--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ลุยค่ายทหารกาญจน์กรรมการสิทธิฯขอตรวจสอบหาคนเสื้อแดง

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมเรียกหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวกักขังแนวร่วมคนเสื้อแดงนานกว่ากฎหมายให้อำนาจ พร้อมขอลงพื้นที่ตรวจสอบค่ายทหารในจังหวัดกาญจนบุรีทุกซอกทุกมุมเพื่อความโปร่งใส เตือนรัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ คุมเจ้าหน้าที่ให้ทำงานในกรอบ ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งร่วมกันร่อนแถลงการณ์ต้านต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ทำลายหลักการตรวจสอบ ขัดขวางสร้างความปรองดอง “สุเทพ” ยืนยันตรวจสอบแล้วไม่มีคนเสื้อแดงหลงเหลืออยู่ในค่ายทหาร ซัด “พร้อมพงศ์-จตุพร” โกหก เชียร์ ศอฉ. เอาผิดหากชี้แจงไม่ได้ สั่งจับตาทีวี.เสื้อแดงช่องใหม่พบผิดฟันทันที

ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กสม. ผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ กสม. และประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิชุมชน ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีข่าวคนเสื้อแดงถูกคุมขังในค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรี

ยันมีเสื้อแดงสูญหาย 70 คน

“วันนี้ยังมีบุคคลที่สูญหายและญาติออกตามหาอีกประมาณ 70 คนที่มาร้องเรียนไว้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งตัวเลขนี้สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงา เมื่อมีข่าวว่ามีคนเสื้อแดงถูกขังอยู่ในค่ายทหารก็อยากให้ กสม. ไปช่วยตรวจสอบว่ามีจริงหรือไม่ หากมีควรปล่อยตัวคืนกลับสู่ครอบครัว เพราะนับจากวันที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมาถึงวันนี้เกินกำหนด 30 วันที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจควบคุมตัวแล้ว”

ท้าเปิดค่ายทหารตรวจสอบ

นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยืนยันว่าไม่มีการควบคุมคนเสื้อแดงเอาไว้ในค่ายทหารก็ควรเปิดให้ทีมงานของพรรคเพื่อไทย สื่อมวลชน และ กสม. เข้าไปตรวจสอบ เพื่อแสดงความจริงใจว่าต้องการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองตามที่ประกาศไว้

“พร้อมพงศ์” พร้อมชี้แจง ศอฉ.

“ผมแปลกใจที่ ศอฉ. ให้ตำรวจเรียกตัวไปสอบเรื่องที่พูดว่ายังมีคนเสื้อแดงถูกขังในค่ายทหาร ถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับหมายเรียก แต่หากมีหมายเรียกส่งมาก็พร้อมเข้าชี้แจง สิ่งที่ผมอยากตั้งคำถามคือวันนี้บ้านเมืองเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เพราะการทำหน้าที่ของผมทำตามข้อกำหนดรัฐธรรมนูญที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งการออกมาพูดเรื่องการกักขังคนเสื้อแดงก็เป็นการทำหน้าที่ตามที่ประชาชนร้องเรียนให้ตรวจสอบ แต่รัฐบาลกลับแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอำนาจเหนือว่ารัฐธรรมนูญ ถือเป็นการใช้กฎหมายคุกคามการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้าน”

จี้กรรมการสิทธิฯทำหน้าที่

โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า เมื่อรัฐบาลพยายามใช้กฎหมายพิเศษจำกัดการตรวจสอบพรรคการเมืองจึงไม่อาจทำงานได้โดยลำพัง ต้องมาขอให้ กสม. ช่วยตรวจสอบ เพราะรัฐบาลกำลังใช้กฎหมายพิเศษปิดกั้นการตรวจสอบเพื่อปิดหูปิดตาประชาชน

“ขนาดคนที่เป็นโฆษกพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภายังโดนอำนาจรัฐกลั่นแกล้งแบบนี้ แล้วจะมีใครหน้าไหนกล้าตรวจสอบรัฐบาล” นายพร้อมพงศ์กล่าว

กสม. จ่อเรียกทหารชี้แจง

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า จำเป็นต้องเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง และต้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบตามข้อร้องเรียนด้วย

นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. กล่าวว่า แม้จะเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการให้บ้านเมืองสงบจึงคงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป แต่ พ.ร.ก. ให้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจตามกฎหมาย อย่าทำในลักษณะเลือกปฏิบัติหรือทำอะไรเกินกว่าเหตุ การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ละครั้งต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นได้ ที่สำคัญต้องตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วยว่าอยู่ในกรอบที่เหมาะสมหรือไม่ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นต้องยกเลิกการใช้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบกำหนดเวลา 3 เดือน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. กล่าวว่า หากคำพูดของนายพร้อมพงศ์เข้าข่ายทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมืองก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ยันตรวจสอบแล้วไม่มีเสื้อแดงถูกขัง

“ผมตรวจสอบแล้วได้รับคำยืนยันว่าไม่มีการขังประชาชนไว้ที่ค่ายทหาร และไม่มีเจ้าหน้าที่ทำอะไรเกินกว่ากฎหมายอย่างที่มีการกล่าวอ้าง คำพูดของนายพร้อมพงศ์และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เป็นการโกหกทั้งสิ้น ผมขอประณามคนเหล่านี้ เพราะออกมาพูดจนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่ไม่มีใครใช้อำนาจข่มเหงรังแกประชาชนหรือทำอะไรตามอำเภอใจ” นายสุเทพกล่าว

“สุเทพ” ไม่อยากทะเลาะกรรมการสิทธิฯ

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสิทธิฯออกมาตำหนิการกระทำของรัฐบาลหลายเรื่อง นายสุเทพกล่าวว่า ไม่อยากทะเลาะกับกรรมการสิทธิฯ แต่อยากให้ช่วยดูข้อมูลให้ชัดเจนก่อนพูดหรือทำอะไร เพราะการสื่อสารด้วยความเข้าใจผิดจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย

นายสุเทพกล่าวถึงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องใหม่ “เอเชี่ยนอัพเดท” ของคนเสื้อแดงว่า เจ้าหน้าที่กำลังติดตามอยู่ หากเป็นการใช้สื่อเพื่อปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ระบุนายทุนเสื้อแดงสั่งลุยต่อ

นายสุเทพให้สัมภาษณ์หลังการทำบุญในโอกาสครบรอบวันเกิดปีที่ 61 ว่าสาเหตุที่รัฐบาลต้องต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะยังมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากหัวขบวนที่เป็นนายทุนยังไม่บรรลุเป้าหมาย ยังสั่งให้เคลื่อนไหวต่อ ต้องรอให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการยุยงปลุกปั่นแล้วจึงยกเลิก

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้กันยาวนานเหมือนที่ชายแดนภาคใต้หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า อายุเริ่มเข้าปีที่ 62 แล้ว เตรียมจะรีไทร์ตัวเองกลับไปทำงานให้ครอบครัว แต่อยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยก่อน ไม่ได้คิดหวังบ้าอำนาจอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกที่ต้องมาทำงานตรงนี้

พร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใหม่

“เอาเป็นว่าหากจังหวัดไหนไม่มีสถานการณ์อะไรแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจสามารถดูแลกันได้ก็จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” นายสุเทพกล่าวพร้อมระบุว่าการที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่าขบวนการเสื้อแดงจะกลับมาเร็วกว่าเดือน เม.ย. ปีหน้าเป็นการสรุปตามข้อมูลที่มี ก็อย่างที่บอกว่าแกนนำเขายังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ส่วน 5 จังหวัดที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นก็ประกาศใช้ใหม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการลักลอบฝึกใช้อาวุธอย่างที่นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่อยากพูดอะไรให้เกิดความตื่นตระหนก เอาเป็นว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ยังมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนจนน่ากังวล

“5 จังหวัดที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายปรกติให้เข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม ตามรายงานที่เสนอผ่านมาทางกระทรวงมหาดไทยทั้ง 5 จังหวัดอยากให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้” นายสุเทพกล่าว

การเมืองใหม่เชื่อคุมเสื้อแดงไม่อยู่

นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่ เชื่อว่าแม้รัฐบาลจะยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในหลายพื้นที่ แต่คนเสื้อแดงก็ไม่หยุดการเคลื่อนไหว และจะต่อสู้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด โดยพลิกแพลงการต่อสู้ไปตามสถานการณ์ ล่าสุดกลับไปเปิดทีวี.ดาวเทียมช่องใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่รู้ว่าจะเอากฎหมายอะไรไปห้าม ทำได้อย่างเดียวคือการเฝ้าดู หากทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงมีอำนาจ

องค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมต่อต้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานหลังรัฐบาลต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือนใน 19 จังหวัด ทำให้องค์กรต่างๆเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน เพราะเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เกินความจำเป็น เช่น ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ครส.) เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

แถลงการณ์ขององค์กรเหล่านี้ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันได้คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้อยู่สภาวะปรกติได้ จึงไม่มีเหตุความจำเป็นใดๆให้ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไว้อีกต่อไป

ลิดรอนสิทธิประชาชน

“นับแต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลได้ใช้อำนาจพิเศษลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและความเชื่อทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามมิให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม การจัดกิจกรรมต่างๆที่เห็นว่าเป็นการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล อีกทั้งการประกาศห้าม ระงับ ยับยั้งการติดต่อสื่อสาร โดยการปิดสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์จำนวนมากที่เป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง”

ทำลายระบบตรวจสอบ

แถลงการณ์ระบุอีกว่า การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังเป็นการลิดรอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 16 ยังได้ยกเว้นอำนาจศาลปกครองไว้ การยกเว้นอำนาจศาลปกครองทำให้การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไม่สามารถถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจศาลปกครองได้ แม้จะสามารถดำเนินการในศาลยุติธรรม แต่ก็เป็นเฉพาะกรณีไป ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลปกครองเพื่อตรวจสอบกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ จึงขัดต่อหลักการตรวจสอบถ่วงดุลและหลักการแบ่งแยกอำนาจ การที่รัฐบาลยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองของคนในชาติและการสร้างความร่วมมือเพื่อปฏิรูปประเทศ อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่สันติภาพ

ส.ส.เพื่อไทยรุมยำอธิบดีดีเอสไอ

ด้านการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมาได้พิจารณางบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนที่เป็นกรรมาธิการใช้โอกาสนี้สอบถามเกี่ยวกับการทำงานของดีเอสไอ เช่น นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ถามว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและคดีผู้ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นดีเอสไอให้คำนิยามคำว่าผู้ก่อการร้ายอย่างไร และคดีที่เป็นภัยต่อสถาบันมีจริงหรือไม่ อยากทราบว่าการดำเนินงานของดีเอสไอในบางเรื่องมีใบสั่งจากการเมืองจริงหรือไม่ ขณะที่ น.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ถามว่าดีเอสไอมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างไร พร้อมฝากให้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา เพื่อทำให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดอง ส่วนนางนุสรา ยังตรง ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ถามว่าดีเอสไอรับคดียึดสนามบินทั้ง 2 แห่งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นคดีพิเศษแล้วหรือไม่ เพราะมีข้อกล่าวหาก่อการร้ายเหมือนคนเสื้อแดง

“ธาริต” ยันมีหน้าที่แค่ทำสำนวน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ชี้แจงว่า คดีที่เป็นภัยต่อสถาบันและคดีก่อความไม่สงบเป็นคดีที่ตั้งต้นมาจาก ศอฉ. ดีเอสไอทำหน้าที่เป็นคนกลางในฐานะพนักงานสอบสวนเท่านั้น ยืนยันว่าการทำงานตรงไปตรงมา เพราะไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำร่วมกับอีก 12 หน่วยงานและอัยการ ส่วนการประเมินผลการทำงานนั้นดีเอสไอประเมินเชิงคุณภาพ ไม่ได้ประเมินจากปริมาณคดี สำหรับคดีที่เกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรฯเห็นด้วยในหลักการว่าควรเป็นคดีพิเศษ แต่การจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการคดีพิเศษ 20 คนเป็นผู้พิจารณา ไม่สามารถตัดสินใจอะไรคนเดียวได้

ฝากขังสองผู้ต้องหาจ้างวานระเบิด

สำหรับความคืบหน้าคดีระเบิดพรรคภูมิใจไทย ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขัง น.ส.วริศรียา บุญสม หรืออ้อ และนายกอบชัย บุญปลอด หรืออ้าย 2 ผู้ต้องหาจ้างวาน ตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ผลัดแรกตั้งแต่วันที่ 7-18 ก.ค. แต่ไม่อนุญาตให้นำผู้ต้องหาทั้งสองกลับไปสอบสวนต่อที่ดีเอสไอตามคำขอ โดยให้นำตัวนายกอบชัยไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วน น.ส.วริศรียาถูกนำตัวไปควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ฝากขังนายกำพล คำคง นายเดชพล พุทธจง และนายเอนก สิงขุนทด ผู้ต้องหาร่วมกันวางระเบิดใกล้พรรคภูมิใจไทยที่ถูกจับกุมตัวก่อนหน้านี้เป็นผลัดที่ 2 จนถึงวันที่ 19 ก.ค.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น