กระบวนการสมานรอยปริแตกกทางความคิด เริ่มขยับโดยใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่ เช่น ประกันตัวผู้ต้องขังเสื้อแดง ขณะที่ 90ศพกลางเมืองหลวงก็เป็นปมสำคัญ
แม้จะดูล่าช้าไปสักนิด แต่ก็เป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง สำหรับข้อเสนอล่าสุดของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
ข้อเสนอที่ว่านี้ก็คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาเรื่อง "ปล่อยตัวชั่วคราว" หรือ "ให้ประกัน" กับผู้ต้องขังคนเสื้อแดงที่สิ้นอิสรภาพอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 200 คน โดยเน้นไปยังกลุ่มที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนความรุนแรงระหว่างการชุมนุมก่อน
รายงานของ คอป.ให้เหตุผลในแง่ที่ว่า สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็น "สิทธิพื้นฐาน" ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล และรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 (7)
เพราะการเอาตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในความควบคุมหรือในอำนาจรัฐเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลอันเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญแล้ว ยังกระทบถึงโอกาสในการต่อสู้คดี และส่งผลกระทบต่อครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้กล่าวหาอีกด้วย
"กุญแจดอกสำคัญ" ของรายงานฉบับนี้ ในความเห็นของผมคิดว่ามีอยู่ 2 ประเด็น ก็คือ
หนึ่ง การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องขังเสื้อแดง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำแนวทาง "สันติวิธี" มาใช้ในการแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง โดยเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็น "จุดเปลี่ยนที่สำคัญ" ที่จะส่งสัญญาณว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ และเป็นการลดกระแสความเชื่อที่ว่ากระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เชื่อถือในระบบการปกครองของรัฐ อันอาจสร้างความร้าวฉานและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่
สอง การแก้ไขปัญหาบนแนวทางสันติวิธีดังกล่าว จะดำเนินไปภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า "ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" ซึ่งไม่ใช่การมุ่งเอาผิดกันในแบบ "แก้แค้นทดแทน" แต่เน้นใช้การทำความเข้าใจ และชี้ให้เห็นความเสียหายหากเลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา
นี่คือแนวทางการใช้ "การเมือง" แก้ปัญหาขัดแย้งทาง "การเมือง" ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเงี่ยหูฟังและหยิบมาปฏิบัติโดยพลัน!
จุดเด่นที่สุดที่ทำให้ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอป.ในเรื่องนี้ก็คือ คอป.ไม่ได้บอกให้รัฐบาลละเลยการบังคับใช้กฎหมาย หรือมองกฎหมายเป็นปฏิปักษ์ แต่แนะให้รัฐบาลเลือกใช้ "ดุลพินิจ" ในบางกรณี และเปิดโอกาสให้มีการ "พูดคุย" กับคนที่คิดเห็นต่างทางการเมือง หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดการรับฟัง แลกเปลี่ยนทัศนะ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาบนแนวทางสันติวิธี
และนี่ก็คือหลักการ "ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" หรือ Restorative Justice ที่เรียกกันติดปากในหมู่คนยุติธรรมยุคใหม่ว่า "RJ" ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
"ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" ไม่ใช่การยกโทษให้ผู้กระทำผิด เพราะการลงโทษนั้นยังมีอยู่ แต่จุดต่างอันสำคัญระหว่าง "RJ" กระบวนการยุติธรรมแบบ "แก้แค้นทดแทน" ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันก็คือ การสร้างกระบวนการให้ผู้กระทำผิดสำนึกในการกระทำ และรับรู้ถึงความเดือดร้อนเสียหายของ "เหยื่อ" รวมไปถึง "ชุมชน" ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำของตน
หลักการของ "ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" จึงเป็นการให้ผู้กระทำผิดได้ทบทวนตัวเอง ทบทวนการกระทำ ขณะเดียวกันก็เปิดเวทีให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกันระหว่างตัวผู้กระทำผิด เหยื่อ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อร่วมกันหาทางยุติปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ "จับยัดคุกแล้วจบ" เหมือนที่เป็นอยู่ (เพราะความจริงมันไม่มีทางจบ)
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จึงเป็นเวทีแห่งความเข้าใจที่ดึงทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยและจัดการปัญหาร่วมกัน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับกระบวนการ "สานเสวนา" ที่นักสันติวิธีทั้งหลายพยายามเรียกร้องมาตลอดตั้งแต่เริ่มมีความขัดแย้งในการเมืองไทยนั่นเอง
แน่นอนว่ากับบริบทปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่เช่นนี้ การทบทวนการกระทำของตนย่อมต้องไม่จำกัดเฉพาะ "คนเสื้อแดง" ที่ถูกคุมขัง แต่ต้องหมายรวมถึง "คนเสื้อแดง" ในภาพใหญ่ และที่สำคัญคือ "รัฐบาล" ในฐานะคู่ขัดแย้ง ซึ่งมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบกรณีที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่กลางเมืองหลวงกว่า 90 ศพได้เช่นกัน
ผมเชื่อมั่นว่าการทบทวนตนเอง ยอมรับผิดร่วมกัน และใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง จะเป็นทางออกของประเทศนี้ได้ในยามที่ดูเหมือนไร้ทางออก!
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
***************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น