คนกรมศุลฯ-สายสืบรวยอื้อ เปิดตัวเลขสินบนและรางวัลนำจับ 10 ปี ศุลกากรจ่ายให้กับสายสืบและเจ้าหน้าที่กว่า 10,000 ล้านบาท แต่เงินเข้ารัฐแค่ 1,500 ล้านบาท เผยเฉพาะคดีเหล็กฉาบสารซิลิคอนถูกปรับ 3,000 ล้านบาท สายสืบเจ้าหน้าที่ฟันไป 1,650 ล้านบาท
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมศุลกากรถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหน่วยงานที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ ในขณะที่บทบาทและภารกิจใหม่ของกรมศุลกากรตามนโยบายของรัฐบาลจะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย จึงต้องปฏิรูปงานภายในกรมศุลกากรครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายกรมศุลกากร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือเฟสแรก เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกรมศุลกากร กำหนดโทษปรับหลายอัตรา ตั้งแต่ 0.5-4 เท่าของมูลค่าสินค้าและอากรส่วนที่ยังไม่ได้ชำระ โดยให้ศาลภาษีอากรเป็นผู้พิจารณา ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายปัจจุบัน ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่จะต้องถูกปรับ 4 เท่าสถานเดียว และล่าสุดกรมศุลกากรได้ผลักดันร่างกฎหมายเฟสแรกเข้าสู่ที่ประชุมสภาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนการยกร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากร เฟสที่ 2 จะเน้นเรื่องการปรับลดเงินสินบน และรางวัลนำจับของเจ้าหน้าที่และสายสืบ ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจใหม่ที่เน้นเรื่องการอำนวยความสะดวก ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้นำร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากร เฟสที่ 2 ส่งให้กระทรวงการคลัง นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป โดยจะมีการกำหนดเพดานในการจ่ายเงินสินบนนำจับให้กับสายสืบสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกรณี ส่วนรางวัลนำจับที่จะจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อกรณี ทั้งนี้เพื่อลดแรงจูงใจเจ้าหน้าที่
สำหรับสายสืบที่แจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่จนสามารถจับกุมและดำเนินคดีจนเป็นที่สิ้นสุดจะได้รับเงินสินบน 30% ของค่าปรับไม่เกิน 4 เท่า ส่วนเงินรางวัลจะเป็นส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการจับกุมจะได้รับรางวัลส่วนแบ่งอีก 25% ของค่าปรับเช่นกัน บางกรณีอาจจะต้องจ่ายค่าปรับให้กับสายสืบและเจ้าหน้าที่สูงถึง 100-1,000 ล้านบาทต่อราย
"ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการกำหนดเพดานสูงสุดในการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับ แต่ถ้าร่างแก้ไขกฎหมายเฟสที่ 2 ออกจากที่ประชุมสภาเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะถูกปรับเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ก็จะจ่ายเงินสินบนให้กับสายสืบได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท มีสายสืบเป็นสิบ ๆ คน ก็ไปแบ่งกันเอง ส่วนเงินค่าปรับที่กรมศุลกากรได้รับจากผู้ประกอบการส่วนที่เหลือต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด เงินรางวัลที่จะจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ถูกกำหนดไว้ไม่เกิน 5 ล้านบาท เงินค่าปรับส่วนที่เหลือส่งเข้าหลวงทั้งหมด" นายประสงค์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการแก้ไขเพดานจ่ายเงินสินบนไว้ที่ 10 ล้านบาทต่อกรณี และการจ่ายเงินรางวัลไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อกรณี มีที่มาอย่างไร และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะต่อต้านหรือไม่ นายประสงค์กล่าวว่า นโยบายกรมศุลกากรที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่คือขณะนี้ภาพลักษณ์กรมศุลกากรติดลบ ต้องช่วยกันกู้ภาพลักษณ์ใหม่ให้กลับคืนมาได้อย่างไร ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงเสนอให้กำหนดเพดานการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับไว้ที่ 5-10 ล้านบาทต่อกรณีด้วย ไม่ใช่ต่อราย และเงินที่เหลือต้องส่งเข้าหลวงทั้งหมด ไม่ต้องขอแบ่งมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อสวัสดิการข้าราชการกรมศุลกากร
อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวต่อไปอีกว่า การจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับยังมีความจำเป็นอยู่ หลักการของระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับคือ จูงใจให้เจ้าหน้าที่ไปติดตามเงินภาษีอากรของรัฐที่สูญเสียไปแล้วกลับคืนมา บางครั้งเจ้าหน้าที่จะต้องลงทุนจ้างสายสืบ มีต้นทุน เมื่อจับได้แล้วก็ได้รับส่วนแบ่งเป็นรางวัล ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จับกุมแล้วจะได้รับเงินสินบนหรือรางวัลนำจับกันทุกคดี อย่างเช่น ผู้นำเข้าสำแดงว่านำเข้าสินค้ามา 5 ชิ้น พอเจ้าหน้าที่เปิดตู้ตรวจพบว่ามี 10 ชิ้น กรณีนี้จะต้องถูกปรับแล้วเอาเงินเข้าหลวงทั้งหมด ไม่ได้รับสินบน ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งจะตรวจหมดทุกตู้คอนเทนเนอร์ก็ไม่ได้ ต้องสุ่มตรวจ 3% เพราะฉะนั้นรายที่หลุดรอดออกไปได้ แล้วเจ้าหน้าที่ไปติดตามเอาเงินภาษีกลับคืนมา กรณีนี้ถึงจะได้รับเงินสินบนรางวัล อย่างกรณีจับยาเสพติด, สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์, ไม้พะยูง กรณีอย่างนี้จับแล้วไม่ได้รับเงินสินบน แต่ก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ ในแต่ละปีมีคดีที่กรมศุลกากรจับแล้วไม่ได้เงินสินบนรางวัลปีละกว่า 1,000 คดี
ผู้สื่อข่าวใช้ พ.ร.บ.ข่าวสารข้อมูลของข้าราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลสถิติการจ่ายเงินสินบนนำจับย้อนหลัง 10 ปี และการจ่ายสินบนรางวัลให้อธิบดีกรมศุลกากรแต่ละคน/ปีเท่าไหร่ ทางคณะกรรมการบริหารข้อมูลข่าวสารฯในกรมศุลกากร เปิดเผยข้อมูลเฉพาะการจ่ายเงินสินบนและรางวัลรวมของแต่ละปีเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ใดเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ทางกรมศุลกากรระบุว่าไม่อาจจะเปิดเผยได้ โดย 10 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรจ่ายเงินสินบนรางวัลไปกว่า 10,000 ล้านบาท จริง ๆ เงินเข้ารัฐแค่ 1,500 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางสภาอุตฯได้มีการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่ไม่ให้ไปไล่ตรวจจับเพื่อหวังได้รับเงินสินบนรางวัล และเห็นด้วยว่ากรมศุลกากรยังจำเป็นต้องมีการจ่ายเงินสินบนรางวัลนำจับอยู่ แต่ไม่ควรจะได้รับกันเป็นจำนวนมากเหมือนในอดีต ยกตัวอย่าง คดีเหล็กฉาบสารซิลิคอน 7 ราย ยอมจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากร 3,000 ล้านบาท สายสืบและเจ้าหน้าที่ได้รับเงินสินบน 30% และรางวัลนำจับอีก 25% รวมแล้ว 1,650 ล้านบาท
ส่วนบริษัทที่ถูกปรับทั้ง 7 บริษัท นำค่าปรับไปลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่าย 3,000 ล้านบาท สามารถลดหย่อนหรือประหยัดค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากรได้อีก 900 ล้านบาท เมื่อนำเงินที่ต้องจ่ายค่าสินบนรางวัลไปรวมกับเงินบริษัทที่ถูกปรับไปหักเป็นค่าใช้จ่าย จริง ๆ แล้วรัฐได้เงินแค่ 450 ล้านบาท หรือ 15% เท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่และสายสืบได้เงินไป 1,650 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะได้รับการยกเว้น ส่วนสายสืบก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใคร มีแต่ลายนิ้วมือเท่านั้น
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น