--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

สัมปทานพิสดาร ลานจอดรถฉาวสุวรรณภูมิ เลือก "บ.ปาร์คกิ้ง" ชูธุรกิจค้าอาวุธร่วมวง

สัมปทานซับซ้อนพื้นที่ลานจอดรถสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." ทำสัญญากับ "บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด" บริเวณอาคารเอและบี (ลานจอดรถปัจจุบัน) ขนาด 160,000 ตารางเมตร เป็นเวลา 5 ปี ระหว่าง 30 เมษายน 2553-31 มีนาคม 2558 เมื่อตรวจสอบเอกสารพบเงื่อนงำพิสดารมากมายและหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต หากรัฐยังปล่อยไว้เช่นนี้จะยิ่งกระทบรายได้และภาพลักษณ์ สนามบินนานาชาติของประเทศที่ตั้งเป้า ติด 1 ใน 5 ของโลก

ท่ามกลางปัญหาของหน่วยงานได้ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ?

เมื่อ ทอท.เปลี่ยนแผนหารายได้พื้นที่ลานจอดรถสุวรรณภูมิ จากเดิมดำเนินการเองไปให้สัมปทานเอกชนทำ แบ่งผลประโยชน์ตามสัญญา เมื่อ 21 เมษายน 2553 ให้บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้รับสิทธิ ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงหมวดต่าง ๆ ได้แก่ หมวดหลักเกณฑ์และสิทธิการพิจารณาข้อเสนอค่าตอบแทน ระบุอย่างชัดเจนว่า ผู้ได้รับอนุญาตจะต้อง "ชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน" แก่ ทอท.อัตราร้อยละ 75 ของยอดรายได้ต่อเดือน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) 15.5 ล้านบาท/เดือน

"หมวดการทำสัญญา" ให้วางหลักประกันสัญญา ส่วนที่ 1 ค่าตอบแทน รายได้เป็นเงิน 6 เท่า ของเงินค่าตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนของปีที่ 1 หรือประมาณ 120 ล้านบาท วิธีชำระค่าตอบแทนให้นำส่ง ทอท.ทุกเดือนภายในวันที่ 7 ของเดือน ถัดไป หากล่าช้าจะคิดดอกเบี้ยปรับร้อยละ 18 ต่อปี ของเงินที่ค้างชำระแต่ละเดือน ส่วนที่ 2 หลักประกันค่าเช่าพื้นที่ประกอบการเป็นเงิน 4 เท่า ของค่าเช่ารายเดือน หรือประมาณ 19.2 ล้านบาท

ตรวจสอบเอกสารสัญญาระหว่าง ทอท.กับบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด และหนังสือร้องเรียนของนายเกษม วงษ์สมศรี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทอท. กรณีผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากสัมปทานบริหาร ลานจอดรถสุวรรณภูมิ (ก่อนหน้านี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ตรวจสอบคำร้องทุกข์ของนายธนกฤต เจตกิตติโชค ซึ่งอ้างเป็นกรรมการ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ส่งถึงปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อ 29 สิงหาคม 2553 กล่าวโทษนายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ และ นางดวงใจ คอนดี รองผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ เพื่อให้ลงโทษฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่)

ก่อน ทอท.ลงนามกับกรรมการ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เมื่อ 29 เมษายน 2553 มีหลักฐานปรากฏในเอกสาร ทอท. 16540 ลงเวลา 15.28 น. รับเรื่อง : ขอทักท้วงคัดค้านการลงนาม ตามสัญญาเข้าบริหารจัดการอาคารและลานจอดรถผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรียน : กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อ้างถึง : หนังสือแจ้งผลการพิจารณาขยายเวลาการทำสัญญาอนุญาตของ ทอท.ที่ 356/2553 ลงวันที่ 21 เมษายน 2553 (ดูจากสำเนากราฟิก) คัดค้านโดย "นายธรรศ พจประพันธ์" ผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่น อีกหนึ่งคนของ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด

หนังสือทักท้วงคัดค้านให้ ทอท.ลงนามสัญญาสัมปทานลานจอดรถได้ระบุชัดว่า สำเนาการขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจมีข้อมูลอันเป็นเท็จ ลายมือชื่อปลอม ลงวันที่ 12 เมษายน และ 23 เมษายน 2553 จึงได้แนบหนังสือขอเพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร และสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ดังกล่าวของ สน.บางพลัด ตามคดีอาญาที่ 511-2553 ลงวันที่ 28 เมษายน 2553 มาไว้ด้วย

เอกสารทั้งหมดนั้น "นายธรรศ พจนประพันธ์" ผู้มีอำนาจลงนามใน บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ต้องการให้ผู้บริหาร ทอท.หยุดการลงนามสัญญาสัมปทานลานจอดรถสุวรรณภูมิไว้ก่อน เพื่อรอคำสั่งและการพิสูจน์จากสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต่อมาเมื่อ 23 กรกฎาคม 2553 นางพิมลวรรณ คชเดช ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ส่งหนังสือยืนยันถึงนายธรรศและนายธนกฤตนำไปแสดงต่อ ทอท.เรื่องแจ้งคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ทะเบียนเลขที่ 0105553045168 ตามคำขอ และหากจะมีผู้อุทธรณ์ต้องทำภายใน 15 วัน (จนถึงบัดนี้ยังไม่มีอุทธรณ์)

ผลปรากฏว่าผู้บริหาร ทอท.ไม่ได้ฟัง คำค้านของนายธรรศ กรรมการบริษัทนี้มาตั้งแต่ต้น กลับเดินหน้าทำสัญญาให้บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เข้าทำสัมปทานเมื่อ 30 เมษายน 2553 เป็นต้นมา และมีปัญหาลุกลามบานปลายมาถึงวันนี้

จากการตรวจสอบคุณสมบัติที่กำหนด ในทีโออาร์ ทอท.ระบุผู้ชนะประมูลต้องมีประสบการณ์บริหารลานจอดรถไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ในทางปฏิบัติจริงกลุ่มเก่า 2 บริษัท คือ บริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด ของนายธนกฤติ เจตกิตติโชค กับบริษัท สแตนดาร์ด พรอมพ์ จำกัด ของนายชุมพล ญาณวินิจฉัย ไปยื่นจดทะเบียนใหม่เป็นบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เพิ่มกรรมการใหม่อีก 1 คน คือนายธรรศ พจนประพันธ์ เป็นผู้มีอำนาจลงนามคนแรกและยื่นคัดค้านการทำสัญญาทั้งหมด

เมื่อตรวจสอบเอกสารยื่นจดทะเบียนของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ที่แนบมาพร้อมกันขณะยื่นประมูลงาน ทอท. ตั้งแต่ 7 เมษายน 2553 แจ้งดำเนินธุรกิจ 90 รายการ ในจำนวนนี้ได้ระบุ ประกอบกิจการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ จำหน่ายรถถัง รถหุ้มเกราะ ยานยนต์หุ้มเกราะ รถตีนตะขาบ ยานพาหนะที่ใช้ในราชการสงครามทุกชนิด และกิจการขนส่ง-ขนถ่ายสินค้า คนโดยสารทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งรับบริการของออกจากท่าเรือตามพิธีศุลกากร และจัดระวาง การขนส่งทุกชนิด

รวมไปถึงกิจการนำเที่ยว ตัดผม แต่งผม เสริมสวย ตัดเย็บ ซักรีดเสื้อผ้า โรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาลรักษาคนไข้และผู้ป่วยเจ็บ จัดพิมพ์และ เผยแพร่สถิติ ข้อมูลทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การตลาด รับทำและซ่อมแซมรถยนต์ หุ้มเกราะ รถที่ใช้ในราชการสงครามทุกชนิด

เรื่องราวสัมปทาน "ลานจอดรถสุวรรณภูมิ" ที่ ทอท.อนุมัติให้บริษัท ซึ่งแจ้งมีวัตถุประสงค์จะดำเนินธุรกิจจำหน่ายยุทโธปกรณ์ใช้ในราชการสงครามทุกชนิด เรื่อยไปจนถึงกิจการขนาดเล็กมากมายนั้น เหตุใด ทอท.จึงยินยอมตกเป็นเบี้ยล่าง ทั้ง ๆ ที่คู่สัญญาปฏิบัติ ผิดเงื่อนไขทีโออาร์แทบทั้งสิ้น


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
*************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น