นักวิชาการตั้งข้อสงสัยทำไม คอป. ยกเลิกดึงนักวิชาการจากต่างชาติเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีอยากดึงมาร่วมทำงานเพื่อให้ผลที่ออกมาได้รับการยอมรับ ระบุประเทศไทยมีธรรมเนียมปฏิบัติไม่ดี ไม่ใจกว้างให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบเรื่องต่างๆอย่างเป็นทางการ หากจะมาทำได้แค่ในนามส่วนตัวเพื่อเก็บข้อมูลจากเอ็นจีโอไทยเท่านั้น “ประยุทธ์” ยืนยันไม่ยกเลิกประกาศห้ามจำหน่ายสินค้ายั่วยุ ย้ำจะบังคับใช้ไปจนกกว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย
น.ส.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัย มหิดล ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว เพราะควรยกเลิกกฎหมายพิเศษแบบนี้ตั้งนานแล้ว
“ความจริงต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาตั้งแต่ยุบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่ควรมีกฎหมายแบบนี้ใช้ในประเทศไทย เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำมาบังคับใช้ก็ยิ่งเห็นว่าสมควรยกเลิกกฎหมายนี้ไปเลย เพราะไม่เป็นคุณกับประเทศและประชาชนเนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐได้” น.ส.ศรีประภากล่าว
น.ส.ศรีประภายังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศไทย หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ย. 2553 ว่ารัฐบาลไทยไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้ชุดเดียวที่ไม่อนุญาตให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบเรื่องภายในประเทศ แต่รัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ค่อยยอมรับให้องค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาตรวจสอบอย่างเป็นทางการ หากจะเข้ามาต้องมาในนามส่วนตัวเพื่อหาข้อมูลหรือพูดคุยกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอของไทย
“ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศไทยไปแล้วที่ไม่ยอมรับให้ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นเข้ามาตรวจ สอบเรื่องต่างๆภายในประเทศ ทั้งๆที่แนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ตรงนี้รัฐบาลไทยควรต้องเปิดใจกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลหรือเปิดให้คนอื่นเข้ามาตรวจสอบ ถ้ามีความมั่นใจว่าไม่มีอะไรปกปิดก็ต้องให้เขาเข้ามาตรวจสอบ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก” น.ส.ศรีประภากล่าวและว่า เคยนำเรื่องนี้เข้าหารือกับ ศ.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าควรเอาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมเป็นกรรมการ เพราะจะทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รับความน่าเชื่อถือเนื่องจากเราไม่ได้ทำแบบทำกันเอง ตอนแรกก็สนใจแต่เรื่องก็เงียบไป
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการยกเลิกการเยือนไทยของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เกิดจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษชน โดยเฉพาะเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. นั้น น.ส.ศรีประภากล่าวว่า ต้องยอมรับว่าประเทศอังกฤษได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนค่อนข้างแข็งกร้าวมาตลอด และถือเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่นกรณีพม่า โดยอังกฤษเป็นประเทศแรกๆที่ขอร้องไม่ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพม่า ไม่ออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่า และมีหลายเรื่องที่อังกฤษทำ จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงมาก ดังนั้น ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่าอังกฤษจะมีปฏิกิริยากับไทยอย่างไรต่อไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยืนยันคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้าหรือวัตถุอื่นใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกว่า ทั้งตนและ ศอฉ. เข้าใจตรงกันว่าอะไรที่เป็นความผิดต่อส่วนรวมถือเป็นความผิดที่ต้องดำเนินการ คำสั่งนี้ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำงาน แต่อะไรที่เป็นความผิดส่วนบุคคล ศอฉ. จะไม่เข้าไปยุ่ง
“ถึงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในทางปฏิบัติเขาก็ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ทำอะไรแค่ไหน อย่างไร เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นการขัดแย้งหรืองัดข้ออะไร เพราะหลักการของผมกับ ศอฉ. ตรงกันคือ หากเป็นความผิดเกี่ยวกับบุคคลจะไม่ยุ่ง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยืนยันว่า คำสั่งของ ศอฉ. ไม่ได้เจาะจงว่าใช้เฉพาะคนสีไหน และจะบังคับใช้ต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย ไม่ให้มีความรุนแรง ไม่มีการหมิ่นสถาบัน
“เราจำเป็นต้องดำเนินการ ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย การใช้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องทำได้แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย” ผบ.ทบ. กล่าวและว่า ที่ผ่านมาตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจอะลุ้มอล่วยเต็มที่แล้ว หากมีการจับกุมก็ลงโทษสถานเบาแค่ปรับแล้วก็ปล่อย สิ่งที่เรามุ่งหวังจากคำสั่งของ ศอฉ. นี้คือทำสถาบันให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ใครก็ตามที่เอาของมาขายต้องรู้ดีอยู่แก่ใจแล้วว่าเข้าข่ายหมิ่นหรือไม่
ส่วนที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ยกเลิกคำสั่งนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้คุยกับนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านเพียงแต่บอกว่าให้ช่วยดูให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการปฏิบัติของเจ้า หน้าที่ ซึ่ง ศอฉ. ได้ประชุมกำหนดความชัดเจนไปแล้ว การออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องพิจารณาโดยคณะกรรมการของ ศอฉ. ไม่ได้ให้ใครกำหนดเพียงคนเดียว เราได้หารือกันแล้ว เมื่อได้ข้อยุติจึงมีมติและประกาศออกมา
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น