อจ.นิติศาสตร์ มสธ. ชี้เป็นหลักสากลถ้ากระบวนการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงผิดแต่ต้น ก็ไม่จำเป็นต้องดูข้อเท็จจริง วิเคราะห์คดี "258ล้าน" ไม่พ้นซ้ำรอยเดิม เหตุ กกต.ฟ้องผิดข้อ กม.
หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปปัตย์ กรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ ด้วยการยกคำร้องตามมติ 4:2 นั้น นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนแรกๆ ที่เคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ถูกยุบเพราะกระบวนการในการดำเนินคดีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ผิดพลาดแต่ต้น
นายคมสัน ให้สัมภาษณ์ ว่า ตนเคยเสนอว่ายุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เพราะว่ากระบวนการของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประเด็น
1.การใช้กฎหมาย โดย กกต.ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งอันที่จริงควรใช้กฎหมายของปี 2541 เนื่องจากเป็นการกระทำในอดีต
2.อำนาจการวินิจฉัย เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ใช่ กกต.
3.นายทะเบียนพรรคการเมืองเคยชี้ไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ผิด แต่ กกต.ก็กลับหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้งไม่ได้
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ กกต.ผิดพลาดเอง ซึ่งก็เคยแนะนำไปแล้วว่าจะทำให้เกิดการผิดพลาดได้ เมื่อขึ้นสู่ศาลก็ต้องถูกยกฟ้องแน่นอน เรื่องนี้ตนก็พูดมาตลอด
นักวิชาการรายเดิม กล่าวต่อว่า ศาลได้พิจารณาโดยตัดประเด็นในแง่ของข้อเท็จจริงออกไป เนื่องจากว่าโดยหลักสากลแล้วกระบวนการยุติธรรมนั้นจะต้องพิจารณาด้วยว่ากระบวนการอันได้มาซึ่งข้อเท็จจริง การสอบสวน การยื่นคำร้องเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจึงจะพิจารณาต่อในขั้นของข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งหากการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะขัดต่อหลักนิติรัฐ
"อันนี้มันเป็นหลักสากลอยู่แล้วทั่วโลกเค้าทำกัน คือขั้นแรกต้องพิจารณาในแง่กฎหมายว่าถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมายหรือไม่ ถึงจะมาพิจารณาในแง่ของข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างเหมือนในหนังต่างประเทศที่เราดูกัน ก่อนที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมคนร้าย จะต้องแจ้งสิทธิที่ผู้ต้องหาพึงจะได้เสียก่อน หากดำเนินการจับกุมไม่ถูกขั้นตอนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็แพ้คดีตั้งแต่ต้น โดยไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาในแง่ของข้อเท็จจริงเลย" นายคมสันกล่าว และว่า เมื่อศาลพบว่ากระบวนการของ กกต.บกพร่องหลายประการ มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ยื่นคำร้องล่าช้าก็ดี ไม่ถูกต้องด้วยกระบวนการก็ดี สามารถตัดการพิจารณาข้อเท็จจริงไปได้เลย อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกทำกัน
เมื่อถามว่า มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อศาลเห็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ผิดแต่ต้นเหตุใดจึงนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี นักวิชการรายเดิม กล่าวว่า เป็นไปได้ที่ว่าในชั้นของการยื่นคำร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ แต่มาปรากฏในชั้นของการไต่สวนก็เป็นได้ ซึ่งเมื่อศาลเห็นตรงจุดนี้จึงนำมาสู่การตัดสินในที่สุด
"อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นไปได้อีกในแง่การเมืองที่ว่ากระแสสังคมกดดันหนัก ศาลจึงต้องการที่จะให้เกิดความกระจ่างแจ้ง เป็นไปได้ที่ว่าอาจจะปล่อยให้กระบวนการไต่สวนมันครบถ้วนกระบวนความ นำคู่กรณีมาไต่สวนงัดข้อเท็จจริงต่างๆ มาตีแผ่ผ่านศาล สมมุติว่าศาลเห็นประเด็นนี้ (กระบวนการ กกต.ผิดแต่ต้น) อยู่ก่อนแล้ว แต่ครั้นจะให้ยกคำร้องทันที ตั้งแต่ที่ กกต.ยื่นมาโดยที่ไม่มีการไต่สวน ก็เกรงว่าอาจจะถูกครหาก็ได้ว่า 2 มาตรฐาน หรือจะถูกครหาว่าไม่ฟังความใดๆ เลย ยังไม่ทันฟังคำชี้แจงหรือข้อเท็จจริงอะไรเลย จู่ๆ ให้ยกคำร้องเสียแล้ว อันนี้ก็เป็นไปได้ที่ทำให้ศาลตัดสินใจปล่อยให้มาถึงกระบวนการพิจารณาถึงขั้นนี้ แต่ตรงนี้เป็นเพียงการคาดเดาของตนเท่านั้น" นายคมสัน กล่าว
อจ.นิติฯ มสธ. กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าศาล รธน.ดำเนินการถูกต้องตาม Proceed of Law คือการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงของผู้ร้องจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน จึงจะพิจารณาในแง่ของข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่ากับคำพิพากษาตรงนี้จะมีผลอย่างไรต่อไปกับคดีการบริจาคเงิน 258 ล้านหรือไม่ นายคมสัน กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าจะมีผลให้ยกคำร้องในคดีนี้ แต่ต้องดูที่เงื่อนไขเวลาว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องคดี 258 ล้านนี้ ก่อนหรือหลังวันที่ 17 ธันวาคม 2552 (เป็นวันเดียวกับที่ กกต.ยื่นคำร้องยุบ ปชป. ในคดี 29 ล้าน) ถ้ายื่นหลังก็หมดสิทธิแน่นอนเข้าข่ายล่าช้า 15 วัน แต่ถ้าวันเดียวกันก็เป็นไปได้ที่จะมีชะตากรรมในแบบเดียวกัน
"แต่ถ้ายื่นหลัง ผมก็ยังเห็นว่ามีโอกาสหลุดอยู่ดี เพราะว่าฟ้องผิดข้อกฎหมายคือ กกต.ยื่นฟ้องในลักษณะที่ว่าเมซไซอะเป็นนอมินีรับเงิน ปชป. ซึ่งมันไม่ใช่ แต่ควรจะตีในประเด็นที่ว่า รับเงินบริจาคแล้วไม่แจ้ง อาจเรียกได้ว่า กกต.ฟ้องข้อหาที่หนักเกินกว่าความเป็นจริง เปรียบไปก็เหมือนกับไปยัดข้อหาเค้า ซึ่งเท่าที่ผมดู กกต.ชุดนี้จัดว่ามีปัญหาในแง่ของข้อกฎหมายเยอะ แพ้คดีมาหลายครั้ง แม้แต่กับกรณีของนายเรืองไกร (ลีกิจวัฒนะ) ก็ตาม ซึ่งจะว่าไปแล้ว กกต.ชุดนี้ก็มีอดีตผู้พิพากษาหลายคน จนเกิดคำถามว่าทำไมจึงพลาดง่ายๆ ได้"
เมื่อถามว่าหาก กกต.ยื่นก่อน 15 วัน มีโอกาสหรือไม่ที่ ปชป.จะชนะ นักวิชาการรายเดิม กล่าวว่า อันที่จริง กกต.ก็ชี้ไปหลายครั้งแล้วว่าเค้าไม่ผิด แต่จู่ๆ ก็ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งอาจจะด้วยแรงกดดันของเสื้อแดง สังคม หรืออะไรก็ตาม ก็มีการชี้หลายครั้งแล้ว คือมาตรฐานไม่มีเลย
เมื่อถามว่ากับคดียุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) และพลังประชาชน (พปช.) ต่างกันอย่างไร นายคมสัน กล่าวว่า ต่างกันโดยสิ้นเชิง กรณีของ ทรท.คือมีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครและเปลี่ยนแปลงฐานบัญชีรายชื่อผู้สมัครเพื่อให้สามารถลงแข่งในการเลือกตั้งได้ จนนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาล ตรงนี้เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวิถีประชาธิปไตย ในมาตรา 68 ส่วน พปช.นั้นเป็นกรณีที่ กก.บห.ซื้อเสียงทุจริตการเลือกตั้งไม่เหมือนกันเลย คือไม่ใช่เรื่องของ 2 มาตรฐานอย่างแน่นอน
ที่มา.มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น