--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผีตัวที่ ธปท.กลัวไม่มี มีแต่ผีที่ ธปท.ไม่เห็นและไม่กลัว

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เท่าที่ฟังดูมาตลอด ตั้งแต่คบกับผู้หลักผู้ใหญ่ใน ธปท.ระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ผจก.คนเก่าหรือคนใหม่ รวมถึงประธานคณะกรรมการ ธปท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านประธาน ธปท.ตั้งแต่สมัยท่านเป็น ผจก. ธปท. คือกลัวว่าจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อจากปริมาณเงินในระบบมากเกินไป กลัวว่าจะถูก "กองทุนอีแร้ง" โจมตีอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ดังนั้นจุดมุ่งหมายของนโยบายดอกเบี้ยต้องมีไว้เพื่อจุดมุ่งหมายป้องกันเหตุร้ายอันจะเกิดจาก "เงินเฟ้อ" และการถูกโจมตีจากกองทุน "อีแร้ง"

ที่ว่า ธปท.ไม่เข้าใจสามัญลักษณะของเศรษฐกิจประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กอื่น ๆ มีลักษณะที่ไม่เหมือนในตำราเศรษฐศาสตร์ทั่ว ๆ ไปที่อ่านกันในห้องเรียน

เศรษฐกิจประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนานั้น มีลักษณะที่เรียกกันว่าเป็น "เศรษฐกิจเล็กและเปิด" หรือฝรั่งนิยม เรียกว่า "Small and Open Economy"

ที่ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่เล็ก ก็เพราะว่าเล็กเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของโลกกล่าวคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของเรามีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก ต่างกับสหรัฐ ยุโรป จีน อินเดีย หรือรัสเซีย กิจกรรมหรือพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของไทยไม่กระทบกระเทือนเศรษฐกิจโลกหรือตลาดโลกในทุกเรื่อง แต่กิจกรรมของโลกกระเทือนเราทุกเรื่อง เราจึงเป็นผู้ตามตลาดโลก ไม่ใช่ผู้นำตลาดโลก เป็น market taker ไม่ใช่ market maker ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้าหรือบริการ ตลาดทุนและตลาดเงิน หรือที่เรียกรวมกันว่า ตลาดการเงิน

ที่ว่าเป็นตลาดเปิดก็เพราะสินค้าและบริการ รวมทั้งตลาดการเงินของเราเปิดเชื่อมโยงกับตลาดโลกทั้งนั้น จะสกัดกั้น โดยการควบคุมก็ทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย เราต้องอาศัยเครื่องมือทั้งทางการเงินและการคลังเข้าแทรกแซงผ่านทางตลาดภายในประเทศ

ลองมาดูตลาดสินค้าและบริการ สินค้าของเราส่วนใหญ่ก็เชื่อมโยงกับตลาดโลกทั้งนั้น ไม่ว่าจะในฐานะเป็นสินค้าส่งออก หรือสินค้าที่นำเข้า หรือที่ตำราเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "tradable goods" เช่น น้ำมัน ถ่านหิน วัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำมาผลิตสินค้าสำเร็จรูปเป็นสินค้านำเข้า ส่วนข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาล สินค้าจากภาคอุตสาหกรรมส่งออก รถยนต์ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นทั้งสินค้าส่งออกและนำเข้า

สินค้าเหล่านี้ราคาภายในประเทศจะเท่ากับราคาส่งออกหรือนำเข้า ที่กำหนดในตลาดโลกเมื่อคูณกับอัตราแลกเปลี่ยน หรือพูดง่าย ๆ ว่า เมื่อแตกเป็นเงินบาทบวกกับภาษีขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้า ส่วนสินค้าส่งออกไม่มีภาษีขาออกและภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถ้าราคาภายในประเทศแตกต่างไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่เราผลิตเองหรือสินค้านำเข้า ก็จะมีพ่อค้ารายอื่นแย่งซื้อไปส่งออกทำกำไร หรือมีพ่อค้ารายอื่นแย่งกันนำเข้ามาขายเอากำไร ราคาภายในก็เลยเท่ากับราคาภายนอก

ไม่ว่าไทยเราจะมีความต้องการสินค้ามากหรือน้อยและบริการจะสูงจะต่ำ ก็จะไม่มีผลต่อราคาสินค้าประเภทนี้เพราะเราเป็นผู้ตามตลาด หรือ price taker แต่จะมีผลต่อภาพการส่งออกและนำเข้า

แต่อย่างไรก็ตาม มีสินค้าบางอย่างที่ เรานำเข้ามาก็ไม่ได้ ส่งออกก็ไม่ได้ เช่น ที่ดิน ผักที่เน่าเสียง่าย หรือส่งออกนำเข้าได้เหมือนกัน แต่มีกำแพงธรรมชาติกั้นการ ส่งออกและนำเข้ากล่าวคือ "ค่าขนส่ง" เพราะเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง มุงหลังคา หรือขนส่งไปไกล ๆ ได้ยาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้นิยมเรียกกันว่า "nontradable goods"

สินค้าประเทศส่งออกนำเข้าไม่ได้ หรือได้ก็มีสัดส่วนของค่าขนส่งสูง ราคาสินค้าเหล่านี้อาจจะไม่ขึ้นอยู่กับตลาดโลก ถ้าความต้องการมีสูงขึ้น และกำลังการผลิตได้ใช้หมดแล้ว ราคาก็จะถีบตัวสูงขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำความต้องการมีน้อยราคาก็จะลดลง

สินค้าที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ "ภาคอสังหาริมทรัพย์" เราจึงมักจะเห็นได้เสมอว่า เวลาเศรษฐกิจร้อนแรงราคาอสังหาริมทรัพย์ก็จะทะยานสูงขึ้นก่อนใคร เวลาเศรษฐกิจซบเซาราคาก็จะตกก่อนใคร ไม่ค่อยเชื่อมโยงกับราคาตลาดโลกมากนัก แต่อสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ได้มีสัดส่วนมากนักถ้าเทียบกับเศรษฐกิจส่วนรวมทั้งหมด แต่อาจมีสัดส่วนในตลาดสินเชื่อมาก เวลาผันผวนจะกระทบธนาคารพาณิชย์มากกว่าภาคอื่น ๆ

อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจเล็กและ เปิดของเรา จึงขึ้นอยู่กับราคาสินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน เหล็ก อะลูมิเนียม ข้าว ยางพารา และราคาสินค้าส่งออก เช่น อาหารสำเร็จรูป ข้าว ไก่ เนื้อ หมู ยางพารา และสินค้าส่งออกอื่น ๆ ในตลาดโลก เศรษฐกิจของเราอัตราเงินเฟ้อ เป็นผลจากราคาอสังหาริมทรัพย์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย ส่วนมากจะขึ้นอยู่กับราคานำเข้าพลังงานและราคาอาหารตามฤดูกาล

ดังนั้น การขึ้นลงดอกเบี้ยของเราจึงไม่เกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อเลย จะมีก็ ส่วนน้อยเฉพาะราคาบ้านและที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเท่านั้น ซึ่งออกมาในรูป "ค่าเช่า" ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากใน "ดัชนีผู้บริโภค"

การใช้สูตร "เป้าหมายเงินเฟ้อ" หรือ Inflation Targeting" โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการปรับเงินเฟ้อ จึงไม่ตรงกับลักษณะของเศรษฐกิจไทย เคยเสนอให้เลิกเสีย ธปท.ก็ไม่ฟัง ถ้าจะมีก็ควรเป็น เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน หรือ "Exchange Rate Targeting" ก็ไม่เอา ทั้ง ๆ ที่ ธปท.ก็อธิบายไม่ได้

ผีตัวที่ ธปท.กลัวจึงไม่มี

ส่วนตลาดทุนและตลาดเงิน รวมทั้งตลาดเงินตราต่างประเทศ หรือที่เรียกรวมกันว่า ตลาดการเงินของเราก็เป็นตลาดเล็กและเปิดเช่นเดียวกัน เราก็ไม่ควรใช้วิธีควบคุมเหมือนกันเพราะจะทำให้เกิด "ตลาดมืด" แต่อาจจะควบคุมไม่ให้ชาวต่างประเทศเปิดบัญชีเงินบาทในต่างประเทศได้ ถ้าจะเปิดก็มาเปิดในประเทศไทยเพราะควบคุมสถาบันการเงินในประเทศได้ ในต่างประเทศควบคุมไม่ได้ ดังเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเขาก็ส่งออกนำเข้าไม่ให้ทำในรูปเงินบาท ต้องทำในรูปของเงินตรา ต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

เมื่อเป็นตลาดเล็กและเปิด กองทุนต่าง ๆ จึงสามารถเข้าออกมาปั่นตลาดของเราได้ง่ายเพราะใช้เงินไม่มาก เราจึงต้องเข้าแทรกแซงผ่านตลาดการเงินให้ได้ เช่น กำหนดเป้าหมายของอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ทำให้ค่าเงินของเราสูงเกินกว่าธรรมชาติ ต่ำกว่าธรรมชาติไม่เป็นไร แต่อาจจะทำให้สิ่งของในประเทศเราแพงเกินไป

เมื่อกำหนดเป้าหมายไม่ให้แข็งเกินไป ถ้าเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาก็ต้องเอาเงินบาทรับซื้อไว้ในอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด หรือที่เป็นเป้าหมาย

เมื่อนำเงินบาทออกมาซื้อเงินตราต่างประเทศเข้าเก็บเป็นทุนสำรองมากขึ้น ปริมาณเงินบาทหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น คนมีเงินมากขึ้น ความต้องการสิ่งของทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะเพิ่มขึ้นเพราะนำเข้าอสังหาริมทรัพย์มาจากต่างประเทศเข้ามาขายแข่งไม่ได้ แต่สิ่งของอย่างอื่นราคาจะไม่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีความต้องการมากขึ้นก็นำเข้ามาขายมากขึ้น ราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเลวลง ถ้าเราเกินดุลก็จะเกินดุลน้อยลง ถ้าขาดดุลอยู่ก็จะขาดดุลมากขึ้น ทุนสำรองก็เพิ่มขึ้นช้าลงหรือไม่ก็ลดลง ถ้าทุนสำรองมีมากเกิน ความจำเป็นอย่างทุกวันนี้ก็ไม่ต้องกลัว ถ้าไม่ต้องการให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปก็ออกพันธบัตรมาซับเงินบางส่วนออกไปเสียโดยยอมจ่ายดอกเบี้ย

บทบาทของดอกเบี้ยก็อยู่ตรงที่ว่า ของเราสูงกว่าหรือต่ำกว่าดอกเบี้ยของคู่กรณี ถ้าเป็นดอลลาร์ก็อเมริกา ถ้าดอกเบี้ยของเราสูงกว่าดอกเบี้ยอเมริกา ถ้าส่วนต่างมี ไม่มากก็ไม่เป็นไร ถ้ามากเงินดอลลาร์ก็ยิ่งไหลเข้ามามาก ถ้าต่ำกว่าดอกเบี้ยอเมริกาเงินก็ไหลออก

เงินก็เหมือนน้ำ น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ ส่วนเงินไหลจากที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่ที่ผลตอบแทนสูง กั้นอย่างไรก็ไม่อยู่ ถ้ากั้นไม่ดีก็เกิด "ตลาดมืด" ดังนั้นดอกเบี้ยจึงเหมือนประตูน้ำ แล้วแต่จะชักขึ้นหรือชักลง นายประตูน้ำอย่า "ด่าน้ำ" ว่าไหลออกหรือไหลเข้า ต้องด่าตัวเองว่าตั้งประตูน้ำอย่างไรกล่าวคือ กำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศไว้สูงต่ำอย่างไร

ถ้าปล่อยให้เป็นไปตาม "กลไกตลาด" คือปล่อยน้ำให้ไหลไปมาตามยถากรรมก็เป็นสวรรค์ของนักเก็งกำไรที่จะเข้ามาปั่นตลาดขึ้นลงทำกำไร ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเราผันผวนไปมาเหมือนสายน้ำที่ไม่มี ประตูน้ำ เดี๋ยวน้ำท่วมบาทก็แข็ง พอน้ำแห้งบาทก็อ่อน

ผู้คนในระบบเศรษฐกิจวางแผนอะไร ไม่ได้เลย เศรษฐกิจก็พัง ผีนั้นมีแต่เป็นคนละตัวกับที่ ธปท.กลัว ผีที่ว่าก็คือกองทุนเก็งกำไร โดยหลอกให้เราปล่อยให้เป็นไปตาม "กลไกตลาด" หรือปล่อยไปตามยถากรรม ธปท.กลับไม่เห็นและไม่กลัว ผีตัวนี้แหละที่หลอกเรา ไม่ให้ดูแลพวกเรา แต่ดอดมากินตับพวกเราตลอดเวลา จนเราไม่เติบโต ผีดูดเลือดตัวนี้น่ากลัว

สมัยก่อนตอนเงินไหลออกจนเราจะแย่ ทุนสำรองก็ไม่มีเพราะเราไปต่อสู้กองทุนอีแร้งหมด กลับตั้งดอกเบี้ยไว้ต่ำกว่าดอกเบี้ยอเมริกา เพราะปู่อลัน กรีนสแปน แกขึ้นดอกเบี้ยเอ้าขึ้นดอกเบี้ยเอา ผม จึงตะโกนบอก ธปท.ให้ขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่ฟังจนต้องเปลี่ยน ผจก.จึงขึ้นดอกเบี้ยได้ เงินก็ค่อย ๆ หยุดไหลออกจนกลายมาเป็นไหลเข้า

จะเอาอย่างจีนเขาไม่ได้ เขาจะตั้งดอกเบี้ยไว้สูงอย่างไรก็ได้เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเขาผูกกับ "ตะกร้าเงิน" ที่ไม่บอกว่าในตะกร้านั้นมีอะไร 5 โมงเย็นทุกวัน เขาประกาศอัตราแลกเปลี่ยนแล้วก็รับซื้อหมดถ้ามาขายเขา และขายหมดถ้ามาซื้อเขา อัตราแลกเปลี่ยนของเขาจึงไม่เกี่ยวกับ ดอกเบี้ยที่เขาตั้ง เขาเห็นว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ของเขาชักจะร้อนแรงก็ขึ้นดอกเบี้ย แต่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่คงเดิม คนจีนก็ทำมาค้าขายได้

ผีตัวที่ ธปท.กลัวจึงไม่มี มีแต่ผีที่ ธปท.ไม่เห็นและไม่กลัว

มีธนาคารกลางแบบนี้พวกเราก็มีแต่ตายกับตาย ถ้าเจอ ดร.ไตรรงค์ซึ่งเป็นเกลอกันก็จะบอกท่านว่า

"ผวกน่ายผูดหมายรู้ควัง"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ ออนำไลน์
************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น