--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

ความงาม ท่ามกลางยุคสมัยที่ขัดแย้งวุ่นวาย

Creative City ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการสร้างบรรยากาศที่มีเสน่ห์สีสันในการดึงดูด Creative Talent จากทุกซอกมุมโลกให้มาร่วมผลิตสินค้าที่เปล่งประกายเรืองรอง และนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติในท้ายที่สุด


ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในการพัฒนา Creative City ของประเทศชั้นนำทั้งหลาย ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ลงตัวถึงปัจจัยในการสร้างสรรค์เมืองให้เปี่ยมล้นด้วยแรงบันดาลใจ อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์นับพันปีของมวลมนุษยชาติ ได้ปรากฎต้นแบบแห่งเมืองสร้างสรรค์ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงแม้เวลาจะเนิ่นนานมาหลายรอบปีแล้วก็ตาม กาลเวลาที่ยาวไกลได้ช่วยคัดกรองและพิสูจน์ให้เราสามารถสรุปบทเรียนในการเจริญรอยตามได้อย่างมั่นใจ

Athens (500-400 ปีก่อนคริสต์กาล) มหานครแรกที่โลกต้องจดจำในฐานะมารดาแห่งการสร้างสรรค์ เริ่มจากการพัฒนาวิชาปรัชญา ที่ช่วยให้มนุษย์รู้จักจัดระเบียบประสบการณ์แห่งการลองผิดลองถูกให้กลายเป็นหลักทฤษฎีทั่วไปที่สามารถทดลองซ้ำและนำไปประยุกต์ต่อยอดได้อย่างชาญฉลาด เมื่อมนุษย์

สามารถอธิบายโลกด้วยตรรกะเหตุผลของตนเอง ก็ย่อมมีความมั่นใจที่จะพัฒนาอารยธรรมยิ่งใหญ่ด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แทนที่จะปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตามสายลมแห่งโชคชะตา
ศิลปะกรีกมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากอารยธรรมเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะผลงานรูปปั้นที่เน้นสัดส่วนร่างกายที่สมบูรณ์แบบ มีความหนุ่มแน่นกระชุ่มกระชวยในทุกอณูสัมผัส ความงามแบบกรีกคือ ความเป็นมนุษย์ที่เจิดจ้าและมั่นใจ

ความยิ่งใหญ่ของเมืองเอเธนส์ ไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์ที่พิเศษเหนือธรรมดา แต่เกิดจากบริบทแวดล้อมที่เหมาะสม นั่นคือ การเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยของสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมการค้า ในท่ามกลางความขัดแย้งของผู้คนและแนวคิด ได้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้กับศิลปินในการเนรมิตผลงาน

แน่นอนว่า ย่อมไม่ใช่ทุกเมืองที่มีความขัดแย้งจะสามารถแปรเปลี่ยนไปสู่การผลิตศิลปะสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกัน ความยิ่งใหญ่ของเอเธนส์ยังเกิดจากการเปิดกว้างต่อชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักพักพิงและร่วมทำงานสร้างสรรค์ เอเธนส์ได้อาศัยความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมมาเป็นส่วนผสมที่เข้มข้นในการผลักดันตนเองไปสู่ความรุ่งเรืองของยุคสมัย “คลาสสิค(Classic)” ที่โลกต้องจารึกจดจำ

Paris (ค.ศ. 1870-1910) ในปัจจุบันอาจได้รับการยกย่องให้เป็น “เมืองหลวง” แห่งวัฒนธรรมโลก อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ของปารีสที่นับเป็นการปฏิวัติวงการศิลปะคือ ช่วงเวลาแห่งปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งศิลปินระดับโลกได้มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ (Creative Network) ที่แต่ละคนต่างทุ่มเทเวลาในการผลิต วิจารณ์ ขัดเกลา และต่อยอดความรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเหล่าศิลปินหนุ่มแห่งลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ซึ่งแนวคิดที่กล้าหาญและปฏิวัติวงการศิลปะเช่นนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในยุคสมัยนั้น หากทว่าพวกเขายังคงมีกำลังใจอันเด็ดเดี่ยวในการเผชิญความยากลำบากก็เพราะมีเครือข่ายศิลปินที่คอยปลอบประโลมและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

บทเรียนจากปารีสในช่วงรอยต่อที่สร้างสรรค์แห่งปลายศตวรรษที่ 19 ก็คือ เครือข่ายสร้างสรรค์ของเหล่าศิลปิน (Creative Network) แน่นอนว่า การรวมตัวของศิลปินในเมืองที่ค่าครองชีพแสนแพงอย่างปารีสนั้น คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะรากฐานในเชิงศิลปะและวัฒนธรรมที่สะสมกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสถาบันทางศิลปะที่เริ่มตั้งต้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ. 1638-1715) ยังไม่นับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ซึ่งเป็นแหล่งสะสมผลงานศิลปะที่หลากหลายและรุ่มรวยที่สุดในโลก แต่ที่จะลืมไปไม่ได้ก็คือ ผู้อุปถัมภ์ศิลปะ (Patronage) ซึ่งจากการสะสมวัฒนธรรมทางศิลปะมาหลายร้อยปี ย่อมทำให้ปารีสมีระบบตลาดซื้อขายงานศิลปะที่แข็งแกร่ง ซึ่งดึงดูดทั้งผู้ชื่นชอบศิลปะเพราะใจรัก รวมทั้งนักลงทุนและนักเก็งกำไรที่เข้ามาหาประโยชน์จากตลาดงานศิลปะอันคึกคักรุ่มรวยนี้

Berlin (ค.ศ. 1918-1933) นี่คือ เยอรมันที่เจ็บปวดบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็เช่นเดียวกับเมืองสร้างสรรค์ระดับตำนานอย่าง Athens ที่ความขัดแย้งและสงครามไม่ได้ฉุดรั้งมนุษย์ออกจากการสร้างสรรค์ ความวุ่นวายของกรุงเบอร์ลินได้เป็นวัตถุดิบชั้นดีให้กับนวนิยายเชิงการเมืองในโรงละคร(Theater) ที่กำลังเบ่งบานด้วยความหอมหวานแห่งเสรีภาพ ขณะที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารวิจารณ์ศิลปะได้แข่งขันกันยกระดับรสนิยมของประชาชน จนกระทั่งศิลปะแนว Expressionism และอีกหลายหลายสกุลได้เบ่งบานเริงร่าในห้วงเวลาแห่งเสรีภาพที่สร้างสรรค์นี้

Berlin นับเป็นต้นแบบยิ่งใหญ่ให้กับเมืองสร้างสรรค์ในศตวรรษที่ 20 แต่ขณะเดียวกันแนวคิดสุดขั้ว (Extreme) ที่ไม่ยอมประนีประนอมระหว่างรูปแบบสังคมเก่ากับสังคมใหม่ที่เสรีชนทั้งหลายปรารถนา ก็ได้เป็นเชื้อไฟชั้นดีให้กับระบอบเผด็จการนาซีที่น่าสะพรึงกลัว ได้ฉวยโอกาสเข้ามาระงับความขัดแย้งวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากความรุ่มรวยด้วยเสรีภาพของประชาชน

แน่นอนว่า ห้วงเวลา 15 ปีแห่งความสร้างสรรค์ของ Berlin ก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ช่วยให้เยอรมันฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลังการล่มสลายของนาซีที่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กระนั้น ต้นทุนของชีวิตและอารยธรรมที่สูญเสียไปในสมัยนาซีเรืองอำนาจก็เจ็บปวดและรุนแรงเกินไป
แน่นอนว่า ยังมีเมืองสร้างสรรค์ที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวขวัญถึงในประวัติศาสตร์อารยธรรมโลกอีกหลายแห่ง แต่กระนั้น กรณีศึกษาทั้ง 3 เมืองที่กล่าวถึงข้างต้นก็มีบทเรียนที่น่าสนใจซึ่งน่าจะนำมาเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนา Creative City ในประเทศไทยได้ดังนี้

1. ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์
ความวุ่นวายย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนาในทุกสังคม แต่ประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีสังคมใดที่ปราศจากความขัดแย้ง และที่น่าแปลกใจก็คือ ยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายนั้น มักจะเต็มไปด้วยความสับสนขัดแย้ง ดังนั้น เราจึงไม่ควรหวาดกลัวความขัดแย้งมากเกินไป จนลืมมองไปถึงพลังสร้างสรรค์ที่แฝงอยู่ในความขัดแย้งนั้น

บางทีการเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ร่วมกับความขัดแย้งอย่างมีความสุข กระทั่งแปรความขัดแย้งเป็นวัตถุดิบและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ก็อาจช่วยทำให้ประเทศไทยพลิกฟื้นจากวิกฤตครั้งใหญ่นี้ได้

2. ศิลปะในการทำงานร่วมกับ “ผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย”
Athens มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี แต่ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ที่สุดมีเพียง 100 ปีเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อสังคมในห้วงเวลานั้นได้เปิดกว้างต่อการอพยพของคนต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

แน่นอนว่า เมืองไทยนั้นเปิดกว้างต่อชาวต่างชาติ แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยว ดังนั้น หากต้องการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ก็ควรที่จะวางยุทธศาสตร์ที่เฉียบแหลมในการดึงดูด Creative Talent จากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานอย่างเข้มข้นจริงจัง
ยิ่งกว่านั้น ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างเมืองและชนบทไทย ก็อาจเป็นวัตถุดิบแห่งการสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองได้นำพาชาวชนบทให้มาพบกับชาวกรุงในจุดศูนย์กลางของประเทศ ซึ่งหากประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดก็ย่อมนำพาไปสู่จุดเริ่มต้นแห่งการสร้างสรรค์ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม

3. เครือข่ายสร้างสรรค์ (Creative Network)
Paris เป็นเมืองที่ดึงดูดศิลปินจากทั่วโลกได้ ก็เนื่องจากมีตลาดซื้อขายผลงานศิลปะที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพเพียงพอจะกระตุ้นความสนใจของตลาดศิลปะได้นั้น ก็ย่อมต้องใช้เวลานับสิบปี ดังนั้น แรงจูงใจในการสร้างสรรค์ของศิลปินจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทองและความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังหล่อเลี้ยงด้วยกำลังใจ การวิจารณ์ถกเถียง และการขัดเกลาผลงานระหว่างผู้คนในเครือข่ายสร้างสรรค์ (Creative Network)

ประเทศไทยอาจไม่มีตลาดศิลปะที่เข้มแข็งเท่าปารีส แต่กระนั้น รัฐบาลก็สามารถสนับสนุนเครือข่ายสร้างสรรค์ (Creative Network) เพื่อคอยเป็นพี่เลี้ยงและประคับประคองศิลปินรุ่นใหม่ให้มีกำลังใจและความช่วยเหลือเพียงพอที่จะออกเดินทางตามความฝันได้ยาวนานเพียงพอกระทั่งค้นพบความสำเร็จ

4. สมดุลแห่งความขัดแย้ง
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ความขัดแย้ง” เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศแห่งการสร้างสรรค์ แต่กระนั้น ความขัดแย้งที่ดีจะต้องอยู่บนรากฐานแห่งความเป็นจริงของสังคม ไม่ใช่ขัดแย้งเพื่อขัดแย้ง ขัดแย้งเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพ เพราะสุดท้ายแล้วความขัดแย้งที่มากเกินพอดีและไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ก็อาจนำไปสู่จุดจบแบบนครเบอร์ลินที่ได้พัฒนาความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ไปถึงจุดที่กลายเป็นความขัดแย้งเพื่อขัดแย้ง และเปิดโอกาสให้เผด็จการนาซีได้เข้ามาครอบงำสังคม

ที่น่าสนใจก็คือ ยุคทองแห่งการสร้างสรรค์ที่ถูกกล่าวขวัญและชื่นชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ นั่นคือ Athens และ Florence (ค.ศ. 1400-1500) ล้วนแต่เป็นยุคที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างความขัดแย้งที่รุนแรงได้อย่างงดงาม อย่างน้อยก็ภายในช่วงยุคทองนั้น

ศิลปินแห่งปารีสอาจเป็นกลุ่มที่เข้าใจกลเม็ดในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อผลงานของศิลปิน Impressionism และ Cubism ได้ปฏิวัติความรับรู้และโลกทัศน์ของผู้คนในยุคนั้นอย่างรุนแรง แต่กลุ่มศิลปินที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ก็ตระหนักได้ดีถึงขอบเขตของศิลปะที่แม้จะหยิบยืมวัตถุดิบจากความขัดแย้งในสังคมและการเมือง แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่ของศิลปินที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเต็มตัวในสาขาที่ตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ

ความยิ่งใหญ่ของศิลปิน ก็คือ การปล่อยให้ผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขา ได้ปฏิวัติความรับรู้ของยุคสมัย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในหลากหลายความเชื่อได้ตีความผลงานไปตามความนึกฝันส่วนตัว นี่คือ มนต์เสน่ห์ของศิลปินและเมืองสร้างสรรค์ที่ได้เปิด “ที่ว่าง” เพื่อทุกคน
ที่มา creativethailand
…………………………..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น