โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ตัดพ้อน้อยใจกรณีคนไทยเสียชีวิต 91 ศพในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ผ่านมากว่า 4 เดือน เหมือนรัฐบาลไทยจะไม่ให้คุณค่าความ สำคัญกับชีวิตคนไทยเลย เปรียบเทียบกับช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตแค่ 1 คน แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทวงถามความเป็นธรรมถึงประเทศไทย
ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีผลการชันสูตรพลิกศพและการสอบสวนของคณะกรรมการใดๆออกมาเลย แต่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และผู้นำกองทัพ รวมถึงรัฐบาล กลับออกมายืนยันว่าทหารไม่ได้ฆ่าประชาชน และกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายและโยงถึงคนเสื้อดำไม่กี่คน ที่วันนี้ก็ยังไม่สามารถจับได้แม้แต่คนเดียว
การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความยุติธรรมของภาคประชาชน ญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่าใครคือฆาตกร คนเสื้อดำยิงคนเสื้อแดงจริงหรือไม่ ศอฉ. สลายการชุมนุมตามหลักปฏิบัติสากลหรือ ไม่ ทหารใช้กระสุนจริงหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะ “พื้นที่การใช้กระสุนจริง” และกรณีสังหารโหดที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ฯลฯ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนและสื่อที่ต้องออกมาทวงถามถึงความคืบหน้า อย่างวันเสาร์ที่ 25 กันยายน ที่ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) จัดเวที “ไต่สวนสาธารณะ” มีการไต่สวนปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ “การขอคืนพื้นที่” และ “การกระชับวงล้อม” การอภิปรายทางวิชาการหัวข้อ “การแสวงหาข้อเท็จจริงกับกระบวนการรับผิด” กรณีสลายการชุมนุม
หรือกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ย้ำเตือนรัฐบาลไทยให้ตระหนักถึงพันธกรณีที่มีต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่จะต้องสอบ สวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนระหว่างการชุมนุม และต้องให้ทีมทนายของผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงพยานหลักฐาน
แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ตอบสนองถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง รวมถึงบท บัญญัติกรุงโรม ซึ่งเป็นรากฐานของศาลอาญาระหว่างประเทศที่บัญญัติให้ทหารหรือพลเรือนผู้มีอำนาจเหนือประชาชนที่ล้มเหลวในการดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต้องรับผิดชอบหากปรากฏชัดว่ากลุ่มคนดังกล่าวจงใจเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ระบุชัดแจ้งว่าผู้ใต้บังคับ บัญชามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว ตามบทบัญญัติกรุงโรม มาตรา 28 (b) (III)
ดังนั้น ไม่ว่านายอภิสิทธิ์จะยืนยันความบริสุทธิ์หรือเดินสายสร้างภาพต้องการสร้างความปรองดองก็ไม่อาจหนีมลทิน 91 ศพได้ จนกว่าจะมีผลการสอบสวนจากคณะกรรมการที่เป็นอิสระและประชาชนยอมรับ
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น