| ที่มา. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
1 ใน 20 อรหันต์ เข้าประจำการในบ้านพิษณุโลก เพื่อปฏิรูปประเทศไทย
หลายคนมีสีเสื้อติดตัว-ตีตรา กากบาท แสดงตัวตนว่ามาจากสังกัด "ขั้ว" การเมืองฝ่ายไหน
บางคนเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้าย
บางรายเป็นข้าราชการฝ่ายขวา
บางคนก้าวหน้า นั่งเผชิญหน้าสภาวะฝ่ายอนุรักษนิยม
บางคนมาจากชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง
ภารกิจหัวรถจักร ขับเคลื่อนประเทศไทย ออกจากรถไฟขบวนแดง-เหลือง จึงเป็นส่วนหนึ่งของพันธะของชีวิตวัย 77 ของ "ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์" ที่แทบทั้งชีวิต ผูกติดอยู่กับชุมชน-สลัมและคนจน
"ม.ร.ว.อคิน" ที่ปรากฏตัวท่ามกลางปัญญาชน-สามัญชน และทายาทอำมาตย์ แห่งบ้านพิษณุโลก
@ เดิมทำงานกับภาคประชาสังคม นี่เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่ทำงาน ขับเคลื่อนสังคมในฝ่ายรัฐบาล
การเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ความจริงอันนี้ก็ไม่ใช่รัฐบาลนะ ต้องแยกออกจากรัฐบาล ที่มาทำเพราะผมทำงานกับชาวบ้านมาเยอะแล้ว ตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้วก็ทำงานสลัมเรื่อยมา ผมถือว่าคราวนี้เป็นโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือ หลังจากที่เรียนรู้เกี่ยวกับคนยากจน เมื่อก่อนก็ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่เขียนไปว่าไป ตอนนี้คิดว่าน่าจะมีช่องทางช่วยได้จริง ๆ ความจริงก็แก่แล้วน่าจะหยุดได้สักที
@ คณะปฏิรูปประเทศไทยมีความคาดหวังว่าจะได้นำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน
เราคงจะมีมาตรการอะไรออกมาในไม่ช้า ผมหวังว่าอย่างนั้น ในเมืองไทยมี 2 อย่าง นักวิชาการที่อยากจะปฏิรูปแบบรื้อโครงสร้างทำโครงสร้างใหม่ แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ แล้วผมพยายามผลักดันมาก ผมคิดว่าปัญหาเร่งด่วนที่ชาวบ้านมีความทุกข์ควรจะแก้เดี๋ยวนี้ ควรจะจัดการโดยเร็ว ทางคณะกรรมการเข้าใจ เราได้พูดถึงเรื่องมาตรการเร่งด่วน มาตรการปานกลาง และระยะยาว เป็น 3 ระยะ
@ ระหว่างนี้ไปถึง 3 ปี จะมีมาตรการอะไรออกมาต่อเนื่อง
ใช่ ผมคิดว่าอย่างนั้น บางมาตรการควรจะเริ่มภายในไม่กี่เดือนก่อนสิ้นปี เป็นมาตรการเร่งด่วนที่พอจะทำได้ มาตรการเร่งด่วนหมายความว่า เป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่เวลานี้ ยกตัวอย่างเรื่องที่ดินมีเยอะมากไปประกาศเป็นอุทยาน ไปทับชุมชนที่เขาอยู่แล้วก็มีการจับกุม เอาไปติดคุกก็มี แล้วที่ยังไม่พิสูจน์ว่าเป็นที่ของชุมชนหรือเป็นที่ของประกาศอุทยานไปทับที่ของชุมชนเก่าหรือเปล่า ต้องช่วยคนที่ลำบาก ผมคิดว่ามันก็ไม่น่าจะยากอะไร
@ มาตรการเกี่ยวกับที่ดินของคนที่มีปัญหากับรัฐน่าจะทำได้ภายในสิ้นปีนี้
ช่วยคนที่ต้องติดคุก หรือคนที่ถูกจับ และมาตรการที่น่าจะทำได้ คือการหยุดยั้งการกระทำ เช่น ขอว่าอย่าไปจับเขาในกรณีเช่นนี้ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินเป็นของใคร แล้วก็อาจจะหยุดยั้งการประกาศที่ดินเป็นเขตหวงห้าม ต้องให้เขาหยุดยั้งไว้ก่อน
@ เวลานี้คณะกรรมการมีข้อมูลทั่วประเทศแล้วหรือยัง
ทางเรามีข้อมูล เพราะมีประชุม ประเด็นพวกนี้เป็นของที่ชาวบ้านร้องขอมาเยอะมาก เพราะเขาประกาศอยู่เรื่อย ทั้ง ๆ ที่อุทยาน... มันไม่ใช่อุทยานอย่างเดียว กรมเจ้าท่าก็ประกาศที่ดินอันหนึ่ง รัฐก็ประกาศที่ดินอันหนึ่ง แล้วบางทีก็เอาไปจากชาวบ้าน ไปให้พวกนายทุน ทำรีสอร์ต เราก็ต้องให้ยับยั้งการประกาศพวกนี้
ทางภาคใต้ มีที่ดินที่ชาวบ้านเขาอยู่มาก่อนแล้ว พอสึนามิ ชาวบ้านก็หลบไป พอกลับมาอีกที กลายเป็นที่มีโฉนดไป แล้วของนักการเมืองก็เยอะ
@ กรรมการปฏิรูปเข้าไปจัดการ ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน แบบนี้ก็ขัดผลประโยชน์นักการเมือง
ก็ต้องคุยกัน เพราะผมยังไม่รู้มาตรการเราจะทำอย่างไร แต่ผมคิดว่าถ้าจะประกาศให้เขาหยุด ก็คงต้องคุยกับเขาด้วย
คือตอนนี้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะราบรื่นขนาดไหน จากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ก็ทำให้คนรู้สึกว่าอยากจะร่วมมือ ชักชวนให้ร่วมมือแก้ไขปัญหา ไม่ให้บ้านเมืองวิกฤตเรื่อยไป ที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของรัฐและของคนที่ร่ำรวยอยู่ไม่กี่คนหรอก ที่เหลือที่ชาวบ้านอยู่มันน้อยมาก จะต้องมีการกระจายที่ดินกันใหม่ แต่จะทำได้แบบไหน
เรื่องโฉนดชุมชน ในที่ประชุมก็มีบางคนค้านเพราะไม่เห็นด้วยกับโฉนดชุมชน ในกลุ่มย่อย...ที่เขาพูดคล้าย ๆ กับว่าชาวบ้านจะตีกันเอง
@ การจัดการที่ดินของรัฐถ้าไม่เร่งทำแล้ว ประเทศจะลุกเป็นไฟ
ใช่ คือปัญหาเรื่องที่ดิน ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ไม่หยุดยั้ง คนที่ไม่พอใจจะมีมาก ๆ
@ งานชุมชน-สลัมที่อาจารย์ศึกษา มา30-40 ปีจะมาผลักดันผ่านการปฏิรูปคราวเดียวหรือเปล่า
ผมคิดว่าคณะกรรมการปฏิรูปมีของที่จะทำสำเร็จภายใน 3 ปี และมีของเยอะที่จะไม่ทำสำเร็จภายใน 3 ปี หน้าที่อย่างหนึ่งคือต้องสร้างองค์กรอะไรสักอย่างของประชาชนที่จะทำหน้าที่แทนเรา สภาประชาชนประกอบด้วยกลุ่มเครือข่ายชุมชน กลุ่มเอ็นจีโอ และตั้งแต่ระดับล่าง ทำคู่ขนานกับองค์กรของรัฐอย่าง อบต. และรัฐบาล
@ คณะกรรมการปฏิรูปส่วนใหญ่มีความคิดคล้าย ๆ กันหรือเปล่า
ในคณะกรรมการปฏิรูปมีคนที่มีความคิดแตกต่างกันเยอะแยะ คุณคิดดู อย่างอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช กับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตรงกันข้ามกันนะ ผมคิดว่าไม่เลว ถ้าในใจผมประเมินดู ผมว่าประธานของเราเก่งมาก ท่านอานันท์เก่งมาก ท่านสามารถที่จะตะล่อมคนที่หลายความคิดเข้ามาสรุป
@ ข้อเสนอของคณะปฏิรูปต้องใช้ความกล้าหาญ คิดว่าจะผลักดันไหวไหม
ผมว่าเราผลักไม่ไหว แต่ถ้าเราร่วมกับประชาชนอาจจะไหว ต้องไปด้วยกัน ทางเราต้องพยายามให้อำนาจประชาชน เราเสนออะไรที่ประชาชนอยากได้ ก็หวังว่าประชาชนจะสนับสนุน
@ ปัญหาความขัดแย้งเฉพาะหน้าจะได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการปฏิรูปแค่ไหน
เรามีเวทีก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ
@ คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ตอบสนองรัฐบาลฝ่ายเดียว
ไม่ได้ตอบสนองรัฐบาลฝ่ายเดียว ความจริงเราตอบสนองประชาชนมากกว่า
@ 3 ปีดูยาวนานเกินไปไหมสำหรับการแก้ปัญหา
ไม่ เพราะเราทำอะไรด่วนก็ทำก่อน แต่มีอะไรที่เลย 3 ปีไปอีกกว่าจะทำได้ กว่ากฎหมายจะออก แล้วถ้าเผื่อบางอย่างนักการเมืองไม่ชอบ ยิ่งนานไปใหญ่ ยิ่งไปกันใหญ่
@ ข้อเสนอมีแนวโน้มจะถูกค้านจากฝ่ายการเมือง
นักการเมืองยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินเยอะ ครอบครองที่ดินเยอะ ผมก็ไม่รู้จะเป็นยังไง สุดแท้แต่ว่าเราจะสามารถทำให้เขาเห็นแก่บ้านเมืองได้ขนาดไหน
@ หัวรถจักรขับเคลื่อนประเทศไทยทั้งหมด 4 หัว ทั้งรัฐบาล มีคณะกรรมการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ คณะกรรมการปรองดอง จะผนวกหัวที่ 5 ของคุณทักษิณและเพื่อไทยด้วยหรือเปล่า
ทั้ง 4 หัวก็ต้องร่วมมือประสานกันมาก ๆ เพราะมีหลายเรื่อง ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านมันมีมานานแล้ว แต่พรรคการเมืองที่เข้ามาเอาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ดึงความเดือดร้อนนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของตัวเอง อันนี้ก็ลำบากว่าเราจะสามารถดึงคนมาทางเราได้มากแค่ไหน ปัญหาอยู่ที่นักการเมือง มันเป็นเรื่องการเมืองจริง ๆ ทำไงให้ประชาชนรู้ว่ามีอีกอย่าง ทุกวันนี้เขาก็รู้ว่านักการเมืองเป็นยังไง
@ 4 หัวขบวนของฝ่ายรัฐเปิดช่องให้นักการเมืองอีกฝ่ายด้วยหรือไม่
ผมไม่รู้นักการเมืองฝ่ายไหนเป็นยังไง อย่างคณะกรรมการนี้ก็เป็นอิสระจากกรรมการมากพอสมควร อย่างข้อเสนอให้เลิก พ.ร.ก. อันนั้นก็ชัดว่าเราไม่ได้เป็นพวกเดียวกับรัฐบาล แล้วเราก็ไม่ใช่พวกเดียวกับคุณทักษิณ ทีนี้ใครที่พอจะเป็นกลาง ๆ ที่จะดึงทั้ง 2 ฝ่าย เรามีความตั้งใจจะสร้างให้ประชาชนมีพลัง หวังว่าคนกลาง ๆ ที่มีอยู่ทั้ง 2 ข้างจะเข้ามาหาเรา เห็นว่าเราพยายามทำให้เขา
@ ปัญหาที่ผ่านมามีการพูดเรื่องชนชั้นเป็นอุปสรรค อาจารย์มองอย่างไร
(ถอนหายใจ) ก็เถียงกันอยู่ว่าประเทศไทยมีชนชั้นหรือเปล่า ถ้าสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์มาก ๆ เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง ชนชั้นซึ่งเป็นความสัมพันธ์แนวราบก็จะไม่มี นี่เป็นหลักการที่ผมกับอาจารย์นิธิเถียงกันมานมเน อาจารย์นิธิบอกว่าเมืองไทยไม่มีระบบอุปถัมภ์ เพราะเปลี่ยนไปมากจนไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นคนกลุ่มหนึ่งคิดว่าเมืองไทยมีชนชั้น อีกกลุ่มคิดว่าไม่มี แต่เป็นระบบอุปถัมภ์
@ ผู้ชุมนุมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลได้หยิบยกเรื่องชนชั้นผู้เสียเปรียบกับได้เปรียบ
ใช่ ก็มีคนเถียงเขาอยู่ว่ามีชนชั้นผู้เสียเปรียบและชนชั้นผู้ได้เปรียบ เขาใช้คำว่าอำมาตย์ใช่ไหม แต่อำมาตย์มันมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น แสดงว่าเขามองเห็นว่าเมืองไทยมีลักษณะ ฟิวดัล (feudalism) แล้วเปลี่ยนมา แล้วชนชั้นอำมาตย์นี้คือชนชั้น ฟิวดัล อันนี้เขาไปแรงนะ อันนี้แรง เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน ใช่ไหม คล้าย ๆ กับชนชั้นอำมาตย์ก็คือข้าราชการมาเชื่อมกับพวกนายทุน ใช่ไหม เป็นชนชั้นหนึ่งที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
@ เป็นการสร้างวาทกรรมอำมาตย์ และชนชั้นผู้ได้เปรียบ
สมัยนี้มันมีปัญหา ผมเป็นพวกหัวโบราณ คิดไม่เหมือนพวกสมัยใหม่ คือสมัยนี้เขาคิดว่า สื่อมีอำนาจมาก ก็มีความคิดอย่างฟูโก (มิเชล ฟูโก Michel Foucault) มาพูดเรื่องนี้แล้วมีอิทธิพลมาก คือคนเราสามารถใช้สื่อทำให้คนเชื่อ ตั้งมาเป็นวาทกรรม ทำให้คนเชื่อ
@ หัวใจที่ทำให้วาทกรรมคำว่าอำมาตย์ดำรงอยู่ได้ เพราะมีชุดความจริงสนับสนุนอยู่หรือเปล่า
มี ก็มีอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่ผมทำงานมาในชนบท พ.ศ. 2511-12 ไล่มาเรื่อย ผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เคยพบเห็นในชนบท คือชาวบ้านเขาไม่ชอบข้าราชการ เขาไม่ชอบด้วยความรู้สึก 2 อย่าง บางทีเขาก็หัวเราะ บางทีเขาก็โกรธ คือเขาไม่ชอบ ว่ามาเอาเปรียบเขา อย่างการขุดคลองชลประทาน มาวัดมาบอกว่าจะให้เงินค่าที่ดินที่เอามาทำคลอง แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เงิน เมื่อนำมาพูดเปรียบเทียบ ทำให้ชาวบ้านก็รู้สึกว่ามันมีความจริงอยู่
@ ช่วงชีวิตของอาจารย์ มองเห็นพัฒนาการคำว่าอำมาตย์ และคนที่มีเชื้อเจ้า ในขณะนี้ถือว่าถูกท้าทายที่สุดหรือเปล่า
ที่สุดหรือไม่ที่สุด ผมไม่รู้ รู้แต่ว่ามีการท้าทาย เป็นการสร้างวาทกรรม บางอย่างก็เอามารวมกัน แต่ไม่รู้มันจะเวิร์กขนาดไหน เพราะในอีกด้านหนึ่งคือคนไทยยังมีความจงรักภักดี และอีกอย่างคือการปฏิบัติองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
@ ทำไมจู่ ๆ คนถึงลุกขึ้นมาท้าทาย
ผมคิดว่ามันคุกรุ่นมานาน ความจริงมันเป็นเรื่องตลกที่การท้าทายสถาบัน แต่อาจจะไม่ได้ทำโดยชาวบ้าน แต่คนที่ท้าทายสถาบัน... ซึ่งความจริงสถาบันถูกท้าทายมาหลายหนแล้ว โดยมากจะเป็นผู้มีอำนาจมาก เช่น เมื่อก่อนทหารมีอำนาจมาก ก็มีการท้าทาย สมัยจอมพลแปลก ก็มีการท้าทายพอสมควร อันนั้นก็เป็นสาเหตุอันหนึ่ง ที่จอมพลสฤษดิ์ลุกขึ้นมา...อ้างอย่างงั้น จอมพลสฤษดิ์ก็อ้างอย่างนั้น
ทุกครั้งที่มีคนที่มีอำนาจมากก็จะท้าทายสถาบัน เพราะการใช้อำนาจของเขาก็จะติดขัดอยู่ที่สถาบัน ใช่หรือเปล่า เขาใช้อำนาจไม่ได้เต็มที่เพราะติดขัดที่สถาบัน ทีนี้มาถึงสมัยนี้ คนที่มีอำนาจมากคือใคร ก็คือคนที่มีเงินมาก คนที่มีเงินมาก เขาก็ต้องการที่จะ....สถาบันก็กลายมาเป็นอุปสรรคของเขา
ถ้าเขามีเงินมาก เขาก็คิดว่าสามารถที่จะใช้เงินเอามาพัฒนาการใช้อำนาจ เพราะสมัยนี้อำนาจอยู่ที่เงิน แต่เมื่อก่อนอำนาจอาจจะอยู่ที่อื่น ครั้งหนึ่งอาจจะอยู่ที่คุณทำความดีอะไรต่าง ๆ นานา แต่เดี๋ยวนี้อำนาจไม่ได้อยู่ที่คุณธรรมความดี แต่มาใส่ในเงินตรา ถ้าคุณมีเงินคุณก็มีอำนาจ อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น
@ อาจารย์มองว่าคนที่ท้าทายไม่ใช่ชาวบ้าน
แต่เขารวมชาวบ้านที่มีปัญหา ที่มีความทุกข์ยากมาเป็นพวกได้
@ อำนาจเงินกับชาวบ้านมาผนวกกันทำให้มีพลังต่อรองหรือไม่
ใช่ เขาใช้เงิน เอาชาวบ้านมาเป็นพวกได้ ก็แปลกนะ ความจริงเขาก็ใช้ระบบอุปถัมภ์ แต่ว่ามันเปลี่ยนจากฐานเก่า สมัยเก่าอยู่ที่สถาบันและสถาบันอยู่ที่คุณธรรม แต่เดี๋ยวนี้ฐานมันอยู่ที่เงิน
@ เรื่องคนชนบทกับคนในเมืองเป็นเกณฑ์การแบ่งแยกปัญหาได้หรือไม่ ในเมื่อในเมืองก็มีคนจนจำนวนมาก
คนจนในเมืองไม่ได้ขัดกับคนจนในชนบท ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน คนในเมือง ในสลัมก็อพยพมาจากชนบท มาจากอีสานจำนวนมาก คุณจะรู้ว่าคนในสลัมส่วนมากเป็นเสื้อแดงนะ ผมก็รู้จักเขาเยอะนะ อย่างบ่อนไก่ เคยคุ้นอยู่
@ คนในสังคมเอาปัญหาที่สะสมมาฝากความคาดหวังไว้ในคณะกรรมการปฏิรูป
ใช่ ๆ ความจริงคนก็หวังเยอะนะ เขาคาดหวังกันมาก แต่ผมไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร
@ ในช่วง 3 ปีอาจจะเปลี่ยนรัฐบาล
คณะกรรมการอยู่ต่อ แต่จะเข้ารูปหรือจะแตกเยอะ ผมไม่ทราบ อนาคตมันทายยาก มันเปลี่ยนเยอะ โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนปรับตัวไม่ทัน มันลำบากมาก จากการทำนายของนักสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา ทำนายอนาคตผิดทุกวัน (หัวเราะ) |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น