--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มีด-อำนาจในมือประชาธิปัตย์ คมเฉือนเกม (ไม่) แก้รัฐธรรมนูญ ลุ้นระทึก-ซื้อเวลา "ยุบสภา"

พรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นศูนย์กลาง-ข้อต่อ ทุกเครือข่ายอำนาจ

อย่างน้อยการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐบาล "เทพประทาน" ไปสู่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายยังต้องลุ้นวาระ "ยุบสภา" จากอำนาจในมือ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

อย่างน้อยการออกแบบ "เครื่องมือ" สำหรับการเลือกตั้งด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ "ฉบับทหาร" ก็ต้องอาศัย "มติ" แห่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นอำนาจนำในสภาผู้แทนราษฎร

อย่างน้อยการปล่อย-ผ่านอำนาจที่เคยอยู่ในมือ "ประชาธิปัตย์และพวก" ไปสู่ฝ่ายอื่น ก็ต้องมีเครื่องมือ-ฐานอำนาจ สร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของอำนาจ "ตัวจริง" ก่อนเปลี่ยนผ่าน

มีด-อำนาจเครื่องมือที่อยู่ในมือพรรคประชาธิปัตย์จึงมีคมทั้ง 2 ด้าน

ด้านหนึ่งเป็นเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 7 พรรค

ด้านหนึ่งเป็นเสียงสนับสนุนที่อยู่นอกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งบรรดากองทัพ-ทหารและเครือข่ายอำนาจที่มองไม่เห็น

ในการฝ่าพายุการแก้รัฐธรรมนูญ และการเตรียมตัวสำหรับการรับมือมรสุมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมสามัญทั่วไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จึงต้องอาศัยมีดที่มีคมทั้ง 2 คม

ดังนั้นทันทีที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23-24 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ-ชัย ชิดชอบ และผู้นำฝ่ายบริหาร-สุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องชีพจรลงเท้า เดินสายล็อบบี้ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อขอเสียงสนับสนุนใน 2 มาตราหลัก

ทั้งมาตรา 93-98 เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง-เขตการเลือกตั้ง และมาตรา 190 เกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

แม้ว่าข้อเสนอของ ศ.ดร.สมบัติธำรงธัญวงศ์ จะเสนอแก้ไขทั่วด้านทั้งหมด 6 มาตรา แต่คณะรัฐมนตรีจาก 7 พรรคก็เลือกมีมติเห็นชอบเพียง 2 มาตราที่ว่าด้วยเรื่องขอบเขตอำนาจของนักการเมืองเท่านั้น

กระนั้นก็ตาม 2 มาตราก็ยังเป็นข้อกังขา-คาใจของเหล่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ "สายใต้" ที่ผนึกรวมระหว่างสาย "ชวน หลีกภัย" และสายของ "บัญญัติ บรรทัดฐาน"

ทำให้สุเทพ-ผู้จัดการรัฐบาล-รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ต้องทำหน้าที่ทั้งใต้ดิน-บนดิน ทั้งกับสมาชิกพรรคตัวเองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจากนั้นยังต้องใช้ต้นทุนต่อยอดกำไรให้กับผู้มีบารมีนอกพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพรรค ชาติไทยพัฒนา และสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้มีบารมีแห่งพรรครวมชาติพัฒนา ไม่นับรวมวาระพิเศษกับเนวิน ชิดชอบ ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย

ยังไม่นับรวมบรรดาเสือ-สิงห์-กระทิง-แรดใน 7 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ "สุเทพ" ต้องใช้ต้นทุนไปต่อทุน

เกมกึ่งขู่-กึ่งปลอบจึงถูกส่งสัญญาณไปถึงทุกพรรคทั่วทั้งกระดานการเมือง

"อุบัติเหตุทางการเมืองเกิดได้ตลอด จึงต้องพร้อมเลือกตั้ง อายุรัฐบาลอาจจะอยู่สั้นหรือยาวมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ คดียุบพรรค ปชป. การปลุกกลุ่มเสื้อสีต่าง ๆ ขึ้นมา ปัจจัยเหล่านี้สามารถจุดชนวนความขัดแย้งให้รุนแรง จนรัฐบาลคุมไม่ได้ ดังนั้นทุกคนต้องไม่ประมาท" เสียงสุเทพ-ก้องจากวงสนทนาเจรจาล็อบบี้-โน้มน้าว

เหนือสิ่งอื่นใด "สุเทพ" อ้างอำนาจเหนือ ขอให้ทุกคนก้าวพ้นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุนอำนาจ "อภิสิทธิ์"

ทว่าด่าน-กับดักอำนาจที่ขวางทางแก้ รัฐธรรมนูญไม่ใช่เฉพาะ "สภาล่าง- พรรคร่วม-ฝ่ายค้าน" เท่านั้น หากยังมี เครือข่าย "สภาสูง-วุฒิสมาชิก" ที่เป็น เครือข่ายอำนาจเก่า-ฐานอำนาจพันธมิตร ที่พร้อมจะโหวตสวน "มติ" ของคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 มาตรา

อย่างน้อยสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ครอบครองเสียงสภาล่างไม่น้อยกว่า 183 เสียง รวมกับเสียงของเครือข่ายในสภาสูงอีก ไม่น้อยกว่า 30 เสียง

แม้พรรคเพื่อไทยเคยชนะการเลือกตั้งมาแล้วทั้งระบบเขตใหญ่-เขตเล็ก แต่หากต้องเป็นเครื่องมือในการเสวยอำนาจและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้ประชาธิปัตย์ ย่อมเป็นสิ่งที่ "ทักษิณและพวก" ไม่ปรารถนา

การประกาศไม่ร่วมเป็นเครื่องมือผ่าตัด-รัฐธรรมนูญ จึงเป็นแนวทางการเมืองของฝ่ายเพื่อไทยและพวก ปล่อยให้ประชาธิปัตย์ต่อสู้กับศัตรูที่เคยเป็นพันธมิตร

จำนวนมือในสภาผู้แทนราษฎรจึงจำเป็นสำหรับ "ร่าง-รัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ที่ต้องใช้เสียงจำนวน "เกินกึ่งหนึ่ง" ในวาระ 3 หรือปริมาณสุทธิ 310 เสียงขึ้นไป

นับมือของฝ่ายรัฐบาลมีสุทธิ 278 เสียง จาก 7 พรรค

แม้รวมมือของฝ่ายตรงข้ามที่หันมาโหวตล่วงหน้า แปรพักตร์จากฝ่ายค้านไว้อีกจำนวน 7 เสียง

จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีมือ-มีเสียงทั้งสิ้น 285 เสียง จึงต้องหวังเสียงจากสมาชิก "สภาสูง" อีกไม่น้อยกว่า 50 เสียง

เงื่อนไขความสำเร็จของการผ่าตัดรัฐธรรมนูญจึงอยู่ที่มีดในมือของ "วุฒิสภา"

หาก "40 ส.ว." ไม่ยอมยกมือรวมกับเครือข่าย "ส.ว.สายทักษิณ" ที่ร่วมหัวกันหดมือ หรืองดออกเสียง ก็ย่อมไม่สามารถผ่าตัดต่อลมหายใจให้รัฐธรรมนูญ 2550 กลายร่างใหม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิก "สภาสูง" เครือข่าย "40 ส.ว." ที่มีแนวโน้ม "คัดค้าน" การแก้รัฐธรรมนูญเพียง 2 ประเด็น ที่เป็นประโยชน์เฉพาะหน้า- เฉพาะนักการเมือง

ประโยชน์ที่พรรคร่วมคาดว่าจะได้รับจากการยกมือ-ออกเสียง ลงแรงในการโหวต 2 มาตรา คือ "ต้นทุน" ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ต่ำลง

หากเลือกตั้งเขตเล็ก หรือแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ย่อมทำให้สามารถคำนวณสูตรต้นทุนต่ำ-กำไรสูงได้ไม่ยาก

ทั้ง 3 พรรคใหญ่ในรัฐบาล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย รวมชาติพัฒนา จึงยกมือเห็นชอบ 2 มาตราตั้งแต่นอกเขตสภาผู้แทนราษฎร

เพราะการอยู่-การไปของนักการเมืองขาใหญ่อย่างบรรหาร ศิลปอาชา และครอบครัว หรือสุวัจน์และลูกน้อง ไม่นับรวมเนวินและเพื่อน ล้วนต้องพึ่งพา เครื่องมือเลือกตั้งแบบ "เขตเล็ก" เท่านั้น

จำนวน ส.ส.ที่จะปรับใหม่ตามแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ยังเป็น "สภา 500" แต่สัดส่วน-และเขตมีการจัดสรรอำนาจและระบบเลือกตั้งไม่เหมือนเดิม

อย่างน้อยจำนวน ส.ส.เขตจาก 400 คน ก็จะเหลือเพียง 375 คน และเปลี่ยนระบบเลือกตั้งระบบสัดส่วนกลับไปใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ โดยให้เพิ่มจำนวน ส.ส.ประเภทนี้จาก 80 เป็น 125 คน

เขตเลือกตั้ง-ระบบเลือกตั้ง ถามแนวทางของคณะนักกฎหมายอาวุโสที่ ร่วมวงกับ "ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ให้ความเห็นประกอบไว้ว่า

"จำนวน 500 ก็น่าจะเหมาะแล้ว เราก็ปรับจาก 1 ใน 5 มาเป็น 1 ใน 4 ก็คือ 125 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วน ส.ส.สัดส่วนก็เป็น 375 ลดไป 25 คน"

ส่วนเรื่องเขตเลือกตั้ง เขตใหญ่-เขตเล็ก "หมอผ่าตัด" รอบแรกถกเถียงกันว่า "ส.ส.เขตจะแบ่งเป็นเขตใหญ่หรือเขตเล็ก หลักการสำคัญทั่วโลกที่เราไปดู คือหลัก 1 man 1 vote การเลือกผู้แทนฯต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันของประชาชน จึงแก้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว"

ในแง่หลักการ-เหตุผล ย่อมฟังขึ้นในธง-ทิศทางที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากวิเคราะห์เรื่องปริมาณ-ตัวเลข-จำนวน และสถิติของ ส.ส.ระหว่างคู่แข่งที่สำคัญระหว่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทยในนามพลังประชาชนเดิม

แต่หากประชาธิปัตย์พิเคราะห์รวมกันทั้งข้อมูล-สถิติ-กระแสความนิยม-เงื่อนไขทางการเมือง และความได้เปรียบเสียเปรียบแล้วพบว่าตัวเองอาจเพลี่ยงพล้ำ

มีด-อำนาจที่อยู่ในมือของประชาธิปัตย์อาจไม่ถูกใช้ผ่าตัดรัฐธรรมนูญ แต่อาจนำไปใช้เฉือนคมในเกม "ยุบสภา" แทน


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น