ที่มา.สยามธุรกิจ
“DOUBLE STANDARD” จับประเด็นในฝันแห่งประชาธิปไตย สะท้อนผ่านมุมมอง 2 นักวิชาการ “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “เสรี สุวรรณภานนท์” อดีต ส.ว.กทม. ถ่ายทอดมิติแห่งนิติรัฐและพลเมือง อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไข ที่จะนำประเทศนี้ออกจากความขัดแย้ง
‘ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ต้องตั้งคำถามแรกว่า การใช้ประชาธิปไตยในประเทศไทยประสบความสำเร็จหรือไม่ ในเมื่อเรามีเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไล่ตั้งแต่ตุลาฯ 16 จนถึงล่าสุด พ.ค.53 รวมแล้วเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีชนวนจากการเมืองมาแล้ว 4 ครั้ง ในรอบ 78 นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน เราก็มีรัฐประหารถึง 11 ครั้ง ไม่นับกบฏอีก 11 ครั้ง เรามีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ ฉะนั้น จึงบอกได้ว่า ในรอบ 68 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถมีนิติรัฐได้”
“จากนั้นเราก็ต้องมาวิเคราะห์ว่า เหตุใดประชาธิปไตยจึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย และจะแก้ไขอย่างไร และก็มามองว่า เรารู้จักประชาธิปไตยว่า เราคือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชนแค่ไหน รู้หรือไม่ว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่เป็นในลักษณะ ผู้อาศัยเหมือนประเทศที่ไม่ได้ปกครองโดยระบบประชาธิปไตย ซึ่งเขามีสิทธิเสรีภาพเท่าที่ประเทศเขาจะให้”
“นอกจากนี้ ก็ต้องมองด้วยว่า ทำไมประชาธิปไตยต้องมีกติกา ทำไมประชาธิปไตย ต้องมีนิติรัฐ ยกตัวอย่างฟุตบอล ที่ผลประโยชน์ ของคนสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่มา แข่งขันกันภายใต้กติกา ผู้เล่นทุกคนต้องเคารพ กติกา เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยก็จำเป็นต้อง มีกติกา แต่ความแตกต่างและความขัดแย้งก็เป็นเรื่องปกติของสังคม ในเมื่อประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนก็มีอำนาจใน ประเทศ และมีสิทธิเสรีภาพตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายมาห้าม ขณะที่ผู้บริหารประเทศหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอะไรได้ก็ต้องมี กฎหมาย ฉะนั้น อำนาจกับสิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่สวนทางกัน หากท่านต้องการ ให้มีสิทธิเสรีภาพ ต้องจำกัดอำนาจให้มีเท่าที่จำเป็นและอยู่ใต้กฎหมาย”
“กฎหมายที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตย ต้องมาจากประชาชน โดยเป็นหน้าที่ของสภา ผู้แทนราษฎรไม่ใช่ที่เราสอนกันตามโรงเรียนกฎหมายหรือในคณะนิติศาสตร์ว่า กฎหมายคือคำสั่งของผู้มีอำนาจ ฉะนั้น กฎหมายตาม ระบอบประชาธิปไตยคือ การตกลงร่วมกันของประชาชนว่าจะใช้กติกาอะไรในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในเมื่อเราไม่สามารถไปตกลงกัน เองได้ ก็ต้องตกลงกันโดยผ่านผู้แทน ถ้าเรา เข้าใจเช่นนี้ ก็จะมีมุมมองในเรื่องนิติรัฐอีกมุม หนึ่ง การใช้กฎหมายก็จะไม่ใช่การทำที่ปลาย ทางเช่นที่ผ่านมา”
“สำหรับการแบ่งแยกอำนาจ ต้องมีการ แบ่งแยกฝ่ายนิติบัญญัติออกมาจากฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาล เพราะถ้าฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล มีอำนาจออกกฎหมายด้วย ถ้าต้องการอำนาจ ใดก็สามารถออกกฎหมายได้ตลอดเวลา เหมือนยิ่งรัฐบาลมีอำนาจมากเท่าไร ประชาชนก็มีสิทธิเสรีภาพน้อยลงเท่านั้น นั่นแปลว่าประชาชนยินยอมที่จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการ ขณะที่ฝ่ายตุลาการ ก็มีหน้าที่แยกอำนาจตีความกฎหมายออกมาจากผู้ใช้ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รัฐบาลตีความอำนาจเข้าข้างตัวเอง ทุกฝ่ายต้องถ่วงดุลซึ่งกันและ กัน นี่คือการปกครองระบอบประชาธิปไตย”
“ปัญหาเรื่องนิติรัฐในประเทศไทย ประการแรกเราชอบอ้างหลักนิติศาสตร์มายกเว้น กติกา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนเข้าใจกันน้อยมาก แม้แต่คนที่อยู่ในวงการกฎหมาย เราชอบเข้าใจว่ากฎหมายเป็นแค่หลักนิติศาสตร์ สามารถยกเว้นได้ ทั้งที่จริงประชาธิปไตยต้องใช้การปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีการนำหลักนิติศาสตร์มาใช้เขียนกฎหมายแล้ว ก็ต้องมีการบังคับใช้โดยเสมอกัน และต่อเนื่อง เพื่อให้คนเคารพกฎหมาย และนอกจากกติกาจะงดเว้นได้แล้ว เรายังยกเลิกกติกาได้ เห็นได้จากการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาแล้ว 8 ครั้ง เนื่องจากระบบกฎมายและกระบวนการยุติธรรม ยอมรับให้ฉีกรัฐธรรมนูญได้ โดยให้อำนาจกับ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ถ้ายึดอำนาจสำเร็จศาลจะนำมาใช้บังคับเป็นกฎหมายให้ ซึ่งขัดกับการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ เราจึงต้องมานั่งคุยกันในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการให้อำนาจฝ่ายบริหารโดยจำกัด”
“เราชอบมองว่าอำนาจแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เราใช้มากว่า 40 ปี แล้วก็ยังคงใช้ตามแบบเดิม โดยมีคำจำกัดความว่า ใช้เท่าที่จำเป็น แต่ปัญหาคือ ใครเป็น คนตีความคำว่าเท่าที่จำเป็น การมีกฎหมายไม่ใช่แปลว่าเราเป็นนิติรัฐแล้ว กฎหมายในนิติรัฐนั้นแตกต่างจากกฎหมายในระบอบเผด็จการ คือ ถ้าเป็นกฎหมายในนิติรัฐ ต้องให้อำนาจเท่าที่จำเป็น เพราะอำนาจนั้นสวนทาง กับสิทธิเสรีภาพ แต่บ้านเราก็มีมาตรา 16 งดเว้นไว้ ทำให้ผู้มีอำนาจทำอะไรก็ได้ในขณะที่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
“ปัญหาต่อมาคือ กฎหมายต้องบังคับใช้โดยเสมอกัน ซึ่งนี่คือเรื่องที่ออกจากความรู้สึกจริงๆ ของคนกลุ่มหนึ่ง ลองมองภาพนักบอล ทีมหนึ่งทำฟาวล์ยังไงกรรมการก็ไม่เป่า การแข่งขันก็ดำเนินต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น เป้าหมาย ของความปรองดองไม่ใช่ทำให้สองฝ่ายมารัก กัน แต่ถ้าได้ก็ดี เป้าคือจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอกัน แล้วการบังคับใช้กฎหมายที่ดีที่สุดคือ การให้คนเคารพกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา เรามีนิติรัฐแต่ไม่ได้สร้างให้คนเคารพกฎหมาย ประชาธิปไตยจึงล้มเหลว ในอนาคตเราจึงจำเป็นต้องสร้างพลเมืองให้มีอิสรภาพควบคู่กับความรับผิดชอบ ซึ่งเคารพผู้อื่นแล้วเคารพกติกา ลำพังมีกฎหมายที่ดี รัฐธรรมนูญที่ดี แต่ คนไม่เคารพกฎหมาย เราก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตย”
‘เสรี สุวรรณภานนท์’ อดีต ส.ว.กทม.
“ที่ผ่านมาทางออกของประเทศไทยขึ้น อยู่กับกระแสและกระสุน เวลาเกิดเหตุการณ์ ในบ้านเมืองก็จะมีกระแสออกมา เหมือนกับคำ พิพากษาว่า ใครไม่ทำตามกระแสสังคมเหมือน จะกลายเป็นคนผิด กระแสสังคมที่ทำออกมา คนที่ทำตามกฎหมาย คนที่ทำถูกต้องกลับกลาย เป็นคนผิดไป เราอยู่ในสภาวะอย่างนี้มาตลอด ไม่อยู่บนหลักกฎหมาย เหตุผล และข้อเท็จจริง มิเช่นนั้น เราก็จะเกิดความเสียหายอย่างที่ปรากฏ”
“อีกเรื่องคือ เรื่องของกระสุน เลือกตั้ง ครั้งไหนหากไม่มีกระสุนก็แพ้ทุกครั้ง นี่คือทางออกอีกทาง การที่เราบอกอยากได้ผู้บริหาร บ้านเมืองที่ดี เราต้องเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ แต่สุดท้ายคนดีที่ช่วยเหลือสังคม ดูแลสังคม และเสียสละ เมื่อลงเลือกตั้งกลับแพ้ทุกครั้ง เพราะไม่มีกระสุน เราก็พยายามสร้าง กติกา สร้างองค์กร สร้างกลไก เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตโกงการเลือกตั้ง แต่มาจนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประเทศได้ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้คนที่ดีจริงเข้ามา แต่เราจะได้คนแสวงหาประโยชน์เข้ามาตลอด”
“ทางออกของประเทศไทยที่ดีที่สุดที่เรามองเห็นหรือเป็นสากลก็คือ กฎหมายและ กติกาของบ้านเมือง อย่างในเกมฟุตบอล คนที่ได้ใบเหลืองใบแดงจากกรรมการเขาก็รับได้ กับกติกา แต่บ้านเรากติกาเดียวกัน แข่งแล้ว กลับตีกัน นี่คือสังคมไทย ที่เราไม่ยอมรับกติกา ทำให้เป็นปัญหา นอกจากนั้น การบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาคกัน ทางออกที่แท้จริง เราต้องมามองดูว่ากฎหมายที่บังคับใช้เป็นกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนหรือยัง ไม่ให้ประชาชนเหมือนถูกบังคับใช้กฎหมาย เหมือนถูกรังแก ในขณะที่สังคมเรากลับชาชินกับกระบวนการที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย”
“กฎหมายที่ออกมาบางฉบับมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ แต่บางฉบับออกโดยซ่อนปม ซ่อนเงื่อนเอาไว้ และสุดท้ายกฎหมายเหล่านี้ ก็เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์มาทำร้ายประชาชนเอง ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยหาทางออก หาทางแก้ เพราะเราชาชินกันไปแล้ว กลายเป็นว่ายอมเสียเงินเพื่อความสะดวก นี่แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้เอื้อประโยชน์ เป็นธรรม และให้บริการกับประชาชนอย่างเต็มที่ เมื่อใดถ้าประชาชนพึงพอใจ กับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นั่นก็คือ ความผาสุกและทางออกของประเทศ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องไม่เกี่ยงงานกันในหน้าที่ใกล้เคียงกัน”
“ที่สำคัญเราต้องหาคนออกกฎหมายที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันกฎหมายที่บังคับ ใช้ต้องมีคุณภาพ และการบังคับใช้ต้องมีคุณภาพ ซึ่งบ้านเราขาดสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเมื่ออำนาจอยู่มือ ข้าราชการหรือฝ่ายบริหาร ประชาชนก็ออกมาไล่ เมื่อออกมาไล่เรื่องก็บานปลายจนสร้าง ความเดือดร้อน จนในที่สุดก็เป็นวัฏจักรของปัญหา อย่างที่เราเห็นขณะนี้ “
ประตูทางออกประเทศไทยเปิดแง้มรอ ไว้ทุกเมื่อ สุดท้ายรอเพียงประชาชนคนไทย ก้าวย่างอย่างพร้อมเพรียงเพื่อไปให้ถึงหลักชัยแห่งนิติรัฐ!!!
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น