสิ้นแล้ว จนอาจ "เข้าทาง" กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ทั้งที่ต้องการยุบเลิกองค์กรศาลรัฐธรรมนูญไปเสีย หรือต้องการให้เริ่มกระบวนการสรรหาตุลาการชุดใหม่ และอาจลามไปถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาตลอดจนองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา และถึงที่สุดคือการ "ล้วงมือ" เข้าไปตรวจสอบศาล ในฐานะหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยที่แทบไม่เคยถูกตรวจสอบจากฝ่ายอื่นๆ เลย
ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางรายได้ออกมาพูดถึงข่าวการพยายามยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคเพื่อไทยและอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยแสดงท่าทีหลายครั้งที่จะ "รื้อใหญ่" รัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะกระบวนการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ อาทิเช่น ประธานศาลสูง โดยยกตัวอย่างเทียบเคียงกับสหรัฐอเมริกาที่อัยการและประธานศาลสูงต้องผ่านการตรวจสอบจากสภาในฐานะตัวแทนประชาชนก่อน
ที่สำคัญผลสะเทือนที่ว่านี้ย่อมส่งถึงศาลยุติธรรมด้วย เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 7 ใน 9 คนเคยเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม มี 3 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และอีก 4 คนก็มาจากคณะกรรมการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
การปฏิเสธความเกี่ยวข้องหรือความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิงจะเป็นไปได้หรือ?
หากแนวโน้มดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริง องค์กรศาลจะถูก "ตรวจสอบ" โดยฝ่ายการเมืองที่อ้างความเป็นตัวแทนประชาชน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย"
ประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ หากการตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ในวงการตุลาการ อาทิเช่น ประธานศาลฎีกาต้องผ่านความเห็นชอบโดยฝ่ายการเมือง ย่อมหมายถึงสถาบันศาลเกือบทั้งสถาบันมีโอกาสถูกจัดแถวโดย "มือ" จากนอกศาล เพราะตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาคือผู้เสนอชื่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจคุมงานธุรการศาลทั่วประเทศ รวมทั้งจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายตุลาการ
ขณะที่ประธานศาลฎีกาก็เป็นประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และประธานคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.) โดยตำแหน่ง
ถึงตรงนี้คงพอนึกภาพออกแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น...
กระบวนการที่เรียกว่า "ตุลาการภิวัตน์" ซึ่งบุคลากรจากศาลออกมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมือง กำลังถึงคราวพังทลาย และลุกลามไปถึงองค์กรต้นธารของบุคคลเหล่านี้
วันแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังก้าวมาถึงแล้ว แต่ไม่ใช่ด้วยปัจจัยทำลายล้างจากฝ่ายการเมืองผู้เสียประโยชน์แต่เพียงด้านเดียว ทว่าปัจจัยหลักมาจากสนิมแต่เนื้อในตน...
ถึงเวลาที่ฝ่ายตุลาการต้องกวาดบ้านตัวเองอย่างจริงจัง หากไม่อยากให้คนนอกบ้านมาช่วยกวาด!
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น