--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่"หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล" เราไม่ใช่ไผ่ลู่ลม...แน่นอน !

"หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล" เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ ต่อจาก ดร.อักขราทร จุฬารัตน
        

ก่อนจะมาเป็นตุลาการ "หัสวุฒิ" เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และทำงานบริหารฝ่ายวิชาการในมหาวิทยาลัยมากว่า 10 ปี
 

หลายคนอาจไม่รู้ว่าประธานศาลปกครองสุงสุด คือผู้จุดประกายอยู่เบื้องหลังแนวคิดการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยเป็นคนแรก ๆ  
       

ท่ามกลางวิกฤตภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในองค์กรศาล เปิดใจคุยครั้งแรกกับ "หัสวุฒิ" อย่างตรงไปตรงมาในประเด็นที่หลายคนอยากรู้คำตอบ...   

@ ตั้งแต่เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด ภารกิจเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง            

ก็คงเปลี่ยนเพราะเราต้องดูแลเพิ่มมากขึ้น ทั้งตุลาการ ฝ่ายสำนักงาน และเจ้าหน้าที่ เป็นงานบริหาร งานคดีคงน้อยลง แต่จริง ๆ ผมชอบงานคดีมากกว่า (นะ) เพราะทำงานคดีสนุกกว่า แต่เราก็มีนโยบายต่าง ๆ ที่ชัดเจน ที่ได้พูดกับบุคลากรที่เป็นศาล ตุลาการ และเจ้าหน้าที่ชัดเจน เพียงแต่ตอนนี้จะทำยังไงที่จะทำให้นโยบายที่เราพูดไปเป็นจริงได้มากที่สุด ตรงนี้สำคัญ

 @ แนวนโยบายจะสานต่อจากคุณอักขราทร           

ถูกต้อง เพราะผมคิดว่านโยบาย เจตนารมณ์ หรืองานหลักของศาลเปลี่ยนไม่ได้ คงต้องดูแลเรื่องการให้ความยุติธรรม เพียงแต่การบริหารงานหรือวิธีทำงานเพื่อไปสู่ผลลัพธ์อาจจะต่างกัน

@ ช่วงปลายสมัยคุณอักขราทรมีคำพิพากษาอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ คดีมาบตาพุด และ 3 จี ศาลปกครองถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก ตรงนี้มีความเห็นอย่างไร             

ทั้ง 2 คดียังไม่อยากจะพูด เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด พูดไปคงไม่ค่อยจะเหมาะสม เรื่องนี้คงต้องปล่อยให้เป็นตุลาการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ ผมคิดว่า มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ที่จะวินิจฉัยหรือตัดสิน
             
ส่วนเรื่องการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผมคิดว่าคงต้องยอมรับว่ามันต้องมี เพราะการตัดสินคดีผมคิดว่าไม่ว่าจะออกมาทางใดทางหนึ่งก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญผมว่าอยู่ที่เหตุผลของคำตัดสินนั้นมากกว่า 

 @ คำวิพากษ์วิจารณ์ เช่น กรณี 3 จีว่าศาลฉุดรั้งความเจริญ มีผลกระทบต่อการพิจารณาของศาลบ้างหรือไม่            

อืม...ทำไมถึงมองว่าศาลเป็นคนฉุดรั้งความเจริญ (ล่ะ) ที่จริงที่มีปัญหาก็เพราะว่าฝ่ายบริหารทำงานไม่ครบถ้วนหรือเปล่า ตรงนี้น่าจะไปดูบ้างหรือเปล่า ที่จริงศาลก็เป็นเพียงองค์กรตรวจสอบสิ่งที่ได้ทำมาว่าถูกต้องหรือไม่ ครบถ้วนหรือไม่ แต่ศาลคงไม่มีหน้าที่ไปแก้ปัญหาเอง (มั้ง)
           
โดยเฉพาะศาลคงไม่มีอำนาจ ถ้าไม่มีการฟ้องคดีอยู่ ๆ เราจะไปพูดอย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่ได้ ฉะนั้นผมอยากจะบอกว่าทุกฝ่ายที่มีหน้าที่ก็ต้องดำเนินการทำหน้าที่ของตัวเองให้ถูกต้อง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกฎหมายเป็นหน้าที่ของใครก็ต้องแก้ไป และต้องรวดเร็วด้วย
           
สำหรับศาลเองคดีที่สำคัญหรือคดีจำเป็นเร่งด่วนที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศ เราก็พยายามรีบพิจารณาวินิจฉัยเพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเกิดผลเสียมาก หรือบางเรื่องถ้าการพิจารณาพิพากษาล่าช้าก็อาจจะเยียวยาไม่ได้ นี่ก็เป็นที่มาที่เราเสนอแก้กฎหมายของเรา เพื่อให้การทำงานของศาลมีความคล่องตัวขึ้น
           
 ในอนาคตเมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองได้แก้ไขแล้ว ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิจารณาคดี ซึ่งนั่นก็จะรวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาในคดีบางประเภท เพื่อให้คดีนั้นเสร็จลงได้โดยรวดเร็ว

 @ เสียงวิจารณ์อีกส่วนหนึ่งจากภาควิชาการ คือ ช่วงหลังศาลปกครองดูเหมือนจะเบรกรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่  ตรงนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร
             
ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น อย่างที่บอกคือศาลมีหน้าที่ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่มันยังไม่ได้ดำเนินการ เมื่อไม่ได้ดำเนินการแล้วมีปัญหาเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น ก็จำเป็นที่ศาลต้องชี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีมาบตาพุด หรือ 3 จี
              
จริง ๆ ผมว่าศาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้เจริญเช่นเดียวกัน ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องตั้งหน้าตั้งตาขัดขวางฝ่ายบริหารทำงาน คงไม่ใช่แน่นอน เพียงแต่ฝ่ายบริหารต้องทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง

@ ศาลปกครองในหลายประเทศ จะมีปฏิสัมพันธ์กับนักวิชาการที่สอนกฎหมายปกครองหรือกฎหมายมหาชน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่สอนกฎหมายในด้านนี้ อาจารย์รับฟังมากน้อยแค่ไหน                 

ผมรับฟังครับ รับฟังหมด แต่จะเห็นด้วยหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผมคิดว่าแต่ละคนพูดบนพื้นฐานและจุดยืนของตัวเขาเอง เบื้องหลังเราไม่รู้ว่าคืออะไร แม้ว่าบางครั้งจะถ่ายทอดมาทางคำพูดได้ แต่เราก็ไม่อยากจะก้าวล่วงว่าเขามีจุดยืนอย่างไร ฉะนั้นอยู่ที่เราว่าเมื่อเขาพูดแล้วเราจะรับฟังอย่างไรแค่ไหน            

ธรรมดามากเลยในการฟังเสียงสังคมภายนอกให้รอบด้าน ไม่ว่าจะฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายอื่น ๆ แต่ว่าเราคงไม่ใช่ไผ่ลู่ลม หรือเสาหลักปักขี้เลนแน่นอน ฉะนั้นเราก็ฟัง แต่ก็ต้องดูว่าสิ่งนั้นมันถูกต้อง มันควรจะแก้ไขก็ต้องรับไปแก้ไข ไม่ใช่ดื้อรั้น
       
แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง เราก็ต้องมีจุดยืนของเรา โดยเฉพาะเราเป็นองค์กรหนึ่งในอำนาจรัฐที่ควรจะเป็นเสาหลักของบ้านเมือง ไม่ใช่ลมแรงแค่ไหน แล้วเราจะลู่ไปตามลมไม่ใช่แน่นอน 

 @ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่านเป็นเด็กคุณอักขราทร             

ก็มีเสียงสะท้อนเหมือนกันว่า เด็กไป แต่ก็สงสัยว่าอายุเกิน 60 อย่างผม ถ้ารับราชการก็เกษียณแล้ว ยังเป็นเด็กอยู่อีกเหรอ ฉะนั้นก็ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นผู้ใหญ่
 แต่ผมคิดว่าผมมีความเป็นตัวของตัวเอง
             

@ ในช่วงคุณอักขราทร การเมืองค่อนข้างปั่นป่วนวุ่นวายจนมีกระแสเรื่องตุลาการภิวัตน์ ยุคสมัยอาจารย์ตุลาการภิวัตน์จะดำรงอยู่ แผ่วไปหรือปิดฉาก
              
ที่จริงตุลาการภิวัตน์ต้องถามว่ามันคืออะไร แต่การที่ตุลาการออกไปทำเรื่องการใช้อำนาจตุลาการ ผมคิดว่ามันไม่น่าเป็นเรื่องของตุลาการภิวัตน์ แต่คนก็มักจะพูดว่าเป็นตุลาการภิวัตน์
              
แต่ถ้าพูดว่าตุลาการเป็นคนหนึ่งหรือสมาชิกของสังคม เขาจะแสดงความคิดเห็นอะไรก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้นั้น แต่ไม่ว่าจะอะไร เพื่อให้ประเทศและสังคมดีขึ้น ผมคิดว่าเราคงไม่เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในที่ใดที่หนึ่งที่เขาจัดให้เราอยู่ ก็อยู่ คงไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นก็ต้องคอยดู
              
มีคนถามผมว่า ศาลปกครองแบกไว้ทุกอย่างจะทำยังไง ผมตอบว่าไม่หรอก เพราะเราแค่ชี้สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำมาว่าถูกไม่ถูก ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายมาว่าทำได้หรือไม่ได้ ส่วนการแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร หรือกฎหมายที่มันไม่ดี ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องไปดูสิ ศาลจะทำอะไรได้ก็แค่ชี้ตามกฎหมาย แต่เราก็ต้องดูเหมือนกัน ไม่ใช่สักแต่ใช้กฎหมาย ต้องดูว่ามันถูกมั้ย ถ้าเผื่อเราตัดสินโดยไม่อิงกฎหมายแล้วเราจะอิงอะไร หรืออ้างอะไร
              
แต่ผมยอมรับนะว่า ผมไม่ใช่คนรู้ทุกเรื่อง ฉะนั้นเรื่องที่ผมไม่รู้ ผมคงพูดไม่ได้ และผมคงไม่พูด โดยเฉพาะเรื่องที่มันเฉพาะลงไปมาก ๆ เพราะไม่อย่างนั้นผมคิดว่ามันจะเป็นการสร้างปัญหา ผมคิดว่าหลายสิ่งหลายอย่างในบ้านเมืองเราที่มีปัญหาขณะนี้ ก็เพราะคนที่ไม่ใช่ field ของตัวเอง คือพูดแล้วทำไม่ได้ หรือพูดแล้วตัวเองไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ มีแต่จะสร้างปัญหา ฉะนั้นสิ่งแรกเลยคือจะต้องปล่อยให้คนที่มีอำนาจหน้าที่ทำหน้าที่ของเขาก่อน ส่วนผมก็จะทำหน้าที่ในส่วนของผมให้ดี
              
จริง ๆ ผมอยากจะบอกว่า ผมคิดว่าผมทุ่มเทกับงาน และไม่ได้ต้องการอะไร ฉะนั้นการทำงานของผม ผมไม่หนักใจเท่าไร เพราะผมเป็นตัวของตัวเองมาก เพราะคนที่จะมาเป็นศาล ถ้าเรายืนอยู่บนจุดที่ถูกต้องแล้วก็พิจารณาอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหา แล้วผมก็ไม่กลัวด้วย

 @ 2 ปีมานี้คดีสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบศาลปกครองได้พัฒนาองค์ความรู้หรือความเป็นผู้เชี่ยวชาญคดีสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด                

 2 ปีก่อนเราประกาศให้ทราบว่า เราจะตั้งองค์คณะชำนาญการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นตุลาการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้มี แต่เราก็ไม่ได้หยุดยั้งแค่นี้ ทุกวันนี้เราก็พยายามสร้างตุลาการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะในอนาคตปัญหาข้อพิพาทเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะมีมากขึ้น ๆ
              
ฉะนั้น เรามีฝ่ายวิชาการซึ่งอันนี้ที่จริงแล้วผมเป็นคนคิดสมัยท่านอาจารย์อักขราทร ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งในการตัดสินคดี เพราะงานตุลาการก็มาก ฉะนั้นการค้นคว้าก็ควรจะต้องมีหน่วยงานสนับสนุน ฉะนั้นกรรมการวิชาการที่ผมคิดขึ้นมาอาจจะแตกต่างจากกรรมการวิชาการที่คนทั่วไปเข้าใจ
              
 "คือของผมเป็นด้าน ๆ ไปเลย ซึ่งปัจจุบันมี 3 ชุดแล้ว ในอนาคตน่าจะมีเพิ่มอีก แต่ที่มีอยู่แล้วก็คือ กรรมการวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม กรรมการวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายด้านการบริหารงานบุคคล กรรมการวิชาการเกี่ยวกับวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และคิดว่าอีกไม่นานจะตั้งคณะกรรมการวิชาการที่เกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความ"
             
อันนี้ก็จำเป็นเพราะเหตุว่ามันคงมีปัญหาในแง่ต่าง ๆ หรือการพัฒนาวิธีพิจารณาให้มันดียิ่งขึ้น คือเมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เช่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราก็กำลังคิดอยู่ว่า คดีสิ่งแวดล้อมมันเป็นคดีที่มีผลกระทบในวงกว้างมาก
             
ฉะนั้น เช่นวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมเรากำลังดูอยู่ว่าเราจะใช้วิธีพิจารณา ซึ่งเรากำลังคิดทำอยู่ อาจจะบอกได้อันหนึ่ง เช่น ต่อไปในอนาคตอาจจะให้ตัวตุลาการลงไปรับฟ้องเอง ก็หมายความว่าจะได้ข้อเท็จจริงที่ตุลาการจะรู้ทันที
           
 ในคดีปกครอง เมื่อฟ้องมาก็ต้องตรวจเงื่อนไขของการฟ้องก่อนว่า เงื่อนไขการฟ้องครบมั้ย ถ้าครบก็รับฟ้อง ฉะนั้นทุกวันนี้เส้นทางการฟ้องกระบวนการค่อนข้างยาวมาก แต่ถ้าตุลาการรับฟ้องเองก็เท่ากับเป็นการตรวจเงื่อนไขรับฟ้องไปในตัว
            
 "เมื่อรับฟ้องก็อาจจะส่งไปให้ผู้ถูกฟ้องทำคำให้การได้ทันทีภายในวันสองวัน อันนี้ยังเป็นความคิดแต่ก็ต้องคุยกันอีก ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาผมก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี" ถามว่ากรรมการวิชาการจะสนับสนุนการทำงานของตุลาการอย่างไร ก็คือปัจจุบันคดีปกครองมันเป็นคดีที่ซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น ตัวตุลาการเองก็ไม่ได้มีคดีเดียว เพราะฉะนั้นบางครั้งก็อาจจะติดปัญหาข้อกฎหมายว่าเรื่องนี้มันมีข้อกฎหมายเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว มีหรือไม่มี ก็อาจจะปรึกษามาที่กรรมการฝ่ายวิชาการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคดีจะเข้ามาที่กรรมการวิชาการ 
           
 แต่ตรงนี้อยากจะพูดให้ชัดเจนว่า การให้คำปรึกษากับความเป็นอิสระของตุลาการในการวินิจฉัยนั้น ตุลาการก็ยังคงมีความเป็นอิสระ ไม่ได้ผูกพันว่าจะต้องทำตามคำแนะนำกรรมการวิชาการหรือไม่ เขายังมีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ พูดง่าย ๆ คือเขาจะต้องหาคำตอบที่ดีที่สุด คือมีเหตุผลสนับสนุนที่เขาเห็นว่าถูกต้อง.

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น