--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

พบปมใหม่‘สมคิด’กมธ.ชี้ไม่เข้าเกณฑ์พ.ร.บ.ล้างมลทิน

จาก.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรียกตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกฤษฎีกาเข้าชี้แจงหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พบ “สมคิด” อาจไม่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นโทษ เพราะกฎหมายกำหนดชัดผู้ที่ได้รับการยกเว้นโทษต้องถูกคำสั่งให้เป็นผู้มีความผิด หรือถูกสั่งลงโทษมาก่อน แต่ไม่พบหลักฐานยืนยัน “สมคิด” ถูกสั่งลงโทษแล้วหรือไม่ ชี้หากยังไม่เคยรับโทษต้องถูกตั้งกรรมการสอบเอาผิดทางวินัย เพราะถูกฟ้องร้องเป็นผู้ต้องหาในชั้นศาลแล้ว “สุเทพ” ชี้แจงเคยถูกตั้งกรรมการสอบแล้วแต่ไม่มีโทษ เพราะไม่มีหลักฐานเอาผิด ยันเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ประชุม ก.ตร. 24 ก.ย. นี้ เล็งหาตำแหน่งระดับผู้บัญชาการให้นั่ง ผบ.ตร. รับประกันไม่ส่งนั่งตบยุงในตำแหน่งจเรตำรวจหรือผู้บัญชาการประจำแน่นอน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กล่าวว่า การประชุม ก.ตร. เพื่อหาตำแหน่งรองรับ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ.5) ที่ประกาศไม่รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) จะพยายามหาข้อยุติให้ได้ในการประชุมวันที่ 24 ก.ย. นี้

หาตำแหน่งผู้บัญชาการให้ “สมคิด”

“หลักการคือตำแหน่งจะลดลงกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะท่านเป็น พล.ต.ท. มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ ต้องหาตำแหน่งระดับผู้บัญชาการที่ใดที่หนึ่งให้ การพิจารณาของ ก.ตร. อาจรื้อโผใหม่หมด หรือเอาของเก่ามาปรับก็ได้” นายสุเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรื้อใหม่อาจมีปัญหาตามมาอีก นายสุเทพกล่าวว่า อาจเลือกวิธีที่ไม่กระทบกับโผเดิมมากนัก เช่น กรณีของ พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี ซึ่งมีอาวุโสในลำดับถัดไป หากขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ตำแหน่งเดิมจะว่างลง พล.ต.ท.สมคิดอาจได้รับการพิจารณาไปอยู่ตรงนั้น

ระดับเดียวกับของเดิมไม่ได้สูงขึ้น

เมื่อถามต่อว่าหากซาอุดีอาระเบียไม่พอใจเพราะเห็นว่าได้ตำแหน่งสูงขึ้นอีกจะทำอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ได้สูงขึ้น กรณีนี้เหมือนกับการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดที่ย้ายจากจังหวัดหนึ่งไปอยู่อีกจังหวัดหนึ่งแต่ตำแหน่งเท่าเดิม ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าซาอุฯยื่นเงื่อนไขต้องไม่เลื่อนชั้นยศ พล.ต.ท.สมคิดนั้น ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. กล่าวว่า เมื่อ พล.ต.ท.สมคิดเสียสละเพื่อยุติความขัดแย้งกับซาอุฯ การพิจารณาตำแหน่งใหม่จะไม่ได้ไปอยู่ในตำแหน่งจเรตำรวจหรือผู้บัญชาการประจำแน่นอน ส่วนจะได้อยู่ตำแหน่งไหนนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ก.ตร.

อุปทูตซาอุฯเข้าฟังหลักเกณฑ์ล้างมลทิน

ด้านนายนาบิล เอช อัชรี อุปทูตซาอุฯประจำประเทศไทย ได้เดินทางไปฟังการชี้แจงประเด็นข้อกฎหมายล้างมลทินกรณีของ พล.ต.ท.สมคิดที่ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

นายอัชรียืนยันต่อที่ประชุมว่า ไม่ได้นำเรื่อง พล.ต.ท.สมคิดมาผูกโยงกับการออกวีซ่าให้คนไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยจะเร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่

“สมคิด” อาจไม่เข้าเกณฑ์ล้างมลทิน

นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงหลังการประชุมว่า เท่าที่รับฟังคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องพบว่า พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2545 มาตรา 5 และ 6 ระบุว่าผู้ที่จะเข้าข่ายกรณีนี้ต้องเป็นผู้ถูกกล่าวโทษว่าทำผิดทางวินัย ประเด็นนี้จึงมีปัญหาที่ต้องตั้งคำถามว่า พล.ต.ท.สมคิดมีความผิดทางวินัยหรือยัง มีการสอบเอาผิดทางวินัยหรือยัง หากมีการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนชี้โทษทางวินัยหรือยัง กรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจน จึงได้มอบให้ตัวแทนของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปช่วยพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่ และมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลคดีอาญา ผลการสอบวินัย และประวัติการทำงานทั้งหมดของ พล.ต.ท.สมคิดเพื่อนำมาพิจารณาให้ชัดเจนอีกครั้ง

ไม่มีหลักฐานเคยถูกลงโทษมาก่อน

“ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า พล.ต.ท.สมคิดทำผิด ไม่ถูกไล่ออก ไม่ถูกพักราชการ ตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือน จึงคิดว่ายังไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน อีกทั้งล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบหลักฐานใหม่จนมีการส่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด ถือว่าเป็นการนับหนึ่งใหม่ในคดีอาญาหรือไม่ และจะเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทินหรือไม่” นายประชากล่าว

“สุเทพ” แจงสอบแล้วไม่พบความผิด

กรณีเดียวกันนี้ นายสุเทพได้ตอบกระทู้ถามของ ส.ส.ฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาระบุว่า พล.ต.ท.สมคิดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนักธุรกิจชาวซาอุฯเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สมัยนั้น พล.ต.ท.สมคิดถูกตั้งข้อหา ซึ่งกรมตำรวจขณะนั้นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน ในที่สุดการสอบสวนทางวินัยไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานมาดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.สมคิดในขณะนั้นได้ อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด ส่วนอธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งยุติการดำเนินการทางวินัย เพราะไม่มีหลักฐานมาประกอบคดี

กฎหมายไม่ให้นำเรื่องเก่ามารื้อฟื้นอีก

ต่อมามี พ.ร.บ.ล้างมลทิน มาตรา 6 ระบุว่า ในบรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัย หากผู้บังคับบัญชาสั่งยุติเรื่องแล้ว หรือได้รับโทษทางวินัยไปแล้ว ไม่ให้นำเรื่องนั้นมาดำเนินการทางวินัยอีก กรณีของ พล.ต.ท.สมคิดในขณะนี้แม้ว่าดีเอสไอจะสอบสวนสรุปสำนวนส่งอัยการและสั่งฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาล แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการกับ พล.ต.ท.สมคิดได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจน ซึ่งเรื่องทั้งหมดมีเอกสารหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ก.ตร. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น