--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

3 คน (กทช.) ยลตามช่อง นับถอยหลังภารกิจ กทช. ?

หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชะลอการดำเนินการออกใบอนุญาตบริการโทรศัพท์มือถือ 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ไม่ได้ทำให้อภิโปรเจ็กต์ 3G ล่มไม่เป็นท่าเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมภายใต้ความรับผิดชอบของ กทช.อีกด้วย โดยเฉพาะภารกิจที่มีความเกี่ยวพันกับคลื่นความถี่

ล่าสุดกับกรณีการอนุมัตินำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคม มีตั้งแต่อุปกรณ์อย่างสถานีฐานโทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงโทรศัพท์มือถือด้วย ซึ่งเดิม กทช.มอบอำนาจให้สำนักงาน กทช.ดำเนินการได้ เป็นต้น

เมื่อไม่มี 3G เมื่ออำนาจ กทช.มีปัญหา "รัฐบาล" เดินหน้าผลักดันแผนบรอดแบนด์แห่งชาติ และ กม.จัดตั้งองค์กรอิสระกสทช.เต็มตัว ถึงกระนั้นหลายฝ่ายมองว่าต้องใช้เวลาอีกเป็นปี กว่าจะมี "กสทช." มาทำหน้าที่แทน

ไม่ต้องพูดถึงว่าจะการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ได้เมื่อไร

มีโอกาสพูดคุยกับ กทช. "พนา ทองมีอาคม-สุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร และ นที ศุกลรัตน์" หลากหลายแง่มุม มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

- งานสำคัญหลายอย่างดูจะชะงักไป มีภารกิจในมือที่ต้องทำอะไรบ้างในขณะนี้

พ.อ.นที : ถึงประมูล 3G ไม่ได้ แต่หน้าที่ในการให้ความรู้ประชาชนเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังต้องทำ กำลังเตรียมการจัดการสัมมนาพร้อมโชว์เทคโนโลยี LTE วันที่ 4 -5 พ.ย.นี้ จะนำเทคโนโลยี TD-LTE จากสวีเดนของโซนี่ อิริคสัน มาโชว์ความเร็ว 80-100 Mbps เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไปเห็นเทคโนโลยี 4G บนคลื่น 2.3-2.5 GHz งานนี้จะจัดที่หอประชุม กทช. ใช้งบประมาณแค่เช่าช่องสัญญาณลิงก์ไปต่างประเทศประมาณ 80,000 บาทเท่านั้น

อีกงานที่กำลังเตรียมอยู่ ถือเป็นงานที่กำหนดอนาคตของประเทศเหมือนกัน อีก 2 สัปดาห์ถึงจะเปิดเผยได้ ต้องรอให้ บอร์ด กทช.มีมติอีกครั้ง

พนา : ตอนนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องวิทยุโทรทัศน์ และการเชื่อมต่อต่าง ๆ ที่กำลังพยายามผลักดันให้เกิดให้ได้ คือการสร้างสำนักงานกิจการวิทยุโทรทัศน์ ที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการด้านนี้ เพราะก่อนหน้านี้ กทช.ได้ให้ใบอนุญาตให้บริการเคเบิลทีวี วิทยุชุมชนไปแล้วจำนวนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานมากำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาต แต่จากนี้จะมีการให้ใบอนุญาตเพิ่มอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียง ว่าจะพิจารณาเบื้องต้นอย่างไรเกี่ยวกับกรอบอำนาจของตัวเอง

นอกนั้นก็มีงานอื่น ๆ ที่ประธานบอร์ด กทช.ได้รับมอบหมาย อาทิ การสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศในการให้ความรู้และการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการกำกับดูแลวิทยุกระจายเสียงไว้รองรับการทำงานขององค์กรกำกับดูแลใหม่ กสทช.ด้วย

สุรนันท์ : กำลังทำแผนบริการทั่วถึง ซึ่งต้องมีการปรับแผน จากเดิมที่เคยคิดว่าจะนำร่องไปพร้อมกับการออกใบอนุญาต 3G แต่เป้าหมายในแง่พื้นที่ยังคงเดิมคือขยายบริการบรอดแบนด์ไปยัง 45,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี

- คำสั่งศาลมีผลต่อการทำงานของ กทช. มาก

พนา : ต้องระมัดระวังรอบคอบอย่างสูง เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดคำสั่งศาล แต่ก็ยังมีงานอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ ไม่ใช่ต้องหยุดไปทั้งหมด

- กลัวมากไปหรือเปล่า

พนา : กทช.เข้าใจว่าการต้องทำงานด้วยความระมัดระวังแบบนี้ อาจทำให้เอกชนได้รับความไม่สะดวกบางอย่าง อาทิ เรื่องขออนุมัตินำเข้าอุปกรณ์ ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่เดิมมอบอำนาจให้สำนักงาน กทช.อนุมัติได้เอง แต่ขณะนี้ต้องให้บอร์ด กทช.กลั่นกรองอีกชั้นก่อนอนุมัติได้ เราก็ห่วงว่าจะกลัวเกินไปไหม แต่ก็จำเป็น เพราะทุกคนควรเคารพคำสั่งศาล

ก็มีเรื่องที่เอกชนยื่นขอนำเข้าโทรศัพท์รอเข้าบอร์ดพอสมควร จะเร่งดูให้เพื่อความรอบคอบและไม่ละเมิดคำสั่งศาล เพราะเข้าใจว่าทั้งประชาชนและผู้ประกอบการเสียประโยชน์ เราก็เห็นใจที่ธุรกิจต้องรับภาระค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยเพิ่ม และยังเสียโอกาสในการหารายได้ ยอมรับว่ากลายเป็นอุปสรรค แต่ไม่ได้ถึงขั้นรุนแรงมากนัก

- ทุกอย่างต้องเข้าบอร์ดหมดจะไหวหรือ

พนา : กทช.มีตั้ง 7 คน ต้องทำไหว แม้จะมีอุปสรรคบ้างก็ต้องทำให้ได้

- อุปสรรคอยู่ที่ไหน

นที : ศาลบอกว่าตอนนี้ยังไม่มีคณะกรรมการร่วมที่จะมาทำตารางคลื่นความถี่แห่งชาติ ทำให้ กทช.ต้องระวังในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่มาก ถ้าอะไรที่จำเป็นเกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง กทช.ก็ต้องอนุมัติ คือเป็นการตีความของกฎหมายที่มีความเห็นต่างกันอยู่ อย่างเรื่องวิทยุชุมชน กทช.ก็ทำโดยใช้อำนาจ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มีบทเฉพาะกาลให้ทำหน้าที่เป็น กสช.ได้ชั่วคราว

หลาย ๆ อย่างเป็นเรื่องที่ต้องตีความกัน

พนา : การทำงานต่าง ๆ ต้องการนโยบายและสิ่งแวดล้อมที่นิ่ง ถ้าไม่มีก็ทำให้การทำงานต่าง ๆ ทำได้ยาก เหมือนกำลังเตะฟุตบอล แต่ไม่รู้กติกาว่าเล่นแบบไหน หรือทำอะไรแล้วผิดกฎ

- สรุปค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดประมูล 3G ?

นที : คณะกรรมการกำลังเจรจากับเอกชน กำลังพยายามต่อรองลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ณ วันที่ศาลมีคำสั่ง ซึ่งได้ประชุมร่วมกันไปแล้ว 1-2 ครั้ง คงต้องรออีกสักพักถึงจะสรุปตัวเลขค่าใช้จ่ายได้

- วาระเร่งด่วนที่บอร์ดต้องพิจารณา

นที : ก็มีหลายวาระ อย่างล่าสุดมีมติไม่รับคำอุทธรณ์ของทีโอที เรื่องการจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายพิเศษ 3 หลัก 4 หลัก ที่ทีโอทีค้างชำระตั้งแต่ปี 2548 เป็นเงินกว่า 656.5 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นเลขหมายเก่าที่ใช้งานเองก่อนมี กทช. แต่จริง ๆ แล้วทีโอทีนำไปให้ผู้ประกอบการเอกชนอื่นใช้บริการ ซึ่งตามประกาศ กทช.เรื่องค่าธรรมเนียมเลขหมายถือว่าเข้าข่ายที่ทีโอทีต้องจ่ายค่าธรรมเนียม แต่ทีโอทีกลับยื่นหนังสือให้ กทช.ไปเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ เลขหมายเอง

กทช.ก็อาจต้องพิจารณาว่าจะฟ้องทีโอทีให้จ่ายค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ทั้งหมด หรือไม่ทีโอทีก็อาจฟ้อง กทช.ที่ไม่รับคำอุทธรณ์ก็ได้ ใคร ๆ ก็ฟ้อง กทช.ได้อยู่แล้ว

อีกเรื่องคือการขอคืนคลื่นเพื่อไปจัดสรรใหม่ โดยเฉพาะคลื่น 1900 MHz ของทีโอที ที่หลังเปิด 3G แล้วจะมีประมาณ 15 MB ที่ไม่ได้ใช้ แต่ทีโอทีอ้างว่าจะนำคลื่นที่เหลือนี้ไปเปิดให้บริการ 2G ซึ่งไม่มีความจำเป็น เพราะมี 3G อยู่แล้ว หากยึดคลื่นทั้งหมดไว้คนเดียวไม่เป็นธรรมกับคนอื่น

กทช.ต้องการดึงกลับมาให้คนอื่นใช้บ้าง โดยเฉพาะบริการด้านโมบายทีวี ที่จะเกิดขึ้นหลังตั้ง กสทช.แล้ว คงต้องอาศัยอำนาจจากประกาศรีฟาร์มมิ่งเข้าไปดำเนินการ

- กสทช.ที่ตั้งใหม่จะเจอปัญหาอะไรบ้าง

พนา : เป็นธรรมดาขององค์กรที่ตั้งใหม่ ที่ต้องเจอปัญหาเรื่องการใช้กฎหมาย การตีความกฎหมาย เพราะทุกอย่างเป็นของใหม่หมด ช่วงแรกยังไม่รู้ขอบเขตของอำนาจที่แน่ชัด ทำให้ต้องตีความกฎหมายเยอะ

ขณะที่การเซตโครงสร้างองค์กรใหม่ การจัดบ้านใหม่คงโกลาหล เพราะต้องรับช่วงของเก่า และต้องหารูปแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมาย

นที : เรื่องนี้ตอบได้ยากว่าจะต้องใช้เวลาเซตตัวแค่ไหน อยู่ที่ว่า กสทช.ชุดใหม่จะมีความเห็นสอดคล้อง มีกระบวนการทำงานเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่ ยิ่งใน 1 องค์กรแบ่งงานเป็น 2 ส่วน และเป็นของใหม่ทั้งนั้น จะให้ตั้งขึ้นมาแล้วเดินหน้าทำงานได้เลย คงไม่สามารถ

สุรนันท์ : เป็นห่วงเรื่องที่มาและองค์ประกอบของกรรมการ กสทช. อาจมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ องค์กรนี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นอิสระ มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน แต่สิ่งที่เขียนในร่าง กม. กสทช.สะท้อนความเป็นอิสระหรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะมีการกำหนดให้เป็นตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ

ไม่ว่าจะกลุ่มไหน การกำหนดแบบนี้ เท่ากับสะท้อนให้เห็นการเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ได้ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของ กสทช.ควรมองภาพรวมและมองประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

การเปิดช่องให้มีการแทรกแซงจากการเมืองได้ก็น่าเป็นห่วง กรณีองค์ประกอบของกลุ่มตัวแทนไม่ครบ

ผมยังคิดว่ากระบวนการสรรหา กทช. เดิมก็มีความเป็นอิสระทำงานได้พอสมควร ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ละคนไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

- มองนโยบายรัฐบาลด้านโทรคมนาคมอย่างไร

พนา : คงไม่วิจารณ์นโยบายรัฐบาล เพราะเป็นเรื่อง กทช. ในฐานะองค์กรอิสระก็ต้องพยายามทำงานให้สอดคล้องอยู่แล้ว

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

**********************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น