--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สราวุธ เบญจกุล อารยะขัดขืนกับการละเมิดกม.

นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เขียนอธิบายถึง "การต่อต้านโดยสันติวิธี vs การละเมิดกฎหมาย" สืบเนื่องจากกรณี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำเลย ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำบัตรเลือกตั้งดีให้เป็นบัตรเสีย และ ป.อาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากฉีกบัตรเลือกตั้ง ในระหว่างการไปลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งในหลายรูปแบบ ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมส่งผลให้ประชาชนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเหตุจูงใจให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

แต่ละบุคคลก็มีวิธีการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนเองให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณะด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป

หนึ่งในนั้นคือ กรณีที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งฉีกบัตรลงคะแนนในวันเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 จนเป็นเหตุให้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอาจารย์ท่านนั้นต่อศาล ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การกระทำของจำเลย เป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุเพื่อต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 65 ที่กำหนดว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"

การต่อต้านโดยสันติวิธี คืออะไร

การต่อต้านโดยสันติวิธี (Civil Disobedience : อารยะขัดขืน, การขัดขืนอย่างสงบ) ถือเป็นสิทธิที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศในระบอบประชาธิปไตย

เป็นรูปแบบการต่อต้านทางการเมืองอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อกระตุ้นให้เกิดสำนึกแห่งความยุติธรรมและเพื่อกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางการเมืองปัจจุบันที่เป็นอยู่ โดยผู้กระทำยอมรับผลทางกฎหมายของการกระทำนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเป็นประชาธิปไตยในสังคม เพราะถ้าไม่ยอมให้กฎหมายลงโทษ คงไม่มีเหตุกระตุ้นให้สังคมเกิดความสนใจหรือให้ความสำคัญและไม่ใช่การต่อต้านโดยสันติวิธี

ประเทศในระบอบประชาธิปไตย เช่น ประ เทศไทยให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนในสังคม มีส่วนร่วมและมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเสมอมา เห็นได้จากมีการบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด

ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 65 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ฉบับปัจจุบัน มาตรา 69 กำหนดว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้ง 2 ฉบับไม่ได้กำหนดคำนิยามของคำว่า "ต่อต้านโดยสันติวิธี" ไว้ ดังนั้น คำพิพากษากรณีฉีกบัตรเลือกตั้งดังกล่าว จึงตีความคำว่า "ต่อต้านโดยสันติวิธี" โดยถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 ให้ความหมายคำว่า "ต่อต้าน" หมายถึง ปะทะไว้, ต้านทานไว้, สู้รบป้องกันไว้ และให้ความหมายของคำว่า "ป้องกัน" หมายถึง กันไว้เพื่อต้านทานหรือคุ้มครอง

คำว่า "ต่อต้าน" กับ "ป้องกัน" มีความหมายตรงกันอย่างหนึ่งว่า "ต้านทาน" หมายถึง ขัดขวาง, ยับยั้ง, ต่อสู้ยันไว้ และยังให้ความหมายคำว่า "สันติวิธี" หมายถึง วิธีจะก่อให้เกิดความสงบ

จากกรณีดังกล่าว เห็นได้ว่าเมื่อมีการฉีกบัตรเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งยังเป็นไปตามปกติ ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น การฉีกบัตรเลือกตั้งดังกล่าวไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้ใช้อาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ผู้ใด

แต่สื่อให้สังคมตระหนักถึงการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม เพราะหากนิ่งเฉยต่อการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตจนการเลือกตั้งแล้วเสร็จ อาจส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยสั่นคลอนไม่มั่นคง ซึ่งสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีนี้ประชาชนทุกคนสามารถกระทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ในต่างประเทศการต่อต้านโดยสันติวิธีมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีคว่ำบาตรรถประจำทางมอนต์โกเมอรี่ในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เมื่อโรซา พาร์ก ปฏิเสธที่จะลุกให้ที่นั่งแก่คนผิวขาวบนรถประจำทางตามที่คนขับสั่ง ทั้งที่กฎหมายท้องถิ่นระบุว่าเมื่อโดยสารรถร่วมกันต้องสละที่ให้คนผิวขาวนั่ง จนถูกจับตัวขึ้นศาลและถูกตัดสินจำคุก เป็นเหตุให้คนผิวดำออกมาประท้วงจนรัฐบาลท้องถิ่นต้องยกเลิกกฎหมายนี้

กรณีการต่อต้านอังกฤษในประเทศอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1930 โดย มหาตมะ คานธี สมัยนั้นประเทศอินเดียมีกฎหมายบังคับให้การผลิตและขายเกลือกระทำได้โดยรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น ถึงแม้คนอินเดียจะผลิตเกลือเพื่อบริโภคเองได้ก็จำต้องซื้อจากประเทศอังกฤษ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก มหาตมะ คานธี จึงดำเนินการต่อต้านโดยสันติวิธีคือ ขุดดินที่เต็มไปด้วยเกลือ ต้มในน้ำทะเลเพื่อผลิตเกลือ ท้าทายมาตรการผูกขาดนั้น เป็นเหตุให้ถูกจับกุมตัวและได้รับโทษ

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านโดยสันติวิธีของมหาตมะ คานธี เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์อินเดียส่งผลให้คนอินเดียได้รับอิสรภาพในปี ค.ศ. 1947 และกรณีนางออง ซาน ซู จี ที่ต่อสู้โดยสันติ วิธีเพื่อเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยในบ้านเกิดของเธอจนยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เธอเป็น "สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านการกดขี่โดยสันติ" เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2545

แม้กฎหมายจะให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในสังคมแก่ประชาชน แต่กฎหมายก็กำหนดหน้าที่ให้ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นกัน เพื่อรักษาความ สงบเรียบร้อยและสร้างความมีเสถียรภาพในสังคม

ดังนั้น ประชาชนทุกคนควรให้ความสำคัญและเคารพในสิทธิเสรีภาพของทั้งตนเองและผู้อื่น เพื่อให้สังคมดำเนินไปอย่างสงบสุขภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย

ที่มา:ข่าวสดรายวัน
****************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น