ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบว่าด้วยการปฏิรูป ตามแผนปรองดองเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้น 2 ชุด
ชุดหนึ่งคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อีกชุดคือคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี น.พ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน
เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศโดยการปฏิรูป และลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เทงบประมาณให้ถึงปีละ 200 ล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี รวม 600 ล้านบาท
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากบุคคลในแวดวงการเมือง นักวิชาการถึงแนวทางการทำงานที่กว้างเกินไปและการทุ่มงบฯให้มากถึง 600 ล้านบาท รวมถึงความไม่มั่นใจว่าแนวทางปรองดองจะสำเร็จหรือไม่
?โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะทำงานของ น.พ.ประ เวศ วะสี และ นายอานันท์ ปันยารชุน ผมมองว่ากรอบการทำงานกว้าง แต่กว้างไปหรือไม่ ไม่รู้ แต่เป็นความตั้งใจของทั้งนายอานันท์ และน.พ.ประเวศ ที่สนใจเรื่องกว้าง
น.พ.ประเวศทำเรื่องปฏิรูป ประเทศมาปีกว่าแล้ว เมื่อได้มาตรงนี้ก็เป็นโอกาสให้ขับเคลื่อนการทำงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
กรอบการทำงาน 3 ปี ที่ น.พ.ประเวศใช้คำว่า 999 วัน เป้าหมายการทำงาน คิดว่าเป็นรูปธรรมพอสมควร แต่จะทำได้จริงหรือไม่ ผมไม่รู้ เช่น สร้างคน 1 ล้านคน มาเป็นทูตช่วยทำประเทศให้น่าอยู่ มีองค์กรน่าอยู่ 1 หมื่นแห่ง เมืองน่าอยู่ 100 เมือง
เป้าหมายจะทำเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะบอก แต่หากทำตามเป้าของน.พ.ประเวศ น่าจะใช้เงินเปลืองกว่าคณะกรรมการชุดนายอานันท์ เพราะต้องขับเคลื่อนทั่วประเทศ ส่วนของนายอานันท์ เป็นเชิงยุทธศาสตร์
ดังนั้น คิดว่างบฯ ที่ได้ 600 ล้านบาท เฉพาะในส่วนของน.พ.ประเวศ น่าจะใช้ประมาณ 500 ล้าน
การวิพากษ์วิจารณ์ตอนนี้ผมว่าน่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้บรรยากาศไม่เอื้อในการทำงานเท่าไหร่ การจะทำงานต้องอาศัยความร่วมมือ จะทำแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้
กระบวนการของน.พ.ประเวศ อาจบอกว่าไม่มีการกีดกัน แต่ก็มีคนที่มีความรู้สึกว่าถูกกันออกไป ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความเสี่ยง แต่หากทำได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการนี้ พยายามทำงานระดับท้องถิ่นในหมู่บ้าน 100 แห่ง ใช้สื่อให้คนเกิดความหวังว่าอนาคตจะทำให้ไทยเป็นเมืองน่าอยู่ สร้างจินตนา การเป็นพลัง
ส่วนที่คนมีอารมณ์ยังไม่มาร่วม เมื่อเห็นการทำงานตรงนี้แล้วอาจหันมาเห็นประโยชน์ได้ คิดว่าไม่ใช่ขับเคลื่อนเฉพาะกระบวนการนี้ ต้องขับเคลื่อนให้มีพื้นที่ของฝ่ายที่โกรธเคืองด้วยก็คือเสื้อแดง
การทำงานของน.พ. ประเวศ นายอานันท์ ไม่เชิงปรองดอง แต่เป็นเชิงแก้ ปัญหาของประเทศทั่วไป หากปรองดองจะแก้ปัญหาได้ดี หรือกระบวนการแก้ปัญหาประเทศเกิดผลจะสร้างความปรองดองไปในตัวได้
ความจริงผมฝากความหวังกับคณะทำงานของนายคณิต ณ นคร มากหน่อย หวังผลระยะสั้น
ผมเคยเสนอความเห็นกับนายคณิต แล้วว่าภารกิจที่น่าจะเป็น คือ 1.การหาข้อเท็จจริง ฟังข้อมูลรอบด้าน นำมาเรียบเรียงเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้
อย่างน้อยเราก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น หากใครจะอยากมารับผิดชอบอย่างไรก็เกิดขึ้นตามมา ซึ่งการหาข้อเท็จจริงไม่ใช่การสืบสวนสอบสวน ไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมาย
2.การมีพื้นที่ของผู้ที่ถูกกระทำหรือเหยื่อ มาบอกว่าตัวเองได้รับความเสียหายอะไรบ้าง ผู้กระทำเข้ามารับฟัง มายอมรับ ถ้าเรามีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้เกิดคนบาดเจ็บล้มตาย ทำลายทรัพย์สิน ออกมารับผิดชอบ หรือให้อภัยกัน เป็นความยุติธรรมเชิงเยียวยาฟื้นฟู
3.ควรพยายามเริ่มให้มีการพูดคุยระหว่างนปช.และรัฐบาล ซึ่งเคยทำมาแล้วเมื่อปลายเดือนเม.ย. แต่พอต้นเดือนพ.ค. ก็ผิดพลาดล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย
กระบวนการปรองดองต้องทำ 2 ข้อแล้ว ต้องให้คู่กรณีจริงๆ มาพูดคุยกัน อาจมีข้อตกลงเบื้องต้น ถ้าไม่มีการเจรจา ไม่มีข้อตกลงเบื้องต้น การปรองดองก็เดินหน้าไม่ได้
การทำให้เกิดการปรองดองได้จริงต้องอาศัยองค์ประกอบเหล่านี้ร่วมกัน
?สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรม การสมัชชาปฏิรูป ที่มี น.พ.ประเวศ วะสี เป็นประธานนั้น
ในขั้นแรกคณะกรรม การได้เสนอแนว ทางในการแก้ปัญหา แต่การเสนอขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะทำได้อย่างไรและจะทำได้ขนาดไหน
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ฝังรากลึกมานาน ต้องใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นคิดว่ามีปัจจัยสำคัญคือ
1.คณะกรรมการทั้งสองชุดจะต้องเสนอแนวทางปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจะทำได้หรือไม่ ต้องดูในอนาคตเพราะบางเรื่องเกี่ยวข้องกับงบประมาณ
2.ปัญหาการเมือง การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องมีการปฏิรูปรายได้ และอาจกระทบผลประโยชน์ของนักการเมืองได้ เช่น การเก็บภาษีที่ดินทำกิน การเก็บภาษีมรดก หากเป็นเช่นนี้รัฐบาลจะอยู่ในวิสัยที่กล้าทำหรือไม่ หากผลประโยชน์อันนั้นไปกระทบกับนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล
รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ตั้งใจทำกัน แต่พอจะทำก็มีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเข้ามายุ่ง แทนที่จะเดินหน้าไปถึงเป้าหมาย กลับทำไม่ได้
3.หากมีการปฏิรูปก็ต้องมีหน่วยงานทางราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง คือกระทรวง ทบวง กรมแล้วระบบราชการของไทย ก็ทราบกันอยู่ว่าจะต้องพบกับอุปสรรคอะไรบ้าง
ส่วนตัวคิดว่าคณะกรรมการชุดนี้อย่างเก่งก็ทำได้แค่เสนอแนวทางเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนงบประมาณที่รัฐบาลให้ปีละ 200 ล้านบาทนั้น เป็นเพียงงบฯ ดำเนินการเพื่อให้ความสนับสนุน
แต่แนวทางขับเคลื่อนปฏิรูประบบต่างๆ ของประเทศที่เป็นรูปธรรมจริงๆ นั้นเป็นไปได้ยาก
คิดว่าสิ่งที่พอทำได้คือแค่เสนอแนวทางเป็นข้อสรุปว่าทำได้แค่ไหน เพราะดูแล้วมีขอบเขตที่จำกัด ต้องปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด และหากเปลี่ยนรัฐบาลการปฏิรูปก็อาจจะไม่ต่อเนื่อง
?ประสิทธิ์ โพธสุธน
ส.ว.สุพรรณบุรี
การที่รัฐบาลอนุมัติให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปของ นายอานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปของ น.พ.ประเวศ วะสี ภายใต้กรอบการทำงาน 3 ปี ในวงเงินถึง 600 ล้านบาท เพื่อใช้สร้างความปรองดองของคนในชาตินั้น
ในความเห็นขอบอกตรงๆ ว่าไม่เกิดประโยชน์ เป็นเพียงงบฯ โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้เป็นข่าว สร้างภาพก็เท่านั้น
การที่รัฐบาลบอกปรองดองเป็นเพียงภาพที่พูดเพื่อให้สวยหรู สวนทางกับพฤติกรรมอย่างสุดขั้ว ปากบอกปรองดองแต่ขณะนี้กลับกดหัวไล่ล่าคนเสื้อแดง
เมื่อเป็นเช่นนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดความปรองดองได้อย่างไร
ยืนยันว่าการที่จะปรองดองได้ต้องเกิดจากความจริงใจ เพราะขณะนี้ก็ปรากฏชัดว่าความไม่เท่าเทียมกันยังคงอยู่ และอารมณ์ความโกรธแค้นของคนที่รอวันปะทุ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก
ทางที่ดีก่อนที่รัฐบาลจะทำอะไรควรกลับมาย้อนดูตัวว่ามีความจริงใจต่อความปรองดองแค่ไหน ไม่ใช่ปากบอกอีกอย่าง แต่กลับทำอีกอย่าง อย่างนี้ใครเขาจะเชื่อถือ
ส่วนการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อยื้อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจหรือไม่นั้น ตรงนี้ขอสงวนความเห็น แต่ทุกอย่างมันมีความเป็นไปได้ เพราะปีหน้ารัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระและมีการเลือกตั้งกันใหม่แล้ว
ที่มา.ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น