--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความยุติธรรมหลังเม.ย.-พ.ค.53

คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ข่าวสดรายวัน

หมายเหตุ - ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) จัดเสวนาเรื่อง "ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านหลังกรณี เม.ย.-พ.ค.2553 : การแสวงหาความจริง การรับผิด ความยุติธรรม ความปรองดอง" ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.

ศรีประภา เพชรมีศรี

ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา

มหาวิทยาลัยมหิดล

ความยุติธรรมในระยะหลังการเปลี่ยนผ่านกรณี เม.ย. -พ.ค.2553 รัฐไทยยังไม่มีความพยายามหามาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และวันนี้เหยื่อที่เกิดจากการละเมิดสิทธิ์ยังมีอยู่

นอกจากนี้ รัฐไทยยังมีเครื่องมือละเมิดสิทธิมนุษยชน ในส่วนมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง

ขณะที่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งขึ้น เช่น คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ) โดยระบุหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ยังดูเหมือนว่ามีข้อจำกัด ไม่มีการดำเนินการอย่างกว้างขวาง

สิ่งที่หาอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงการหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่หาความจริง

อุปสรรคสำคัญของคอป. คือที่ผ่านมารัฐไทยไม่มีความพยายามจะลงโทษผู้กระทำผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่อดีตจนถึงสถานการณ์ล่าสุด

ส่วนการเยียวยาเหยื่อผู้เสียหาย ซึ่งดูเหมือนจะง่ายที่สุด แต่ยืนยันได้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะการคิดว่าการเยียวยาต้องเป็นรูปของตัวเงิน

แต่ความจริงแล้วการเยียวยาที่ดีที่สุดคือการเยียวยาจิตใจ ที่ผ่านมาไม่มีการทำกันมากนัก

ต้องเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยอมรับ คือสิทธิ์ที่ต้องได้รับรู้ความจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ตรงนี้กลับขาดหายไป ครอบครัวเหยื่อยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการรับรู้ความจริง รวมทั้งการเข้าถึงความยุติธรรม

มีการพูดกันมากว่าคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นต้องแก้ไขความแตกแยกในสังคม จึงมีคำถามว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้หรือไม่

เพราะการยอมรับคณะกรรมการนั้นยากมาก เพราะเป็นกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง ส่วนการสมานบาด แผลในสังคมก็ไม่น่าเกิดขึ้นได้

น่าสังเกตว่า 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย เหยื่อ คณะกรรม การ และรัฐบาล ยังไม่มีการพูดคุยหรือหารือแลกเปลี่ยนอะไรกันเลย

และที่บอกว่าเมื่อลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้ชุมนุมบางกลุ่มจะเกิดความปรองดองได้นั้น ตรงนี้มันไม่ใช่ เพราะขณะนี้ความคิดต่างแตกแยกเกิดทั่วไปหมด

ขณะที่รัฐไทยไม่เคยปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ถ้าไม่มีการปฏิรูปตรงนี้จะไม่มีหลักประกันเลยว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอีก ตรงนี้คือจุดที่รัฐบาลต้องทบทวน

สิ่งสำคัญเช่นกันคือ การขอให้อภัย หรือการขอโทษที่มาจากผู้กระทำ ตรงนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการขอ โทษก็ไม่มีการให้อภัยเช่นกัน

คณะกรรมการแต่ละชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้น ควรเลือกหา ความจริงให้เข้ากับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เลือกหาความจริงกับผู้ที่มีอำนาจ และคณะกรรมการต้องหาความจริงในส่วนของผู้กระทำผิด

และต้องประณามผู้กระทำผิดนั้นด้วย

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์

เดือน เม.ย.-พ.ค.2553

ความผิดพลาดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ กรณีสั่งการสลายการชุมนุม เปรียบได้กับบาป 7 ประการ

บาปที่ 1 การใช้ความกลัวครอบงำประชาชน โดยผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วนำมาข่มขู่คนเสื้อแดง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงกลาง รวมถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงอยู่ใกล้ชิดทหารมากขึ้น ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก

บาปที่ 2 การเลือกปฏิบัติในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ที่ผ่านมามีการเลือกปฏิบัติชัดเจน อยากให้แยกว่าคนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ เขาทำความรุนแรงหรือไม่ ที่ผ่านมาพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเท่าที่ควร

บาปที่ 3 การสร้างความเคียดแค้นชิงชังผ่านข้อ ความการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น "ขอความสงบสุขคืนมา" "ห้างถูกเผา" หรือ "ถ้าไม่เกิดกับครอบครัวตัวเองคงไม่รู้"

บาปที่ 4 การผลักไสให้เป็นอื่น โดยผ่านคณะกรรม การที่รัฐบาลตั้งขึ้น พูดแต่ทุกข์และความสูญเสีย แต่ไม่ยอมพูดความจริงเลย

บาปที่ 5 การข่มขู่ไล่ล่า

บาปที่ 6 การสมคบคิดสร้างหลักฐานเท็จทำลายหลักฐานและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

และบาปที่ 7 การปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐ บาลที่ผ่านมา อย่างน้อยๆ ไม่เคยได้ยินคำขอโทษจากรัฐบาลเลย

กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ปลัดกระทรวงยุติธรรม และคอป.

สิ่งที่เป็นปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ หลายฝ่ายไม่แน่ใจว่ารัฐบาล ที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบหาความจริง จะทำได้หรือไม่และเป็นที่ยอมรับมากน้อยแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ความไว้ใจของคณะกรรมการชุดต่างๆ ติดลบมาตั้งแต่ต้นเพราะตั้งมาจากผู้ขัดแย้ง

ยอมรับว่าแม้แต่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนว ทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เองก็ยังไม่อยากชี้นิ้วว่าใครผิด

การตั้งคอป.ขึ้นมาจึงยากตั้งแต่ต้นและยอมรับว่าคอป. ทำอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ ทุกเรื่องราวไม่มีใครมีคำตอบให้

ถามว่าใครเป็นคนฆ่าผู้ชุมนุม เรื่องนี้ผมรวมทั้งคอป.ก็อยากทราบ หากใครหรือหน่วยงานไหนมีข้อมูลขอให้มาพูดคุยให้ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง แล้วสังคมจะเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม คอป.จะพยายามค้นหาความจริง เยียว ยาและสร้างพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการหารากเหง้าของปัญหาในสังคมไทย

โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลดการฆ่ากันให้ได้

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย

ตั้งแต่เคยรับราชการมา เข้าใจว่าความยุติธรรมในประเทศนี้ไม่เคยมี เพราะถูกกำหนดโดยกติกาจากกลุ่มคนที่เขียนกติกาขึ้นโดยเฉพาะอำมาตยาธิปไตย ทุกอย่างล้วนเป็นการแสวงประโยชน์

การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแสวงประโยชน์กับกลุ่มคนเสื้อแดง ใช้ช่องว่างตรงนี้ทำให้อีกฝ่ายผิดกฎหมาย และนำทหารออกมา นำอาวุธสงครามมาปราบปรามผู้ชุมนุม

พรรคเพื่อไทยแสดงความเห็นกรณีทหารนำอาวุธออกมาใช้ตั้งแต่ต้น การอ้างว่าเป็นฝีมือจากชายชุดดำ มันมีกระบวนการบิดเบือน เราสูญเสียวีรชน เขาเหล่านั้นต้องเสียชีวิต

หลังการเสียชีวิตนำไปสู่กระบวนการก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ฉะนั้น เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นจนจบการสลายการชุมนุม เข้าใจว่าหลายหน่วยงานพยายามเก็บรวบรวมข้อเท็จจริง ถือเป็นเรื่องเหมาะสม

พรรคเพื่อไทยได้รับสิ่งที่รัฐบาลทำออกมา ทั้งภาพ คลิป ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ตรงกับเรา แต่วันข้างหน้าเชื่อว่าความจริงจะปรากฏ ฉะนั้น การแสวงหาความจริงจากวันนี้ ยังเป็นกระบวนการที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่แท้จริง

จุดยืนพรรคยืนยันว่าเราไม่เคยพูดเรื่องนิรโทษกรรม เรื่องนี้มีแต่คนพูดแทนเรา ยืนยันว่าเราจะเรียกร้องความยุติธรรมคืนให้กับ 91 ชีวิตที่เสียสละ

ถ้าหาความยุติธรรมตรงนี้ไม่ได้ ความปรองดองในบ้านเมืองไม่มีวันเกิดขึ้นแน่นอน

เชื่อว่าพี่น้องเสื้อแดงทุกคนมีอารมณ์ มีความเคียด แค้น แต่เราต้องร่วมมือกันแสวงหาความจริงให้ได้ และน่ายินดียิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ตอนนี้เขารู้อะไรมากมาย เขาพัฒนาเรื่องการรับรู้ความจริงไปมาก เขารู้ว่าเหตุเกิดจากอะไร

การเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง คงไม่ไกลเกินไป แต่ต้องใช้เวลา

****************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น