พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องบริหารความขัดแย้งจากแนวรบหลายด้าน
ด้านหนึ่งมาจากแนวรบฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ที่ตั้งตัวเป็นแนวต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550
ด้านหนึ่งมาจากแนวรบฝ่ายมวลชน-นอกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีทั้งฝ่ายที่เคยเป็นพันธมิตรในนามพรรคการเมืองใหม่ และแนวร่วมของฝ่ายค้านในนามของเครือข่าย นปช.
2 เครือข่าย 2 แนวรบ ที่มีเป้าหมายสุดท้ายต่างกัน แต่ทั้งสัญลักษณ์ ฝ่ายสีแดงและฝ่ายสีเหลืองต่างชิงลงมือในช่วงโค้งสุดท้ายของการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติ
ทั้ง นปช.และเพื่อไทยต้องการเงื่อนไขทั้งคว่ำรัฐบาลประชาธิปัตย์ และต้องการอิสระให้กับแกนนำ "เสื้อแดง"
ส่วนพรรคเพื่อไทย ในสภาผู้แทนราษฎร หวังจับมือสมาชิก "สภาสูง" คว่ำเกมแก้รัฐธรรมนูญ
ทั้ง 2 เกม 2 แนวรบ รุนแรง-รุกฆาตพรรคประชาธิปัตย์ จนยากจะขยับเขยื้อน
พรรคประชาธิปัตย์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงต้องเลื่อนวาระของคณะรัฐมนตรี และงานของฝ่ายบริหารให้พ้นจากแนวต้านนอกสภาผู้แทนราษฎรออกไปก่อน
พลันที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชัย ชิดชอบ บรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พลันที่เครือข่ายนักกฎหมายออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เสนอยกเลิกคําสั่งที่ 141/2553 ของ ศอฉ. ที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถยึดหรืออายัดสินค้าหรือวัตถุอื่นใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งตรงถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
พลันที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง แห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมี นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน สรุปข้อเสนอแนะ 5 ข้อ เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐาน ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี
เพื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ว่าด้วย "สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว" และ "หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย" (in dubio pro reo)
"คอป.จึงเห็นว่าหากไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยาน หลักฐาน หรือจะก่ออันตรายประการอื่นแล้ว ก็จะต้องปล่อยตัวหรือปล่อยชั่วคราวในทุกกรณี หรือการปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อความรุนแรงโดยตรง เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่สามารถพิสูจน์ถึงเหตุที่จะสามารถควบคุมตัวได้"
ข้อเสนอเพื่อความ "ปรองดอง" เกี่ยวเนื่องไปถึงกระบวนการยุติธรรมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
สัญญาณที่ไปถึงศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุด จึงเป็น "รายงาน" ที่สรุปตรงกันว่า
"การปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราว ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการ ในการสร้างความปรองดองในชาติ"
ข้อเสนอจากมวลชน-องค์กร "นอกสภา" ส่งสัญญาณยื่นเงื่อนไขบรรทัดสุดท้าย ให้ปล่อย 7 แกนนำพ้นคุก
สำทับด้วยข้อเสนอของ "จาตุรนต์ ฉายแสง" จากเครือข่ายพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนแนวคิดก้าวหน้าตามหลัก ปรัชญากฎหมาย นิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนของ "ดร.คณิต" อันจะเป็น "กุญแจ" ที่ทั้งฝ่ายตุลาการ-ศาล และรัฐบาล จะใช้ไขรหัสให้ 7 แกนนำได้รับการปล่อยตัว
ทุกแนวรบ แนวต้าน แตกต่างหลากประเด็น
เฉพาะอย่างยิ่งแนวรบของ "พันธมิตร" ที่นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ที่ปรากฏตัวแสดงจุดยืน ก่อนเรียกสมาชิกลงสู่ท้องถนนหน้าอาคารรัฐสภา "คัดค้าน" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เหตุผลหลักในการคัดค้านยังอยู่ในวาระ-สาระ ที่ว่าด้วย "การลดทอนพระราชอำนาจ" และ "วาระซ่อนเร้น" ในการ "นิรโทษกรรม" ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ตัวแทนพันธมิตรประกาศว่า "พรรคการเมืองใหม่เสนอทางออกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งว่า รัฐบาลควรถอนวาระออกมาก่อนแล้วดำเนินการจัดให้มีการ ออกเสียงประชามติสอบถามความเห็นประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่"
ทั้งเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ-เกมกดดันปล่อยตัว 7 แกนนำ นปช. และการปลดภาระ-พันธะจาก "ม็อบพันธมิตร" ยังเป็นวาระเร่งด่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจ ไม่พิจารณา
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น