--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

'ออง ซาน ซูจี' เสรีภาพที่ถูกจองจำเป็นเวลานาน15ปี

โดย : ทีม Researcher&Rewriter

"ออง ซาน ซูจี"เสรีภาพที่ถูกจองจำ "ถ้าประชาชนของฉันไม่เป็นอิสระ จะพูดได้เต็มปากอย่างไรว่าฉันเป็นอิสระ ไม่ว่าจะมีอิสระหรือไม่ก็ตาม"

ออง ซาน ซูจี ถ้าวันนี้เธอได้รับการปล่อยตัว โลกจะบันทึกว่านี่เป็นอิสรภาพครั้งที่ 3 บนแผ่นดินเกิดของเธอ นับจากวันที่เธอหวนคืนสู่มาตุภูมิและถูกจองจำครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยไม่มีข้อกล่าวหาใด ๆ จากรัฐบาลทหารพม่า

ฉะนั้นแล้ว วันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่รัฐบาลมีคำสั่งกักขังเธอภายในบ้านพักเป็นเวลา 18 เดือน โลกภายนอกจึงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในพม่าอย่างใกล้ชิด และดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญยิ่งเสียกว่าการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่ทางการพม่าจัดขึ้นและเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นั่นเพราะประชาคมโลกไม่เคยวางใจในคำมั่นสัญญาใด ๆ ภายใต้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่าเลย

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ประชาคมโลก หรือแม้แต่บรรดาสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ที่ ซูจี เป็นผู้นำเองก็ยังวิตกอยู่ว่า รัฐบาลพม่าจะมีสิ่งใดเป็นข้ออ้างเพื่อพันธนาการเธอไว้ในเขตรั้วที่ขีดกั้นเสรีภาพไว้ภายนอกอีกหรือไม่ เพราะ 3 ครั้งที่ ซูจี ถูกกักขัง รัฐบาลพม่าไม่เคยมีเหตุผลใด นอกจากการออกคำสั่งและบีบบังคับ ซึ่งในประเทศเผด็จการไม่มีใครสามารถขัดขืนได้
เส้นทางที่ไร้อิสรภาพ

ซูจี ถูกกักขังครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532 หลังจากที่เธอเดินทางกลับมาบ้านเกิดที่ย่างกุ้ง เมื่อปลายเดือน มีนาคม พ.ศ. 2531 ในวัย 43 ปี เพื่อมาพยาบาล ดอว์ขิ่นจี มารดาที่กำลังป่วยหนัก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พม่ากำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างหนัก เริ่มจากประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 25 จัต 35 จัต และ 75 จัต โดยไม่ยอมให้มีการแลกคืนทำให้เงินร้อยละ 75 หายไปจากตลาดเงิน นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งประท้วงด้วยการทำลายร้านค้า ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามเป็นจลาจล ประชาชนทั่วประเทศออกมาประท้วงกดดันรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับนักศึกษา และประชาชน จนในที่สุดนายพลเนวิน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) ที่ยึดอำนาจการปกครอง ประเทศพม่ามานานถึง 26 ปี

หลังการลาออกของนายพลเนวิน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ส่งผลให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนตามมาอีกหลายแสนคนในกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า ก่อนที่การชุมนุมจะแพร่ลามไปทั่วประเทศ จนผู้นำทหารได้สั่งการให้ใช้อาวุธสลายการชุมนุมเป็นผลให้ประชาชนหลายพันคนเสียชีวิต ทั่วโลกรู้จักเหตุการณ์นี้ในนาม "เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 (ค.ศ. 1988)"

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 อองซานซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้ง "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" หรือ สลอร์ค (the state law and order restoration council : slorc) ขึ้นแทน รวมทั้งได้ทำการปราบปรามสังหารและจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน ขณะที่ ซูจี และกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ยังคงเดินหน้าต่อสู้ต่อไป โดยร่วมจัดตั้ง "พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย" หรือเอ็นแอลดี (national league for democracy: nld) ขึ้นมา และเลือก ซูจี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเมื่อ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2531

ซูจี และ พรรค เอ็นแอลดี ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 รัฐบาลทหารพม่าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งกักบริเวณ ซูจี ให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรก เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีข้อหา และได้จับกุมสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่เรือนจำอินเส่ง ซูจี อดอาหารเพื่อประท้วงและเรียกร้องให้นำเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ต่อมาเธอยุติการอดอาหารประท้วงเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารให้สัญญาว่าจะปฏิบัติต่อสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีซึ่งถูกคุมขังไว้ในเรือนจำเป็นอย่างดี

แม้ว่า ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ แต่พรรคเอ็นแอลดีของเธอกลับได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 แต่รัฐบาล สลอร์ค กลับไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ ทั้งยังยื่นข้อเสนอให้ ซูจี ยุติบทบาททางการเมืองด้วยการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ เธอปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณ อองซานซูจี จาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มเป็น 6 ปีในเวลาต่อมา

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ประกาศให้ ซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เธอไม่มีโอกาสเดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อเล็กซานเดอร์และคิม บุตรชายเธอ เดินทางไปรับรางวัลแทนที่กรุงออสโล อเล็กซานเดอร์กล่าวกับคณะกรรมการและผู้มาร่วมเป็นเกียรติในพิธี

"ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ"

ซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรก วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 แต่เธอไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เพราะถูกห้ามไม่ให้ปราศรัยต่อหน้าฝูงชน และยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปทุกแห่ง แต่ ซูจี ก็เลือกที่จะต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี โดยการเขียนจดหมาย และบันทึกวิดีโอเทป เพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ. 2541 ซูจี ได้เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ทางการพม่าที่สกัดกั้นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของเธออีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเธอนั่งประท้วงอยู่ในรถยนต์นานถึง 5 วัน หลังจากถูกตำรวจ สกัดไม่ให้รถยนต์ของเธอเดินทางออกจากย่างกุ้งเพื่อไปพบปะกับสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย และอีกครั้งเธอถูกสกัด ไม่ให้เดินทางไปพบปะสมาชิกพรรค เธอใช้ความสงบ เผชิญหน้า กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาถึง 6 วัน จนเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมด และถูกบังคับให้กลับที่พัก

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ซูจี และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สกัดไม่ให้เดินทางออกจากย่างกุ้งเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอีกครั้ง และเธอ ได้เผชิญหน้าอย่างสงบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนานถึง 9 วัน และ 2 สัปดาห์ต่อมา ซูจี พร้อมคณะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเดินทางไปที่สถานีรถไฟ เพื่อซื้อตั๋วโดยสารทางออกจากเมืองร่างกุ้ง แต่รัฐบาลได้ส่งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษ ไปควบคุมตัวเธอกลับบ้านพัก พร้อมทั้งวางกำลัง เจ้าหน้าที่ควบคุมจุดต่าง ๆ บนถนนหน้าบ้านพักของนางซูจี ไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าพบปะ เยี่ยมเยียนเธอ

ซูจี ถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดอีกเป็น ครั้งที่สอง เป็นเวลา 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543 และได้รับอิสรภาพ จากการกักบริเวณครั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545

หลังจากนั้นอีกเพียง 1 ปี วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2546 เกิดเหตุปะทะกันระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุน ซูจี ระหว่างที่เธอเดินทางไปพบปะกับประชาชนในเมืองเดพายิน ทางตอนเหนือของพม่า ทำให้ ซูจี ถูกสั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่สาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

พ.ศ. 2550 มีการประท้วงของพระสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชน ที่ไม่พอใจการประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบเท่าตัว และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึง 5 เท่าอย่างฉับพลันโดยมิได้ประกาศแจ้งบอกของรัฐบาลทหารพม่า การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยมาเมื่อรวมผู้ประท้วงแล้วมากกว่า 1 แสนคน การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การประท้วงเมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน ในการใช้กำลังทหารเข้าสลายการประท้วง

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 นายจอห์น ยัตทอว์ ชาวอเมริกัน ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปยังบ้านพักที่ ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ เขาอาศัยอยู่กับ ซูจี เป็นเวลาสองคืน ก่อนจะว่ายน้ำกลับมายังอีกฝั่งและถูกทหารพม่าจับกุมตัวในที่สุด ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ซูจี ถูกจับกุมตัวและนำไปคุมขังในเรือนจำอินเส่ง ในข้อหาละเมิดคำสั่งกักบริเวณของรัฐบาลทหารพม่า วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลพม่าอ่านคำพิพากษาว่า ซูจี มีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงภายในประเทศมีโทษจำคุก 3 ปี แต่รัฐบาลทหารพม่าให้ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 18 เดือน และไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอินเส่ง แต่ให้กลับไปถูกควบคุมตัวในบ้านพักเช่นเดิม

โทษครั้งนี้ทำให้ ซูจี อาจไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 ขณะที่ จอห์น ยัตทอว์ ถูกศาลสั่งจำคุกและใช้แรงงานเป็นเวลา 7 ปี ตามความผิด 3 ข้อหา ซึ่งประกอบด้วยความผิดข้อหาละเมิดความมั่นคง 3 ปี เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย 3 ปี และว่ายน้ำอย่างผิดกฎหมายในที่ห้ามว่ายเป็นเวลา 1 ปี

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 เป็นวันครบกำหนดการกักบริเวณ ซูจี เป็นเวลา 18 เดือนนับจากที่เธอถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำอินเส่ง ขณะที่สถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ ได้ออกวีซ่าให้บุตรชายคนเล็กของ ซูจี เดินทางไปพม่าแล้ว เพื่อพบกับมารดา ที่ไม่ได้พบหน้ากันมานานนับ 10 ปี ด้านอดีตสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ช่วยทำความสะอาดสำนักงานใหญ่ของพรรค ในนครย่างกุ้ง เพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับนางซู จี ตอนที่เธอได้รับการปล่อยตัว ซึ่งคาดว่าจะมีอดีตสมาชิกและผู้สนับสนุนทั่วประเทศเดินทางมารวมตัวกันที่นครย่างกุ้งวันครบรอบ 18 เดือน ของการกักบริเวณในบ้านพัก ท่ามกลางการเสริมกำลังรักษาความปลอดภัยในนครย่างกุ้งของทางการพม่า

ออง ซาน ซูจี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2488 บิดาของเธอคือ นายพล ออง ซาน ผู้นำการเรียกร้องเอกราชของพม่า ซึ่งถูกสังหารเสียชีวิตเมื่อเธอมีอายุเพียง 2 ขวบ ซูจีได้สมรสกับ ศาสตราจารย์ ดร. ไมเคิล อริส อาจารย์สอนวิชาทิเบตศึกษา ที่สถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร มีบุตรชายสองคน คือ อเล็กซานเดอร์ และคิม ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล อริสได้เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งในปี พ.ศ. 2542 โดยรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของพม่า ได้กำหนดไว้ว่าชาวพม่าที่สมรสกับคนต่างชาติ จะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซูจี จึงหมดสิทธิ์ลงสมัคร

ซูจี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาที่เซนต์ฮิวส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระหว่างปี พ.ศ. 2507-2510 และเคยเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้ คณะกรรมการที่ปรึกษา ด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณ และการจัดการของสำนักงานเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ ขณะนั้น อูถั่น ซึ่งเป็นชาวพม่า ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของ องค์การสหประชาชาติ

คำพูดของเธอทิ้งไว้ให้คิดหลังถูกกักบริเวณนานถึง15ปี จนกว่าได้รับการปล่อยตัวจากรัฐบาลทหารพม่าว่า "ถ้าประชาชนของฉันไม่เป็นอิสระ จะพูดได้เต็มปากอย่างไรว่าฉันเป็นอิสระ ไม่ว่าจะมีอิสระหรือไม่ก็ตาม"

เป็นเรื่องราวที่"อองซาน ซู จี"ผู้แสวงหาเสรีภาพ ที่ไม่ใช่ตัวนางผู้เดียว แต่นั่นคือประชาชนชาวพม่าที่จะร่วมไปกับนางทั้งประเทศ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
**************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น