--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

"อาจารย์นิติ มธ."วิพากษ์ เกมแก้ไขรธน.ทำไมเพิ่งมาสนใจตอนนี้ ร่างหมอเหวงน่าสนใจแต่..ตอบโจทย์ชัดๆม.309

การประชุมร่วม 2 สภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินไปอย่างน่าเบื่อหน่าย   แต่"มติชนออนไลน์"จะปลุกท่านให้ตื่นมาอ่าน สัมภาษณ์ อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในคณะนิติราษฎร์   เพื่อชี้ประเด็นให้ชัดว่า  การแก้ไขเป็นประโยชน์นักการเมืองหรือประโยชน์ประชาชน รวมถึงประเด็นใหญ่ๆ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ควรให้ความสนใจ

*การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองมาตรา อาจารย์มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว มันก็ไม่ได้ต่างไปจากกฎหมายอื่น คือถ้ามันมีเหตุจำเป็นต้องแก้มันก็ต้องแก้ แต่เรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ มันมีข้อสังเกตเบื้องต้นอยู่ 2 เรื่อง
   
เรื่องแรก  จริง ๆ การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มันไม่ใช่เกิดขึ้นมาครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ก็มีมาแล้ว นั่นก็คือตัวร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากหมอเหวง โตจิราการ หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.)แล้วก็ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค 2 พรรค แล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า สองร่างแรกรัฐบาลไม่เคยให้ความสนใจเลย หรือพยายามจะหาเหตุที่ว่า มันติดปัญหาตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง และในที่สุดก็ก็มีการปฏิเสธร่างฉบับนั้นไป แต่ว่าตอนนี้กลับมีการผลักดันให้มีการเร่งแก้ไขโดยเร็ว ตรงนี้เป็นข้อสังเกตว่า ทำไมรัฐบาลไม่สนใจร่างสองร่างนี้ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันพอถึงร่างของรัฐบาล รัฐบาลกลับรีบเร่ง

ข้อที่ควรสนใจข้อที่สองก็คือว่า ร่างแก้ไขของตัวรัฐบาล ถูกตั้งขึ้นมาบนบริบทพื้นฐานของการตอบโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือเพื่อความสมานฉันท์ แต่ว่าถ้าไปดูตัวเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตรานั้น  ผมก็ไม่เห็นมันเป็นการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างไรเลย เพราะอย่าลืมว่าความสมานฉันท์ในตอนนี้ มันเกิดความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม แล้วความขัดแย้งตรงนั้น เป็นความขัดแย้งซึ่งเกิดมาจากเหตุผลหลายสาเหตุด้วยกัน

รัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการกำหนดจำนวนหรือวิธีซึ่งการได้มาของ ส.ส. กับกระบวนการกำหนดหมดสัญญา มันไม่ตอบโจทย์พวกนี้ ฉะนั้นคำถามก็คือว่า นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะบิดเบือนไปจากความมุ่งหมายเดิมในการร่างหรือเปล่า และในสองร่างจริง ๆ  จะตอบโจทย์สมานฉันท์ที่รัฐบาลตั้งเอาเองจริงหรือไม่ ความเห็นผมนั้นคงไม่ ถ้าจะมีความสมานฉันท์คงเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันมากกว่า  

*ใน 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจารย์สนใจร่างไหนมากที่สุด
 
ถ้าพูดตามความเห็นแล้วมันก็ต้องแก้ใหญ่ แต่ร่างของหมอเหวงท่านใช้วิธีการก็คือเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.2550 แล้วเอารัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 มาใช้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้มันเลยติดปัญหาเรื่องเทคนิคอยู่บ้างพอสมควร เพราะแม้ว่า ผมต้องการให้มีการแก้ใหญ่ แต่ร่างของหมอเหวงก็มีข้ออ่อนที่เขาจะโจมตีได้ว่ามันอาจจะทำให้เกิดปัญหาทั้งปัญหาเชิงเทคนิค ปัญหาเชิงหลักการ ร่างหมอเหวงน่าสนใจแต่ว่าค่อนข้างยากที่รัฐสภาจะไม่รับ ส่วนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลสองพรรค (ภูมิใจไทยกับชาติพัฒนา) ผมเข้าใจว่าเนื้อหามันก็ไม่ได้แตกต่างไปจากพรรครัฐบาลเท่าไหร่ ถ้าถามว่าสนใจอันไหนมากกว่ากัน ตอบว่าร่างหมอเหวงน่าสนใจแต่ติดปัญหาทางปฏิบัติ คือแก้ยาก ส่วนอีกสองร่างที่ไม่น่าสนใจก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะได้รับการแก้ไข แต่ไม่ว่ายังไงถ้ามีการแก้ไขก็ไม่ได้จบเท่านี้ ยังไงรัฐธรรมนูญก็จะต้องแก้ใหญ่อีกครั้งอยู่ดี

 *ในทางการเมือง ฝ่ายค้านบอกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องลาออก   ตรงนี้มีเหตุผลหรือไม่

นายกรัฐมนตรีก็บอกว่า  ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบถึงการลาออก เพราะว่าตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่เป็นร่างที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล   ผมฟังดูมีคำอธิบายทำนองว่ารัฐบาลก็ไม่สามารถจะคุมสมาชิกรัฐสภาได้ซึ่งไม่เหมือนการคุม ส.ส. ที่มีเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นถึงแม้รัฐสภาจะไม่ผ่าน มันก็เป็นเรื่องดุลพินิจของสมาชิกรัฐสภาที่เขาไม่ให้ผ่าน รัฐบาลเองเมื่อไม่สามารถควบคุมการทำงานของรัฐสภาได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นอิสระ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลจะมารับผิดชอบกับการที่รัฐธรรมนูญเสนอออกไปแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา ผมก็ว่ามีเหตุผลระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าพูดตามมาตรฐานของนายกรัฐมนตรีในเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง จริยธรรมทางการเมือง ผมก็คิดว่าต้องกลับไปคิดทบทวนดูอีกทีว่าผ่านหรือไม่ผ่านจริง ๆ แล้วควรรับผิดชอบในลักษณะไหน อย่างไรบ้าง

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550  มีข้อบกพร่องฉกรรจ์ อยู่ตรงไหนบ้าง

 ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550   มีข้อบกพร่องอย่างน้อยก็สามเรื่องด้วยกันคือ อันแรกปัญหาในเชิงหลักการ ต่อมาคือปัญหาเชิงโครงสร้าง สุดท้ายคือปัญหาเชิงเทคนิค ในปัญหาเชิงหลักการจริง ๆ แล้ว  รัฐธรรมนูญมีปัญหาเชิงระบอบ เพราะตัวรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 หลาย ๆ มาตรา มันมีบทบัญญัติที่ไม่สะท้อนระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมันมีที่มาอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งก็มาจากการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา ทั้งที่มาจากสองส่วนนี้ความจริงแล้วถ้าไม่ยึดกับอำนาจหน้าที่แล้ว เราก็ตอบไม่ได้ว่ามันมีความชอบธรรมในประชาธิปไตยหรือไม่ แต่เนื่องจาก ส.ว.    มีอำนาจหน้าที่ไปถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งด้วย เลยมีปัญหาในทางประชาธิปไตยว่า คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจในการถอดถอนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ นี่ก็เป็นตัวอย่าง

ปัญหาในเชิงหลักการบางหลัก อย่างการแบ่งแยกอำนาจ จะเห็นตัวรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น ให้อำนาจหน้าที่กับตุลาการค่อนข้างเยอะ นอกจากจะมีอำนาจวินิจฉัยคดีหรืออำาจปกติทั่วไปแล้ว ยังให้อำนาจหน้าที่เสนอร่างกฎหมายได้ด้วย ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจหน้าที่การคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ด้วย อำนาจหน้าที่ในการเสนอร่างกฎหมายก็ดี อำนาจหน้าที่ในการเสนอชื่อบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็ดี สองเรื่องนี้มันอาจจะมีปัญหาเรื่องการถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจ ว่าขณะศาลที่เป็นองค์กรตุลาการ ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่สมมติฐานของการจัดรัฐธรรมนูญให้เป็นลักษณะอย่างนี้ ผมเข้าใจว่า ปีพ.ศ. 2550 เขามีมุ่งหมายหรือสมมติฐานเบื้องต้นว่า นักการเมืองแย่ ฝ่ายบริหารแย่ ศาลถูกมองว่าเป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรมดี เพราะฉะนั้นถึงแม้จะให้อำนาจหน้าที่บางอย่างให้สอดรับในรูปของการแบ่งแยกอำนาจก็น่าจะเป็นเรื่องเหมาะกับแบบไทยเรา นี่ก็คือปัญหาเชิงหลักการ

ส่วนปัญหาเชิงหลักการอีกอย่างหนึ่งซึ่งผสมกับปัญหาเชิงเทคนิคก็คือ ปัญหาเรื่องการยุบพรรค มีการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค ใครไม่ได้กระทำความผิดก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปด้วย ตรงนี้มันขัดต่อหลักสมควรแก่เหตุ ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ว่าการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กร ว่าทำอะไรเกินกว่าเหตุไม่ได้ การเกินกว่าเหตุอธิบายในแง่นี้ก็คือว่า คนที่ไม่ได้ทำความผิดยังต้องรับโทษจากสิ่งที่คนอื่นทำด้วย ตรงนี้ก็เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ ที่นี้เรื่องเทคนิคที่เป็นปัญหาจริง ๆ แล้วก็ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ตบท้าย

หลายคนบอกว่าอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งให้คนในสังคม นั่นก็คือมาตรา 309 เพราะมาตรา 309 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค. คำสั่งของหัวหน้า คปค. และการปฎิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าคปค. หลักตรงนี้มันหมายความว่า เมื่อมีการรับรองประกาศ คปค. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าพวกนี้จะไม่มีโอกาสถูกตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เลย

 มีคนเคยแย้งผมว่าทำไมจะตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งก็มีหลายกรณีที่มีการเสนอคดีไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลตรวจสอบว่า ประกาศ คปค. บางฉบับชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมก็ยืนยันว่าแม้จะมีการเสนอขึ้นไปได้ แต่ศาลมีอำนาจในการชี้ให้มันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ไหม (ไม่ได้) เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดและรับรองไว้แล้วว่า เมื่อชอบ แล้วเสนอขึ้นไปก็มีค่าเท่ากัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นปัญหาซึ่งจะต้องเอามาตรา 309 ออกไปเลย

และยังมีความเข้าในทางสังคมว่า มาตรา 309 จริง ๆ เป็นมาตราเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมให้กับคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่เกี่ยวเลย เรื่องนี้เมื่อไหร่ที่มีการยกเลิกมาตรา 309 ผลทางกฎหมายก็มีอยู่อย่างเดียวคือ ประกาศ คปค. ก็ดี คำสั่งของหัวหน้า คปค. ก็ดี หรือการกระทำตามประกาศ คำสั่งของหัวหน้า คปค.ก็ดี จะเข้าสู่กระบวนการทางศาลได้ และศาลมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ามันชอบหรือไม่ชอบ ถ้ามันชอบด้วยเนื้อหาก็วินิจฉัยว่าชอบ ถ้าไม่ชอบด้วยเนื้อหา ก็วินิจฉัยได้ว่ามันไม่ชอบ ถ้าไม่เอามาตรา 309 ออก ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่ามันไม่ชอบ ถึงแม้ตัวเนื้อหามันจะไม่ชอบ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 309 กำหนดเอาไว้แล้วว่ามันชอบด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญ นี่คือปัญหาสำคัญ แล้วระบบอย่างนี้มันสร้างปัญหาเชิงหลักการอีกแบบหนึ่งก็คือว่า เรามีระบบตรวจสอบเรื่องความชอบรัฐธรรมนูญด้วยกฎหมายแยกออกเป็นสองทางคู่ขนานกันไป จะเรียกว่า สองมาตรฐานก็ได้
 
ทางหนึ่งก็คือว่ากฎหมายพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ถ้ามีปัญหาว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แล้วศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ามันไม่ชอบจริง ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องประกาศ คปค. ถึงเสนอไปที่ศาลได้ แต่ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่ามันไม่ชอบ นี่ก็คือความต่างกันเรื่องการจัดระบบตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญตามกฎหมายที่มันแยกต่างหากจากกัน

*   โอกาสที่จะยกเครื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งหน้า

ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นและคิดว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันคงไม่มีความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่มีการเลือกตั้งใหม่ และมีพรรคการเมืองเสนอเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งนอกจากนโยบายบริหารราชการแผ่นดินแล้วก็คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ แล้วก็ไปหาเสียง ถ้าประชาชนให้ฉันทามติกับพรรคการเมืองนั้น ๆ ขึ้นมา เขาก็มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ถึงจะมีความขัดแย้งขึ้นมาก็ไม่มีปัญหา วันนี้มีความขัดแย้ง อีกหนึ่งปีข้างหน้าจะแก้ใหญ่ก็มีความขัดแย้ง แต่ทุกอย่างก็ต้องว่าไปตามกระบวนการระบบ ไม่มีปัญหาอะไร

*ความเห็นของอาจารย์  อยากจะแก้ใหญ่ไปเลย แล้วกระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแบบยกเครื่องชุดใหญ่  จะทำอย่างไร

ผมเข้าใจว่ารูปแบบที่เราคุ้นเคยกัน ก็จะต้องมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่ไม่ว่าอย่างไรเมื่อมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว มีการยกร่างตามระบบเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายต้องมีการลงประชามติ ผมเห็นด้วยกับการลงประชามติตัวรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการแก้ไขครั้งใหญ่และไม่ใช่เหตุผลที่ว่า เราต้องลงประชามติเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ลงประชามติมาแล้ว เพราะเหตุผลในการลงประชามติของปี พ.ศ.2550 มันเป็นไปในลักษณะมัดมือชก แต่ถ้าเราต้องการให้ตัวรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่แต่สมาชิกรัฐสภา ให้ความรู้สึกว่านี่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนจริง ๆ ควรใช้วิธีการอย่างนี้ในการกำหนดว่ารัฐธรรมนูญควรจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นควรมีสภาร่างขึ้นมา ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จก็ให้มีการลงประชามติ ถ้าประชาชนลงมติให้ผ่านก็ทูลเกล้าให้ในทลวงทรงลงพระปรมาภิไธย

*  การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มักถูกวิจารณ์ว่า เป็นประโยชน์นักการเมือง  ประชาชนไม่ได้อะไรเลย  เป็นจริงแค่ไหน
  
ผมเคยถูกตั้งคำถามมาเยอะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างนี้ถือว่าเป็นการแก้เพื่อนักการเมืองหรือเปล่า ผมเรียนหลักการพื้นฐานอย่างนี้ก่อนเลยว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางเรื่องมันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง บางเรื่องมันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง แต่เป็นโดยอ้อม บางเรื่องก็ไม่ได้เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชนโดยตรงเลย อย่างเช่นปัญหาในทางเทคนิคต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นเราดูว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นประโยชน์ของประชาชนทุกกรณีไหม มันไม่จำเป็น
  
แต่ทีนี้ถามว่าตัวนี้ เรื่องร่างรัฐธรรมนูญสองมาตราที่กำลังเสนอแก้ไข มันเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือเปล่า มันก็มองได้ทั้งสองแง่ ในแง่หนึ่งก็อาจจะมองว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ได้ ในแง่หนึ่งก็มองว่าไม่ได้เป็นก็ได้      ถ้าจะบอกในแง่ของประชาชนนั้น อย่างเรื่องการแก้ไขเขตเลือกตั้ง ซึ่งเราจะเปลี่ยนวิธีจากเขตใหญ่เรียงเบอร์มาเป็นเขตเล็กเบอร์เดียว มันจะมีผลไปถึงระบบการใช้การลงคะแนนเสียงแบบ one man one vote ตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไหม  ผมว่า  เป็นในแง่ที่ทุกคนมีความเสมอภาคในการลงคะแนนเสียงอย่างเท่าเทียมกัน คือคนคนเดียวก็เลือกส.ส.ได้คนเดียว ไม่ใช่เหมือนระบบก่อนหน้านี้ บางจังหวัดเลือกได้สามคน บางจังหวัดผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเลือกได้คนเดียว

แต่ถามว่าแง่มุมในทางการเมืองมีความเป็นไปได้ไหมที่อาจจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง ก็เป็นไปได้ เพราะว่าบางพรรค

การเมืองถ้าใช้ระบบแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์อาจจะสู้กับอีกพรรคการเมืองไม่ได้ ก็ต้องมาแก้ แก้เสร็จแล้วอาจกลับมาสู้ได้หน่อยหนึ่ง นี่คือประโยชน์ทางการเมืองก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ทั้งประโยชน์ทางการเมืองและประโยชน์ของประชาชน

 แต่ไม่ว่าอย่างไรถึงจะเป็นประโยชน์ในทางการเมืองของนักการเมือง ถ้าเป็นประโยชน์ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของความชอบเขาก็มีสิทธิได้รับประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าพอเป็นประโยชน์ทางการเมืองสำหรับนักการเมือง พอจะแก้ถึงบอกว่าห้ามแก้     กรณีมาตรา 237 ก็เหมือนกัน ถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยุบพรรค ว่าด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคสำหรับคนที่ไม่ได้ทำความผิด ถามว่าถ้าแก้แล้วมีประโยชน์ทางการเมืองต่อนักการเมืองไหม (เป็น) แต่คำถามที่จะถามต่อไปก็คือว่าประโยชน์ที่เขาจะได้รับเป็นประโยชน์ซึ่งเขาจะได้บนพื้นฐานของความยุติธรรมหรือเปล่า   สรุปก็คือว่าถ้าเป็นประโยชน์ของนักการเมืองแล้วเป็นประโยชน์โดยชอบก็แก้ได้

 *การปฎิรูปการเมือง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง ฉบับ ฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการสมัชชา คณะกรรมการปฎิรูป ได้หรือไม่

ผมไม่ค่อยหวัง แต่สิ่งที่ผมหวังจริง ๆ ก็คือว่า เมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ผมหวังว่าพรรคการเมืองหนึ่งพรรค สองพรรค หรือกี่พรรคก็แล้วแต่ เสนอเป็นนโยบายหลักควบคู่ไปกับนโยบายบริหารราชการแผ่นดินว่าจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชุดใหญ่และจะแก้รัฐธรรมนูญโดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้ตัวรัฐธรรมนูญนั้นหรือประเทศเดินไปสู่เส้นทางของระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ นั่นคือสิ่งที่ผมหวัง ถ้าเมื่อไหร่ที่พรรคการเมืองเสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายในการเลือกตั้ง แล้วก็ได้รับฉันทานุมัติมา ตรงนั้นและที่มีความชอบธรรมยิ่งไปกว่าคณะกรรมการชุดคุณอานันท์ หมอประเวศ และชุดคุณสมบัติด้วยซ้ำ นั่นแหละคือสิ่งที่ผมหวัง

ที่มา.มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น