โดย : รักษ์ มนตรี
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนเสื้อหลากสี และทราบว่า "หมอตุลย์" ได้ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการ
และท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา กรณีที่ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (นักบริหาร 10) รักษาราชการแทนผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าการ สตง.) อ้างถึงการใช้อำนาจหน้าที่ ในฐานะประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (ประธาน คตง.) ทำเรื่องขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการซี 10 สำนักงาน สตง. พ้นจากตำแหน่ง และขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ข้าราชการสำนักงาน สตง. ซี 9 เป็นซี 10 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนอกเหนือจากคำพิพากษาศาลปกครอง
หมอตุลย์ บอกผมว่า "การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องระงับคำสั่งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา แต่งตั้งนายพิศิษฐ์ รักษาการผู้ว่าการ สตง. ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับคำสั่งที่ไม่ให้นายพิศิษฐ์เป็นรักษาการผู้ว่าการ สตง. โดยให้ทำหน้าที่แทนผู้ว่าการ สตง.ในงานด้านธุรการ ภายในสำนักงาน สตง. แต่นายพิศิษฎ์กำลังอาศัย 'ความเห็นของผู้พิพากษา' ซึ่งไม่ใช่คำพิพากษา ตีขลุมว่าตัวนายพิศิษฎ์มีอำนาจที่จะใช้อำนาจในฐานะประธาน คตง. ซึ่งขัดกับประกาศ คปค. เพราะนายพิศิษฎ์ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการสรรหาใหม่ ให้มาเป็นประธาน คตง."
การเกษียณและพ้นจากตำแหน่งระดับ 10 ในสำนักงาน สตง. ไม่เหมือนข้าราชการอื่นนะครับ
ผมเพิ่งทราบว่า การจะให้ซี 10 สตง. พ้นจากตำแหน่งแม้จะเกษียณ ต้องเป็นหน้าที่ของประธาน คตง. นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการระดับ 10 สตง.พ้นจากตำแหน่ง และประธาน คตง.เป็นผู้มีอำนาจขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการ ระดับ 9 เป็นระดับ 10 ประจำสำนักงาน สตง. โดยในปี 2553 มีข้าราชการระดับ 10 เกษียณอายุราชการทั้งสิ้น 7 คน การที่คนเหล่านี้จะพ้นจากตำแหน่งได้ต้องให้ประธาน คตง.นำความขึ้นกราบบังคมทูล
หมอตุลย์ บอกว่า นายพิศิษฎ์ ซึ่งตามคำสั่งศาลปกครองนั้นคือรักษาการผู้ว่าการ สตง. แต่จะไปอ้างว่าศาลปกครอง ได้ระบุให้ทำหน้าที่รักษาผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ประธาน คตง. และคณะกรรมการ คตง. ไม่ได้เนื่องจากคำสั่งศาลในคดีนี้ในหน้าที่ 27 เป็นความเห็นของผู้พิพากษาในคดี ไม่ใช้คำพิพากษาของคดีนี้ ซึ่งศาลมีคำสั่งเพียงว่า
"พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง 184 เรื่องยกเลิกคำสั่งให้รองรักษาผู้ว่าการ สตง.พ้นจากรักษาการผู้ว่าการ สตง. โดยให้คำสั่งทุเลาการบังคับใช้จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเป็นอย่างอื่น"
"การยื่นเรื่องคัดค้านครั้งนี้เพื่อยืนยันว่าไม่เห็นด้วย ที่นายพิศิษฎ์จะใช้กรณีนี้แสตมป์ตัวเองเพื่อปฏิบัติหน้าที่ประธาน คตง. และต้องการใช้อำนาจนั้น ไปสรรหาสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ซึ่ง ส.ว.สรรหาชุดแรกจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 19 ก.พ.นี้"
หมอตุลย์ บอกอย่างนั้น
ขณะที่ผมก็สอบทานไปยังท่านสมาชิกวุฒิสภา ที่รู้จักมักคุ้นกันก็ทราบว่า การที่นายพิศิษฎ์ อาศัยความเห็นของผู้พิพากษาในหน้า 27 ซึ่งความเห็นของตุลาการ ไม่ใช่คำพิพากษาในคดี ดังนั้น การที่ความเห็นของตุลาการแม้จะเห็นว่า "รองผู้ว่าการ สตง. ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ สตง. จึงมีอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการ และคณะกรรมการ คตง.ระหว่างที่ยังไม่มีการสรรหาประธาน คตง. และกรรมการ คตง. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 และไม่ขัดแย้งการบริหารงานบุคคลภายในสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน" ก็ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล
ส.ว.คนเดิมบอกว่า มี ส.ว.สรรหาหลายคนบ่นไม่สบายใจ เพราะขณะนี้เริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีผู้นั้นผู้นี้มาทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ถ้าต้องการได้รับการสรรหา ขอให้รีบมา "เข้าแถว"
สำหรับผมแล้ว ผู้ที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ไม่ดีเลย เพราะนั่นเท่ากับเป็นการข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา
ครั้นมาดูกรรมการสรรหา ส.ว.มีใครบ้าง ประกอบด้วย 1.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายชัช ชลวร) 2.ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) 3.ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายปราโมทย์ โชติมงคล) 4.ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ) 5.ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 6. ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และ 7.ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน)
ครับ นี่คือเกมชิงอำนาจที่แท้จริง
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ
*******************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น