ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุจากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศชุมนุมยืดเยื้อระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้มีบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...(แก้ทั้งฉบับ) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 71,543 คน เป็นผู้เสนอ 2.ร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...)พ.ศ. ...(หลายมาตรามี 6 ประเด็น) ส.ส.จำนวน 102 คน เป็นผู้เสนอ 3.ร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...(มาตรา 93-98) คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และ 4.ร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...(มาตรา 190) คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าเรื่องระบบเลือกตั้งที่แก้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวนั้นมีการฟังเสียงประชาชนและศึกษากันมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นการศึกษาของคนที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง โดยมีการเสนอลดจำนวน ส.ส. ลง และเพิ่ม ส.ส.สัดส่วน
แต่นายอภิสิทธิ์ก็ออกปากว่าไม่เห็นด้วยเช่นกัน เหมือนกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยมีมติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ จึงทำให้หลายฝ่ายไม่เชื่อว่านายอภิสิทธิ์จะมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะรัฐมนตรีที่มติเห็นชอบก็เพื่อลดแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล
ที่สำคัญการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่จะจบภายใน 3 วัน แต่ยังมีกระบวนการของรัฐสภา หลังจากรับหลักการแล้วต้องไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดต้องเว้นระยะ 15 วัน แล้วจึงกลับมาพิจารณาในวาระ 3 ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าหากการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีก็ควรแสดงความรับผิดชอบ เพราะก่อนหน้านี้เคยตั้งคณะ กรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายชุด หากครั้งนี้แก้ไม่สำเร็จอีก นายกรัฐมนตรีต้องรับ ผิดชอบด้วยการลาออก แม้ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรืองบประมาณ ซึ่งต้องยุบสภา เพื่อสร้างมาตรฐานทางการเมือง ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหลายประเทศก็สร้างบรรทัดฐานนี้
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์เคยอภิปรายว่า นักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่าคธรรมดา ซึ่งไม่ใช่แค่ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน
แต่ยังรวมถึงเรื่องจริยธรรมทางการเมืองหรือความรับผิดชอบทางการเมือง ที่วันนี้หลายฝ่ายมองว่านายอภิสิทธิ์เองคือตัวปัญหาและทำลายบรรทัดฐานทางการเมืองที่สังคมประชาธิปไตยยึดถือปฏิบัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ซึ่งนายอภิสิทธิ์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย แม้ยืนยันว่าไม่ได้สั่งให้ทหารฆ่าประชาชน แต่ก็สั่งให้ทหารสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 91 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน
เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจแยกได้จากวิกฤตบ้านเมืองวันนี้ที่ยังเต็มไปด้วย 2 มาตรฐาน และผู้นำที่ไร้จริยธรรมทางการเมือง
โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น