โดย วันวลิต ธารไทรทอง
ในช่วงหลายปีมานี้ มีเสียงวิจารณ์อย่างมากถึงความไม่มีประสิทธิภาพของเศรษฐกิจสหรัฐ (Poor Economic Performance) และมีกังวลกับการอ่อนค่าอย่างไร้เสถียรภาพของเงินดอลลาร์อย่างกว้างขวาง นักวิชาการที่มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐศาสตร์อย่างเช่น แบร์รี่ ไอเชนกรีน (Barry Eichengreen) ได้เขียนอธิบายถึงความด้อยประสิทธิภาพของดอลลาร์มาอย่างต่อเนื่อง และสรุปไว้อย่างฟันธงว่า เงินยูโรจะมาแทนที่เงินดอลลาร์ในฐานะ “เงินตราของโลก” (World Reserve Currency) นอกจากนั้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของไอเชนกรีน ถึงแม้จะไม่ได้เห็นด้วยในทุกประเด็น แต่โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว พวกเขาเชื่อเหมือนกันว่าเงินยูโรจะทำหน้าที่ในฐานะเงินตราของโลกแทนดอลล่าร์
มีหลายเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนเชื่อว่าเงินยูโรจะแทนที่เงินดอลลาร์ อาทิเช่น พวกเขามั่นใจว่าในยุโรปมีบริษัทชั้นนำของโลกจำนวนมาก (World Class Companies) เช่น บริษัท ซีเมนส์ และ บริษัทฟิลลิปส์ และมีจำนวนประชากรที่พอ ๆ กันระหว่ายูโรโซนกับสหรัฐ อยู่ที่ประมาณ 300 กว่าล้านคน ทั้งยูโรโซนกับสหรัฐ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน ประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มากไปกว่านั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ของยูโรโซนในช่วง 2-3 ปี ก่อน วิกฤตการเงินโลก 2007 มีแนวโน้มที่ดีกว่าสหรัฐ เหนืออื่นใด ค่าเงินของยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้วนั้นแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มใช้อย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน เหตุผลหลัก ๆ เหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าเงินยูโรมีโอกาสที่จะทำหน้าที่แทนเงินดอลลาร์ในฐานะ “เงินตราของโลก” (World Reserve Currency)
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงคงจะไม่ง่ายอย่างนั้น ปัจจัยพื้นฐานที่ผิวเผินทางมหภาคเพียงแค่นี้ไม่เพียงพอที่จะสรุปไปว่า เงินยูโรจะแทนที่เงินดอลลาร์ และการที่เศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาผนวกกับเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างไร้ซึ่งเสถียรภาพนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินยูโรจะได้รับสิทธิการเป็นเงินตราของโลก เพราะในทางเศรษฐศาสตร์การเงิน การจะเป็นเงินตราสกลุหลักของโลกได้ดีจะต้องให้ความมั่นใจได้ว่าปริมาณเงิน (International Money Supply) จะเพิ่มและลดอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจโลก ความมีเสถียรภาพของปริมาณเงินจะเป็นเครื่องค้ำยัน “ความยอมรับ” (Acceptability) ความมีเสถียรภาพทางด้านราคา (Price Stability) และความมีสภาพคล่อง (Liquidity) เพื่อบรรลุการเป้าหมายการทำหน้าที่สามประการของเงินตราของโลก นั่นคือ ทำหน้าที่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Medium of Exchange) ทำหน้าที่หน่วยในการวัดค่าระหว่างประเทศ (International Unit of Account) และ ทำหน้าที่ในการสะสมค่า (International Store of Value)
ฉะนั้นแล้ว แค่ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว การที่เงินยูโรจะเป็นเงินตราของโลกได้นั้น ขั้นต่ำสุดเงินยูโรจะต้องสอบผ่านเงื่อนไขที่ว่านี้ แต่ปัญหามีอยู่ว่า ปัจจุบันเงินยูโรทำหน้าที่เป็นเงินที่ใช้ในกลุ่มประเทศยุโรป (Regional Currency) นั่นย่อมหมายความว่า ปริมาณเงิน (Money Supply) ก็จะขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มประเทศยุโรปเป็นสำคัญ แต่ถ้าเราต้องการให้เงินยูโรทำหน้าที่เป็นเงินตราของโลกด้วยนั้น ปริมาณเงิน (Money Supply) ก็จะต้องสอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจโลกด้วย ประเด็นนี้จะนำไปสู่ความขัดกัน (Dilemma) ระหว่างความต้องการปริมาณเงินของกลุ่มประเทศยุโรปกับความต้องการปริมาณเงินของเศรษฐกิจโลก เพราะในบางครั้งความต้องปริมาณในระบบก็อาจจะไม่เหมือนกัน
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเงินยูโรทำหน้าที่เป็นเงินตราของโลก (World Reserve Currency) ในยามที่เศรษฐกิจโลกไร้เสถียรภาพจากปริมาณเงินยูโรที่มากเกินไปและต้องการให้ปริมาณเงินยูโรลดลง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรปกำลังตกต่ำและจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (Expansionary Monetary Policy) การดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายของกลุ่มประเทศยุโรปนอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินยูโรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุโรปแล้ว ยังส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณเงินให้ระบบเศรษฐกิจโลกด้วยดังนั้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายนี้ก็จะยิ่งไปซ้ำเติมความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ในทางกลับกัน ในยามที่เศรษฐกิจโลกประสบกับปัญหาขาดแคลนเงินยูโรเพื่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่ด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้กลุ่มประเทศยุโรปไม่สามารถเพิ่มปริมาณเงิน(Money Supply) เข้าสู่ระบเศรษฐกิจโลกได้ ประเด็นนี้จะนำไปสู่ความขัดกันระหว่างความต้องการปริมาณเงินของเศรษฐกิจโลกและกลุ่มประเทศยุโรป
และเมื่อเงินยูโรไม่สามารถกำหนดให้ปริมาณเงิน (International Money Supply) เพิ่มและลดอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจโลก เงินยูโรก็จะไม่ใช่เงินที่ดีในการทำหน้าที่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ทำหน้าที่สะสมค่า และทำหน้าที่ในการวัดค่า ฉะนั้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจถ้าผมจะสรุปว่าการนำเงินยูโรมาทำหน้าที่เงินตราของโลกย่อมไม่ใช่แนวทางที่พึงปราถนา
มากไปกว่านั้น กลุ่มประเทศยุโรปต้องจัดให้มีตลาดสินทรัพย์ (Assets Market) ที่มีสภาพคล่องสูง (High Liquidity) เพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (U.S. Treasury Bonds, T-Bonds) มีสภาพคล่องสูงมากสามารถซื้อขายได้ทุกวันทุกเวลา อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศยุโรปมิได้เป็นเช่นนั้น ตลาดสินทรัพย์ยุโรปประกอบไปด้วยตลาดสินทรัพย์ย่อย ๆ ของแต่ละประเทศซึ่งมีกฎระเบียบ การกำกับดูแล (Regulation) จากรัฐบาลของตัวเอง และก็มีรายละเอียดของกฎระเบียบ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน คุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่งกันไป ตัวอย่างเช่น ตลาดสินทรัพย์ของประเทศกรีก ประเทศเสปน และประเทศเยอรมัน ก็จะมีกฎระเบียบและความน่าเชื่อถือทางเครดิตที่แตกต่างกัน แน่นอนว่า ตลาดสินทรัพย์เช่นนี้ย่อมมีสภาพคล่องที่น้อย
สมควรกล่าวไว้ด้วยว่า จริง ๆ แล้วปัจจัยพื้นฐานทางมหภาคของกลุ่มประเทศยุโรปก็ใช่ว่าจะดีเด่นอะไร ในรอบสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปเติบโตต่ำมาก (Low GDP Growth Rate) แม้แต่ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ของเศรษฐกิจโลก 2003-2007 (World Economic Bubble) โดยเฉลี่ยเศรษฐกิจเติบโตเพียงแค่ประมาณ 2% ต่อปี แถมยังมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 9% ของกำลังแรงงาน ขณะที่หนี้ภาครัฐอยู่ที่เฉลี่ย 78 % ต่อ GDP
ครับ จากข้อมูลพื้นฐานทางมหภาคนี้ ถ้าเงินยูโรทำหน้าที่เป็นเงินตราของโลก เงินยูโรจะไม่ใช่สกุลเงินที่มีเสน่ห์ต่อการลงทุน
นี่ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยทางด้านสังคม การเมือง สังคม และความมั่นคงของกลุ่มประเทศยุโรป เพียงแค่แง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ก็พอที่จะให้ผม สรุปว่า เงินยูโรอาจจะใช้เพื่อกระจายความเสี่ยงลดทอนความผันผวนในอำนาจซื้อของเงินทุนสำรองได้ (Diversification) แต่เงินยูโรก็ยังมีจุดอ่อนหลายประการต่อการนำมาใช้เป็นเงินตราของโลก
ผมไม่ได้หมายความว่า การที่เงินยูโรไม่สามารถเป็นเงินตราของโลกได้แล้วเงินดอลลาร์ทำหน้าที่ในฐานะเงินตราของโลกได้ดีหรือควรจะทำหน้าที่ต่อไป ผมเพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการหลายท่านที่เชื่อว่าเงินยูโรจะทำหน้าที่แทนเงินดอลลาร์ และควรจะใช้เงินยูโรในฐานะ “เงินตราของโลก” (World Reserve Currency)
ในขณะที่เขียนงานนี้ ผมยังไม่เห็นว่าเงินยูโรจะทำหน้าที่แทนเงินดอลลาร์ได้ และถ้าในอนาคตเงินยูโรได้ทำหน้าในฐานะเงินตราของโลก เราก็จะพบกับปัญหาความขัดกัน (Dilemma) ระหว่างความต้องการทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศยุโรป กับความต้องการทางนโยบายการเงินของเศรษฐกิจโลก
**********************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น