สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....
ตามที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ แบ่งเป็น 5 หมวด รวมทั้งสิ้น 39 มาตรา สรุปได้ดังนี้
ให้นิยามคำว่า "การชุมนุมสาธารณะ" ว่าหมายถึง การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
มาตรา 4 ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา 7 ได้วางหลักการการ "ชุมนุมสาธารณะ" เอาไว้ว่า จะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ และในวรรคสองมาตราเดียวกันระบุว่า "การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"
นอกจากนั้น มาตรา 8 ยังกำหนดห้ามการชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกสถานที่สำคัญ คือ (1) สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (2) รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลและหน่วยงานของรัฐ (3) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ (4) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน และ (5) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ได้กำหนดกรอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้ก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนทั่วไป โดยในหมวด 2 กำหนดให้ผู้จัดชุมนุมต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน รวมทั้งต้องขออนุญาตการใช้สถานที่และการใช้เครื่องขยายเสียงด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกให้
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่จะพิจารณาว่าการชุมนุมรูปแบบใดส่งผลกระทบต่อประชาชน คือ การชุมนุมขัดขวางการเดินทางในที่สาธารณะของประชาชนหรือไม่ และขัดขวางการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ หรือไม่ หากมีการขัดขวาง เจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลห้ามการชุมนุมได้
ร่างกฎหมายยังกำหนดว่า การชุมนุมสาธารณะที่ศาลสั่งห้ามการชุมนุม ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ในหมวด 3 กฎหมายได้กำหนดกรอบความรับผิดชอบของผู้จัดชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยผู้จัดการชุมนุมถือว่ามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติคือ (1) อยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาการชุมนุม (2) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (3) ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม
(4) ประกาศหน้าที่ของผู้ชุมนุม และเงื่อนไขหรือคำสั่งด้วยวาจาของเจ้าหน้าที่ให้ผู้ชุมนุมทราบ (5) ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการดูแลการชุมนุม และ (6) ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่เรียกว่า "การชุมนุมสาธารณะ"
สำหรับผู้ชุมนุม มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 17 คือ (1) ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ (2) ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง (3) ไม่นำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่ (4) ไม่บุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น (5) ไม่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัว (6) ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น (7) ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองความสะดวกประชาชน
ในกรณีจะเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งก่อน ต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานีตำรวจ และผู้ชุมนุมต้องยกเลิกการชุมนุมตามที่ผู้จัดการชุมนุมแจ้งไว้
ในหมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการดูแลการชุมนุม ให้หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่การชุมนุมเป็นผู้ดูแล หรือให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดูแลแทน โดยมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ชุมนุม ซึ่งเจ้าพนักงานที่เข้ามาดูแลต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์ และต้องแต่งเครื่องแบบแสดงตน และอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในกรณีที่เป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ เจ้าพนักงานต้องประกาศให้ยกเลิกการชุมนุมตามที่กำหนดไว้ และหากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ให้ยื่นคำร้องต่อศาล และระหว่างรอคำสั่งศาล เจ้าพนักงานมีอำนาจกระทำตามความจำเป็นเพื่อควบคุมการชุมนุมด้วย ขณะที่ผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนก็มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้ด้วย
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด คำสั่งศาลถือเป็นที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปิดประกาศคำสั่งศาลในบริเวณที่มีการชุมนุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบ
หากยังไม่ยุติการชุมนุม เจ้าพนักงานสามารถประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม และเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าผู้ชุมนุมกระทำความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานมีอำนาจค้นและจับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม รวมถึงยึดทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อการชุมนุม
ในกรณีที่การชุมนุมมีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่น จนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าดำเนินการควบคุมสถานการณ์ได้
สำหรับบทลงโทษ หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจนกลายเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย ผู้จัดการชุมนุมมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกรณีผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น