“ประชาธิปไตยไทยจะมีความเป็นเผด็จการพันธุ์ใหม่มากขึ้น รู้สึกว่า ศอฉ. มีพฤติกรรมคล้ายคณะปฏิวัติ เขาจะเรียกใครไปสอบก็ได้ แช่แข็งบัญชีใครก็ได้ เขากักขังคนได้ 7 วัน และต่อเวลาได้ อำนาจของ ศอฉ. น่าเป็นห่วง ซึ่งไม่มีใครตรวจสอบเลย ได้ยินว่า ศอฉ. ใช้เงินมือเติบ ใช้ไปเท่าไรแล้ว ได้ข่าวสมาชิก ศอฉ. ได้สตางค์พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนเป็นรายวัน โฆษก ศอฉ. ได้เงินพิเศษเป็นรายวันหรือไม่ ขอให้ตรวจสอบ บอกมาว่าได้เท่าไร ไม่อย่างนั้นใครจะตรวจสอบ ศอฉ.
บางครั้งตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีกองทัพปัจจุบันรัฐบาลอภิสิทธิ์จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีรัฐบาล นายกฯชื่ออภิสิทธิ์กองทัพจะเป็นอย่างไร สองคำถามนี้ทำให้เห็นว่าเขาเอื้อกัน พึ่งพาพึ่งพิงกันอย่างแน่น แฟ้นและด้วยดีพอสมควร”
นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่าสถานะการเมืองไทยขณะนี้ “พูดยาก เขียนลำบาก และน้ำท่วมปาก” ถ้าใครเห็นต่างจากรัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แม้แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ นักลงทุน นักท่องเที่ยว ทูตานุทูต มูลนิธิ และองค์กรระหว่างประเทศที่สังเกตการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง ได้แสดงความคิดเห็นจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับโดยตรงมาเปิดเผยยังถูกตำหนิว่าไม่เข้าใจประเทศไทย มีอคติ ลำเอียง หวังร้าย หรือถูก พ.ต.ท.ทักษิณว่าจ้างมา
เผด็จการอำพราง
ความเห็นของนายฐิตินันท์ไม่ได้แตกต่างจากนักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อต่างประเทศที่วิจารณ์รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนี้ว่าไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลเผด็จการที่ใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งมีอำนาจมากมาย ทั้งคุ้มครองการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย แม้แต่ตุลาการยังถูกมองว่าไม่มีอำนาจหรือไม่เข้ามาถ่วงดุลและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต ฉะนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่ต่างอะไรกับกฎหมายโจราธิปัตย์ของคณะปฏิวัติรัฐประหาร แต่ศาลกลับยอมรับอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้อำนาจคณะปฏิวัติรัฐประหารจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม
นักวิชาการและภาคประชาชนจึงไม่แปลกใจที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและข่มขู่ประชาชน รวมถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลตลอดเวลา เพราะอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถกล่าวหา จับกุม ควบคุมธุรกรรมทางการเงิน หรือเรียกบุคคลใดมาสอบสวนก็ได้ แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ตาม เพียงแค่รัฐบาลและ ศอฉ. เชื่อหรือสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล
โดยเฉพาะการยัดเยียดข้อกล่าวหาผู้ก่อการร้ายหรือล้มสถาบัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและ ศอฉ. ใช้สื่อของรัฐและสื่อกระแสหลักให้ข่าว โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเชื่อและเกลียดชังคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ที่ ศอฉ. มีคำสั่งให้ทหารพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย แม้รัฐบาลจะใช้ถ้อยคำสวยหรูว่า “ขอพื้นที่คืน” ก็ตาม
องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ สื่อต่างชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ต่างประณามว่าเป็นการฆ่าและทำร้ายประชาชนอย่างโหดเหี้ยม รวมถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ไม่มีทีท่าว่าจะแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเลย แม้จะถูกกระแสสังคมกดดันจากทั้งภายในและภายนอกอย่างมากมายก็ตาม
“จลาจล” ไม่ใช่ “ก่อการร้าย”
ที่สำคัญข้อกล่าวหา “ผู้ก่อการร้าย” ที่รัฐบาลและ ศอฉ. ใช้กวาดล้างและจับกุมคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม โดยพยายามอ้างถึง “ไอ้โม่งชุดดำ” การเผาศูนย์การค้าและสถานที่ต่างๆกลางกรุงเทพฯนั้น แม้แต่บริษัทประกันภัยก็ไม่ยอมรับและไม่ยอมจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย โดยระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่การจลาจล ไม่ใช่การก่อการร้าย
ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐ-มนตรี ก็ไม่สามารถชี้แจงหรืออธิบายความหมายของคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ให้แก่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ได้ โดยโยนให้ไปชี้ขาดกันที่กระบวนการทางศาล
สอดคล้องกับกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กล่าวถึงการเดินทางไปสหรัฐตามคำเชิญของผู้สนใจปัญหาของประเทศไทย และได้พบปะกับนักวิชาการ นักคิด สื่อมวลชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐว่า มีการพูดคุยถึงข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งยืนยันว่าผู้ที่มาชุมนุมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เขามาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งทางรัฐสภาสหรัฐจะออกมติสนับสนุนการแก้ปัญหาการเมืองไทย โดยการเจรจาและสนับสนุนแผนโรดแม็พของนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่ได้รวมถึงเนื้อหาในโรดแม็พ เนื่องจากโรดแม็พของนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่แผนปรองดองอย่างแท้จริง แต่เป็นแผนปฏิรูประยะยาวที่ต้องทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อ แต่กลับยังมีการปิดเว็บไซต์และวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดง
“สิ่งที่ผมคิดว่าประเทศไทยจะปรองดองกันได้ต้องอาศัยความจริงใจจากรัฐบาล โดยพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คืนเสรีภาพให้กับผู้ที่โดนตั้งข้อกล่าวหาเรื่องทางการเมือง และให้รีบตั้งข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกคุมขัง ไม่ใช่กักตัวไว้อย่างเดียวโดยที่ยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา”
พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ
ส่วนการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาเพื่อการปฏิรูปที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานนั้น นายอภิสิทธิ์ได้ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. 2553 มีงบประมาณรองรับปีละ 200 ล้านบาท หากทำงาน 3 ปี ใช้งบ 600 ล้านบาท เพื่อสร้างความฝันปฏิรูปประเทศให้เป็นจริง
ขณะที่ความหมายคำว่า “ปฏิรูป” ก็ครอบจักรวาลคือ “การใดๆที่กระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคุณค่าของสังคม ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระบบภาษีและการเงินการคลัง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบการเมืองและการจัดการภาครัฐ ระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการสังคม และระบบอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสุขภาวะ ความเข้มแข็ง และความเป็นธรรมในสังคม”
ส่วน “สมัชชาปฏิรูป” หมายความว่า “กระบวนการทางสังคมที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ โดยมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย”
ชาติหน้าไม่แน่?
นิยามการปฏิรูปที่ครอบจักรวาลนั้น แม้แต่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยังย้อนถามถึงการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง และคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อการปรองดองว่า ชาตินี้ไม่แน่ว่าจะปรองดองกันได้หรือเปล่า และไม่รู้ว่ารัฐบาลตั้งขึ้นมาทำไม ตั้งขึ้นมาเป็นประโยชน์อะไร
เช่นเดียวกับนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ก็ไม่เชื่อว่าการปรองดองจะสำเร็จ ถ้ารัฐบาลต้องการทำให้สำเร็จอาจเสนอเป็น พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ หรือเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เหมือนสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กลไกรัฐรับเรื่องไปปฏิบัติ
“แต่กรณีนี้ไม่ใช่ สถานะทางกฎหมายของการปรองดองไม่มีเลย ถ้านายกฯไปหรือเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลเราไม่มีทางรู้ว่าแผนการปรองดองจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่”
หากรัฐบาลมีความจริงใจ อย่างแรกรัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องนิรโทษกรรมคนเสื้อแดงที่อยู่ระหว่างการรับโทษ 300-400 คน ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่การกระทำจริงๆไม่มีอะไรผิด แต่ต้องไม่นิรโทษกรรมทั้งแพ็กเกจ ต้องไม่นิรโทษกรรมคนฆ่าประชาชน เพราะแนวโน้มส่วนใหญ่จะเป็นการนิรโทษกรรมหมกเม็ด ขณะเดียวกันการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บต้องนำมาพิสูจน์ให้ชัดเจน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดก็ต้องลงโทษ
“มิสเตอร์คลีน”
ไม่ใช่การสร้างความปรองดองเพื่อต้องการสร้างภาพให้นายอภิสิทธิ์เป็น “มิสเตอร์คลีน” เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความซื่อสัตย์ทสุจริตและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะภาพของนายอภิสิทธิ์ในสายตานักวิชาการ สื่อ และองค์กรภาคประชาชนจำนวนมากนั้นหมดภาวะความเป็นผู้นำไปแล้วนับตั้งแต่มีคำสั่งให้ทหารปราบปรามประชาชน
ที่สำคัญนายอภิสิทธิ์ยังไม่แสดงความรับผิดชอบและไม่ออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนเลย แต่กลับพยายามสร้างความชอบธรรมเพื่อให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ขณะที่ผลงานของรัฐบาลก็ล้มเหลว ทั้งยังถูกครหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน โดยนายอภิสิทธิ์ไม่กล้าจัด การกับรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมทุจริตตามที่ประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ เพราะกลัวกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
โคตรประชานิยม
ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์อาศัยอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณมหาศาลขยายเวลานโยบายประชานิยม โดยมีมติต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ค่ารถเมล์ รถไฟ และค่าไฟฟ้าต่อไปจนถึงสิ้นปี 2553 และเตรียมใช้เป็นมาตรการตลอดชีพ โดยจะปรับเข้าสู่ระบบรัฐวิสาหกิจ แถมยังให้ตรึงราคาก๊าซแอลพีจี-เอ็นจีวี และค่าเอฟที ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณจากเงินภาษีประชาชนกว่า 30,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้รัฐบาลอนุมัติให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ให้โบนัสข้าราชการ ลดภาษีเงินกู้ แจกเงิน แจกของ ปูพรมสร้างถนนและสาธารณูปโภคต่างๆ หรือแม้แต่พาคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและ อบจ. 75 จังหวัดไปทัวร์หรูต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นการผลาญเงินงบประมาณ และเหมือนเป็นการหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า จนถูกเรียกว่า “โคตรประชานิยม” โดยพยายามขายความฝันลมๆแล้งๆให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถทำให้ประเทศไทยเป็น “รัฐสวัสดิการ” ได้ แทนที่จะแก้ปัญหาที่รากเหง้า คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และชนชั้นในสังคม และความอยุติธรรมของรัฐบาลขณะนี้
แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังออกมาติงการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ รวมถึงพยุงราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีว่าอาจทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจได้ แม้จะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน แต่มาตรการต่างๆไม่ควรใช้นานเกินไป ควรปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาด
ศอฉ. ถลุงงบกว่า 5,000 ล้าน
ไม่ว่านายอภิสิทธิ์จะพยายามสร้างภาพและสร้างความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยังถูกบันทึกว่าเป็น “ผู้นำมือเปื้อนเลือด” อยู่ดี เช่นเดียวกับผู้นำกองทัพที่รับผิดชอบการปฏิบัติการที่ไม่อาจปฏิเสธว่าทหารฆ่าและทำร้ายประชาชนได้ เหมือนการทุจริตคอร์รัปชันที่ดูเหมือนจะเงียบหายไป ไม่ว่าจะเป็นไม้ล้างป่าช้า “จีที 200” เรือเหาะ และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ
แม้แต่ค่าใช้จ่ายของ ศอฉ. ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 5,000 ล้านบาท นับตั้งแต่กองทัพเข้ามารักษาความสงบเมื่อวันที่ 12-22 มีนาคม มีค่าใช้จ่ายประมาณ 280 ล้านบาท หรือประมาณวันละ 30-40 ล้านบาท แต่หลังจากขยายเวลาและเพิ่มกำลังพลจาก 50,000 คน เป็น 64,000 คน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-30 พฤษภาคม และวันประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว รวมยอดค่าใช้จ่ายประมาณ 3,400 ล้านบาท (เฉพาะเบี้ยเลี้ยง) แต่เมื่อรวมการเบิกจ่ายเป็นล็อตๆในรูปแบบงบสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น รวมถึงค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายย่อยอื่นๆ มียอดค่าใช้จ่ายสูงกว่า 5,000 ล้านบาท และหากยังมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อคาดว่าค่าใช้จ่ายจะยังมีต่อไป
ดีเอสไอปลุกผีคดีล้มเจ้า
ดังนั้น การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่ใช่แค่ทำให้นายอภิสิทธิ์สามารถใช้อำนาจได้เยี่ยงรัฐบาลเผด็จการทหารเท่านั้น ยังทำให้นายอภิสิทธิ์และพรรคร่วมรัฐบาลสามารถใช้เงินงบประมาณเพื่อสร้างคะแนนเสียงและกลบเกลื่อนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย
แม้แต่แผนปรองดองก็สามารถดึงนายอานันท์และ นพ.ประเวศมาเป็นกันชนให้ได้ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลและ ศอฉ. กลับพยายามให้ข่าวเรื่องการก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป
ล่าสุด ศอฉ. ยังมีการพิจารณาคดีล้มเจ้า โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ. มอบหมายให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยมีคำสั่งให้สนธิกำลัง 19 หน่วยงานนำข้อมูลมารวมกันแล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 9 ชุดคือ ชุดการข่าว ชุดเทคโนโลยีสารสนเทศ ชุดการเงิน ชุดคดีการต่างประเทศ ชุดคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชุดที่ ศอฉ. ตั้งขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งมี 2 ชุด ชุดเลขาธิการ และชุดฝ่ายอำนวยการและสนับสนุน สอบสวนตามแผนผังกลุ่มขบวนการล้มเจ้าที่ ศอฉ. เคยแจกจ่าย
ปลุกผีจนกลัวเงาตัวเอง
ดังนั้น การที่นายสุเทพและ ศอฉ. ยืนยันว่ากรุงเทพฯยังเป็นพื้นที่ล่อแหลมถึง 68 จุด จึงไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยสั่งคุมเข้มคลังน้ำมันตลอด 24 ชั่วโมง หลังเกิดการยิงอาร์พีจีใส่ถังน้ำมันของกรมพลาธิการทหารบก จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีการตั้งคำถาม ศอฉ. ทันทีว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ เพราะถังน้ำมันเป็นถังเปล่า ซึ่งผู้ลงมือต้องรู้ข้อมูลภายในเป็นอย่างดี
รวมทั้งการให้ ศอฉ. ตรวจสอบการระงับธุรกรรมทางการเงินของ 83 บัญชีดำที่เชื่อว่ามีการเคลื่อนไหวส่งท่อน้ำเลี้ยงให้คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และการให้ดีเอสไอเดินหน้าคดีล้มเจ้า จึงเหมือนการปูพรมไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้ข้อกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือล้มเจ้า จนขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน นอกจากการเอาข้อมูลและหลักฐานต่างๆมาโยงกัน เช่น กรณีไอ้โม่งชุดดำยังไม่สามารถจับตัวได้ มือเผาศูนย์การค้าก็ยังจับไม่ได้
โดยเฉพาะคดีล้มเจ้าที่ถูกนำมาปลุกระดมอีกครั้งนั้นไม่ต่างอะไรกับการปลุกผีขึ้นมาเล่นงานคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามที่นำรายชื่อมาเชื่อมโยงในแผนผังของ ศอฉ. จนถูกวิพากษ์วิจารณ์และแดกดันให้เป็นนวนิยายรางวัลยอดเยี่ยมแห่งปี
ขณะที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อในแผนผัง เขียนบทความประชดนายอภิสิทธิ์ว่าเหมือนเป็นการสร้าง “ภาพละครแขวนคอ” ย้อนไปครั้ง 6 ตุลา ที่กลุ่มขวาจัดใช้กล่าวหานักศึกษาและนำไปสู่การสังหารโหด
เช่นเดียวกับนายไมเคิล มอนติซาโน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย สถาบันศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ วิจารณ์รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ว่าใช้การข่มขู่โดยอ้างความชอบธรรมในระบบเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จอย่างในอดีต ที่ออกแบบด้วยนโยบายชวนเชื่อสุดโต่ง ซึ่งยิ่งสร้างกระแสความเกลียดชังให้รุนแรงเหมือนเหตุการณ์ในอดีตเมื่อสองหรือสามทศวรรษที่ผ่านมา
วันนี้นายอภิสิทธิ์จึงไม่ต่างอะไรกับการย่ำไปบนซากศพและกองเลือดที่รัฐบาลและ ศอฉ. ใช้วาทกรรมตอแหลต่างๆสร้างผีร้ายขึ้นมา เพื่อทำลายล้างศัตรูทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบอบทักษิณ ขอพื้นที่คืน กระชับวงล้อม ผู้ก่อการร้ายและล้มเจ้า ซึ่งในที่สุดก็จะย้อนกลับเข้าหาตัวเอง
วันนี้นายอภิสิทธิ์จึงเหมือนพยายามหนีเงาตัวเองจากซากศพและกองเลือดของคนเสื้อแดง ซึ่งจับยัดใส่หม้อแลัวเอาผ้ายันต์มาผูกปิดไว้ แต่กลับกลัว “ผีก่อการร้าย” และ “ผีล้มเจ้า” ที่เขียนขึ้นมาเอง ซึ่งจะตามหลอกหลอนนายอภิสิทธิ์ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน!
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5 ฉบับ 266 วันที่ วันที่ 3 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น