--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จ.บึงกาฬเป็นหมันกฤษฎีกาค้าน กระทบสัดส่วนเลือกตั้ง

กฤษฎีกาค้านตั้งจ.บึงกาฬ ชื่อไม่เหมาะ กระเทือนแบ่งเขตเลือกตั้งกระทบจำนวนส.ว. ไม่เป็นไปตามรธน. ชาวอ.เฝ้าไร่ไม่ย้ายรวม

จากรายงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ....ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยพบหลายประเด็นอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งเรื่องชื่อจังหวัด การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงการเลือกตั้งและการสรรหา ส.ว.

เรื่องชื่อจังหวัด คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตว่า ในการกำหนดชื่อ จ.บึงกาฬ แม้ว่าจะมาจาก อ.บึงกาฬ แต่ก็เป็นเพียงอำเภอหนึ่งในบรรดา 8 อำเภอที่แยกออกมาจาก จ.หนองคาย และโดยความสำคัญในทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์แล้ว ก็เคยเป็นเพียงชื่อบึงขนาดเล็ก แต่โดยที่การตั้งชื่อจังหวัดควรคำนึงถึงความรู้สึกของราษฎรในอำเภออื่น การมีความหมายที่ดี เป็นมงคล และสื่อความหมายถึงประวัติความเป็นมาของท้องที่ด้วย เช่นเดิมใช้ชื่อว่าเมืองไชยบุรี เป็นต้น

อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดนี้ อาจตราขึ้นเวลาใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 7 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 อาจขอพระราชทานชื่อจังหวัดเช่นเดียวกับกรณีการตั้งอำเภอใหม่ในระยะหลังก็ได้

เรื่องสัดส่วนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตว่า โดยที่ จ.หนองคาย แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 2 แต่ละเขตมี ส.ส.ได้ 3 คนในการตั้ง จ.บึงกาฬ ร่างกฎหมายได้กำหนดให้ ส.ส.ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.หนองคาย ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เป็น ส.ส.หนองคาย และให้ ส.ส.ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.หนองคาย ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เป็น ส.ส.ที่ได้รับเลือกจาก จ.บึงกาฬ

แต่ปัญหาก็คือ ในการแบ่งเขต จ.บึงกาฬ มีประเด็นเกี่ยวกับ อ.เฝ้าไร่ ซึ่งอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 และควรจะต้องอยู่ในเขต จ.บึงกาฬ แต่ราษฎรในเขต อ.เฝ้าไร่ ไม่ประสงค์จะให้ย้ายอำเภอไปอยู่รวมใน จ.บึงกาฬ ดังนั้นจึงทำให้ราษฎรในเขตเลือกตั้ง จ.หนองคาย มีจำนวนมากกว่าราษฎรในเขตเลือกตั้ง จ.บึงกาฬ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสัดส่วนจำนวนราษฎรที่นำมาคำนวณเป็นเกณฑ์จำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ในแต่ละเขตจังหวัดสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป

นอกจากนั้น ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.ของ จ.บึงกาฬ ด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 111 วรรค 1 และ 2 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาซึ่งมีจำนวนเท่ากับ ส.ว.ทั้งหมด หักด้วยจำนวน ส.ว.ที่มาจากเลือกตั้ง และในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดจังหวัดในระหว่างวาระของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงปัจจุบันมี ส.ว.จำนวน 150 คน แบ่งเป็น ส.ว.สรรหา 74 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และจะครบวาระในเดือนก.พ.2554 และส.ว.จากการเลือกตั้ง 76 คน จาก 76 จังหวัด มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี จะครบวาระในเดือนมี.ค.2547 ดังนั้น เมื่อร่างพ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งและการสรรหาส.ว. ดังต่อไปนี้

1.กรณีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับก่อนครบวาระ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการสรรหา ส.ว.จำนวน 73 คน โดยต้องลดจำนวน ส.ว.ที่มาจากการสรรหาลง 1 คน (เพราะจังหวัดเพิ่มเป็น 77 จังหวัด) แต่ กกต.ก็ยังไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.บึงกาฬ ได้ทันที เนื่องจากมาตรา 111 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดจังหวัดในระหว่างวาระของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

ดังนั้น เมื่อดำเนินการสรรหา ส.ว.จำนวน 73 คนแล้ว และนำมาคำนวณรวมกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง 76 จังหวัด ก็จะประกอบด้วย ส.ว. 149 คน ซึ่งจะไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 111 วรรค 1 และจะต้องคงจำนวน ส.ว.149 คน จนกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งต่อไป โดยกรณีนี้ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.บึงกาฬได้ เนื่องจากการว่างของตำแหน่ง ส.ว.ของ จ.บึงกาฬ ไม่ได้มีเหตุมาจากมาตรา 120 ของรัฐธรรมนูญ

2.ในกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับหลังครบวาระ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา โดย กกต.ได้จัดให้มีการสรรหาวุฒิสภาครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ต่อมา ร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ และได้มีการจัดตั้ง จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดลำดับที่ 77 ของประเทศไทย กกต.ก็ยังไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.บึงกาฬได้ เนื่องจากมาตรา 111 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในระหว่างการเพิ่มหรือลดจังหวัดในระหว่างวาระของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ โดยกกต.จะสามารถจัดการเลือกตั้งส.ว.บึง
กาฬได้ เมื่อครบวาระส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง เดือนมี.ค.2557

ในกรณีนี้หากคำนวณตาม ส.ว.ที่มาจากการสรรหา 74 คน และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน จะได้จำนวนรวมของ ส.ว. 151 คน เกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 111 วรรค 1

3.ในกรณีที่สมาชิกภาพของ ส.ว.หนองคายที่มาจากการเลือกตั้งต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 119 ของรัฐธรรมนูญในระหว่างปี 2554-2557 ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น จะต้องดำเนินการอย่างไร และจังหวัดใดจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ดังกล่าว เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดิมมาจากพื้นที่ทั้ง จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น