กรณี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นอร์เวย์เพื่อหารือเรื่องความปรองดองกลายเป็นการตอบโต้ทางการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ถือว่า พล.ต.สนั่นไม่ให้เกียรตินายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาล แต่พรรคชาติไทยพัฒนาถือเป็นเรื่องส่วนตัว และ พล.ต.สนั่นเคยแถลงไว้แล้วว่าตั้งใจจะสร้างความปรองดองให้สำเร็จก่อนเดือนธันวาคม และถือเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในชีวิตทางการเมือง แม้จะมีหลายกระแสต่อต้านหรือกลัวจะเป็นการเกี๊ยะเซียะทางการเมือง
การออกมาเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ทั้งที่ยังไม่มีรายละเอียดใดๆจาก พล.ต.สนั่นจึงถูกมองว่าเป็นการตีโพยตีพายหรือกลัวจะสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์มากเกินไปหรือไม่ ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ประกาศเองว่าต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองโดยเร็ว เพื่อจะยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ทันที เหมือนที่รัฐบาลมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตราก่อนหน้านี้
ดังนั้น การจะเดินหน้าไปสู่การปรองดองหรือไม่นั้นพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญไม่น้อยไปกว่าประชาชนทุกกลุ่ม เพราะนายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด และพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล ถ้าผู้นำรัฐบาลไม่มีความจริงใจก็ไม่สามารถเกิดความปรองดองและความสงบสุขได้
เหมือนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไขใน 2 ประเด็น ซึ่งเป็นข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์เคยมีมติไม่เห็นด้วยจนทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มาแล้ว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ถูกประณามจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินว่าไม่มีความจริงใจที่จะสร้างความปรองดอง จนเกิดเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ทำให้มีการเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็นถึง 91 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน จนถึงวันนี้ยังไม่มีผลการชันสูตรพลิกศพว่าแต่ละคนเสียชีวิตอย่างไร และใครเป็นคนยิง
นายอภิสิทธิ์จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าไม่จริงใจและใช้วาทกรรมเพื่อสร้างภาพตัวเองและพวกพ้องให้มีอำนาจต่อไปให้นานที่สุดมากกว่าจะแก้ปัญหาของประเทศชาติและประชาชน
แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าสุดที่นายอภิสิทธิ์ประกาศจะยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ทันที แต่กลับตั้งเงื่อนไขเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาว่าบ้านเมืองต้องมีความสงบสุข หรือเลือกตั้งแล้วไม่เกิดความรุนแรง ซึ่งมีคำถามว่าใครเป็นผู้ประเมิน ขณะที่รัฐบาลยังคงใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไล่ล่าและกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง จับกุมและคุมขังฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปรกติ
ความปรองดองจึงเกิดขึ้นไม่ได้ตราบใดที่ไม่มีความยุติธรรมและผู้นำรัฐบาลไม่มีความจริงใจ
ที่มา:บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น