--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ผ่า ! ลานจอดรถฉาวสุวรรณภูมิ"ปาร์คกิ้ง-แป้งร่ำ" ซ่อนเงาบิ๊กการเมืองยึด ทอท.

ประชาชาติธุรกิจ

ปัญหาของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." เกี่ยวกับการแจกสัมปทานบริษัทเอกชนเข้ามาใช้พื้นที่ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิทำกิจกรรมเพื่อหารายได้ โดยลงนามสัญญาแบ่งผลประโยชน์ตามสัดส่วน แต่เกือบจะทุกโครงการล้วนมีเรื่องราวซ่อนเงื่อนปมถูกตรวจสอบเสมอ

เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเปิดให้บริการตั้งแต่ 28 กันยายน 2549 การช่วงชิงสัมปทานพื้นที่ชิ้นใหญ่ในอาคารผู้โดยสารไปทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ลงตัว ก็มาถึงการจัดสรรพื้นที่รอบนอกอาคารเริ่มร้อนแรงขึ้นทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลานจอดรถซึ่งกระจายอยู่เกือบ 3 แสนตารางเมตร

นายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ กล่าวว่า การเปิดสุวรรณภูมิในระยะแรก 1-3 ปีนั้น ทอท.บริหารพื้นที่ลานจอดรถเองทั้งหมด บริเวณอาคารเอและบีพื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร จอดรถได้วันละประมาณ 5,000 คัน โดยใช้วิธีเหมาจ้าง (outsource) พนักงานจากบริษัทเอกชนทำหน้าที่ผู้จัดเก็บค่าบริการ แต่ละวันมีรายได้จากลูกค้าที่นำรถเข้ามาจอด 8 แสน-1 ล้านบาท จากนั้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เปลี่ยนนโยบายเปิดให้บริษัทเอกชนยื่นประมูลสัมปทานไปทำ มีสัญญา 5 ปี

ผู้บริหารสนามบินพาณิชย์เมืองไทยกล่าวว่า ตามแผนธุรกิจสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งมีโครงการจะนำพื้นที่ว่างเปล่ามาพัฒนาเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ (non-aero) เป็นแนวคิดที่ถูกต้องแต่วิธีการ ต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล เพราะสุวรรณภูมิเป็นขุมทรัพย์ที่ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และอีกหลายกลุ่มอาชีพพยายามเข้ามาใช้ประโยชน์

กรณีการให้สัมปทานพื้นที่ลานจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิกับบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด บริเวณอาคารเอและบี ขนาดพื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร สัญญา 5 ปี เริ่ม 30 เมษายน 2553-31 มีนาคม 2558 ประกันรายได้ขั้นต่ำ 15.7 ล้านบาท ซึ่ง ลดลงเกือบ 50% ต่างจากเดิมที่ ทอท.จัดเก็บรายได้เอง 3 ปีแรก แต่ฝ่ายบริหารก็ยังอนุมัติให้เอกชนทำ

ทันทีที่บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด รับงาน มีปัญหา ตามมาทันทีตลอด 4 เดือน เมษายน-กันยายน 2553 ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ทอท.โดยตรง 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นแรก กรรมการปาร์คกิ้งทะเลาะ ฟ้องศาล ข่มขู่ กล่าวหา ส่งคำร้องทุกข์ไปให้กรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบ ร้องเรียนกรณีมีกรรมการปลอมแปลงเอกสารลายเซ็นเพื่อเข้าทำสัญญา กับ ทอท.

เนื่องจากกรรมการกลุ่มเดียวกันถือหุ้นโยงใยกันอยู่ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด กับบริษัท สแตนดาร์ด พรอมพ์ จำกัด ของนายจุมพล ญาณวินิจฉัย กับนายธนกฤต เจตกิตติโชค เป็นผู้ชนะประมูลสัมปทานลานจอดรถอาคารเอและบีสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ 16 มีนาคม 2553 ในสัญญากำหนดให้ นำเงินค้ำประกันมาวาง 105,930,000 บาท พร้อมกับหลักประกันสัญญาเช่าพื้นที่อีก 13,568,880 บาท

ระหว่างรอแสดงเงินค้ำประกันและหลักประกันสัญญาเช่าพื้นที่ รวมกว่า 135 ล้านบาทนั้น กรรมการบริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด กับบริษัท สแตนดาร์ด พรอมพ์ จำกัด แจ้ง ทอท.ว่า จะขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เมื่อ 31 มีนาคม 2553 เพื่อเข้ามาดูแลสัมปทานลานจอดรถพื้นที่ ดังกล่าวในวันที่ 30 เมษายน 2553 เป็นต้นไป

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การจดทะเบียนเปิดบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัดนั้น กรรมการกลุ่มเดิมได้นำผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่คือ นายธรรศ พจนประพันธ์ เข้ามาเป็นนายทุนทางการเงินและหลักทรัพยทำตามเงื่อนไข ทอท. ผลสุดท้ายทั้ง 3 คนก็ขัดแย้งกัน

ถึงขั้นทำหนังสือร้องเรียนไปยัง นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อ 26 สิงหาคม 2553 รวมทั้งฟ้องคดีอาญาและแพ่ง นายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ และ นางดวงใจ คอนดี รองผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้นำรายได้ที่จัดเก็บค่าบริการส่งให้ ทอท.ตามสัญญา เดือนละ 15.7 ล้านบาท เป็นเวลากว่า 4 เดือน ทางฝ่ายบริหารสุวรรณภูมิต้องหาทางออกโดยแจ้งธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้ค้ำประกัน เพื่อขอหักเงินตอบแทนรายได้จากบัญชี เมื่อ 21 กรกฎาคม 2553 ได้เพียง 66 ล้านบาทเท่านั้น ขณะนี้เงินค้ำประกันของปาร์คกิ้งฯในธนาคารนั้นเหลือให้หักได้ถึงกันยายนนี้เท่านั้น

แต่สัญญาสัมปทานทั้งหมด ทอท.ยังไม่มีท่าทีจะยกเลิกทั้งที่เอกชนถูกตั้งข้อสังเกตว่า กระทำผิดเงื่อนไขสัญญาทุกประการ หลักทรัพย์ค้ำประกันก็ไม่เพียงพอ ไม่จัดส่งรายได้ ทอท.ที่เก็บเงินสดจากลูกค้า รวมถึงค่าสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานการบินและพนักงานบริษัทต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิ อีกเดือนละ 4-5 ล้านบาท

ความเสียหายและสูญเสียรายได้ที่บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่ง ทอท.เป็นผู้ให้สัมปทานได้สร้างปัญหาขึ้นมามากมายนั้น จนถึงขณะนี้กระทรวงคมนาคม บอร์ด ทอท. และกระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่ในรัฐวิสาหกิจ ทอท. ยังรีรอดูท่าทีต่อไป

เช่นเดียวกับสัมปทานลานจอดรถระยะยาว (long term parking) ในสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท. เร่งรีบอนุมัติภายใน 10 วัน ให้แก่ บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด เป็น เจ้าของสัมปทานพื้นที่ 62,380.50 ตารางเมตร เป็นเวลา 15 ปี เพื่อนำไปพัฒนาเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ "สุวรรณภูมิสแควร์" ปล่อยเช่าแก่ร้านค้ารายย่อย แต่แป้งร่ำฯเสนอค่าตอบแทนรายได้ ให้ ทอท.เพียงเดือนละ 2,207,610 บาทเท่านั้น

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ย้ำว่า หลังบอร์ดเมื่อ 6 กันยายน 2553 มีมติยกเลิกสัมปทานสัญญากับบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ลานจอดรถระยะยาวนั้น เนื่องจากเหตุผล 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก บริษัทดังกล่าวไม่เคยมีผลงานบริหารใด ๆ คุณสมบัติ ขีดความสามารถ ทุนจดทะเบียน ไม่เหมาะทุกประการ แถมผลการ ดำเนินงานมีรายได้แค่ปีละ 5,000 กว่าบาท จะมารับผิดชอบ โปรเจ็กต์การลงทุนขนาด 350-450 ล้านบาท ได้อย่างไร ประเด็นที่ 2 ไม่ไว้ใจการทำงานของคณะกรรมการพิจารณารายได้ซึ่งเร่งรีบทำ พร้อมทั้งอนุมัติ ขัดระเบียบองค์กร อีกทั้งไม่เสนอบอร์ดพิจารณา

จากนั้นนายปิยะพันธ์ก็ขอมติบอร์ดให้ย้ายนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. จากประธาน คณะกรรมการพิจารณารายได้ เหลือแค่ตำแหน่งกรรมการ แล้วแต่งตั้งบอร์ดไปทำหน้าที่แทน คือ นายมานิตย์ วัฒนเศรษฐ์ ปลัดมหาดไทย กับ นายฉกรรจ์ แสงรักษาการ อัยการสูงสุด

แต่บอร์ดทั้ง 2 คนก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นคนใกล้ชิด "นายเนวิน ชิดชอบ" พรรคภูมิใจไทย

ขณะที่บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ที่ชวดสัมปทานบริหารพื้นที่ลานจอดรถระยะยาวสุวรรณภูมินั้น มีรายงานว่า เส้นทางที่เข้ามาเสนอขอรับบริหารพื้นที่เพื่อพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น ก็มีกลุ่มบุคคลอดีตผู้ติดตามนักการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งกับเจ้าของสัมปทาน บริการด้านสุขภาพในสุวรรณภูมิเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับฝ่ายบริหารบางคนของ ทอท. เรื่องราวทั้งหมดจึงอนุมัติกันง่ายดายและรวดเร็ว

พอสัมปทานถูกยกเลิก นายพีรยศ วงศ์วิทวัส กรรมการผู้จัดการ แป้งร่ำ รีเทล พยายามเดินสายอธิบายต่อสื่อมวลชนถึงการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 60 ล้านบาท แต่นายปิยะพันธ์และบอร์ดหลายคนย้ำว่า ประเด็นหลักคือ แป้งร่ำมีผลงานอะไรมาแสดง ผลการดำเนินงานปีละไม่กี่พันบาท เหตุใดถึงเป็นเพียงบริษัทเดียวที่เสนอชื่อเข้ามาโดยไม่มีคู่แข่ง แล้วได้สิทธิบริหารถึง 15 ปี

การช่วงชิงสัมปทานเพื่อหารายได้จากพื้นที่ลานจอดรถสุวรรณภูมิเกือบ 3 แสนตารางเมตร ทั้ง 3 องค์กรคือ กระทรวงการคลัง เจ้าของรัฐวิสาหกิจ กระทรวงคมนาคม ผู้กำกับดูแล หน่วยงาน และ ทอท. เจ้าของสนามบิน จะยังผลประโยชน์ชาติ และ/หรือทำเพื่อสนองเฉพาะเพียงบางกลุ่ม โดยนำสุวรรณภูมิ สมบัติของชาติเป็นข้อแลกเปลี่ยนเช่นนั้นหรือ ?

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น