ที่มา.สยามธุรกิจ
หลังพ่ายเลือกตั้งซ้ำซากสนามกทม.
ถึงวันนี้นาทีนี้คงพูดได้คำเดียวว่าชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 ครั้ง 3 ครา ไล่มาตั้งแต่เลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) 14 เขต ที่เลือกตั้งเมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กระทั่งถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม.เขต 6 ที่ส่งผลให้ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ได้เป็นส.ส.
ตัวจริงสมใจนึก และล่าสุดที่เพิ่งจบไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อ 29 ส.ค. ที่ผ่านมาเห็นจะเป็นกรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภากทม. ทั้ง 50 เขต และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) อีก 36 เขต ถือเป็นชัยชนะที่แฝงด้วยนัยทาง
การเมืองที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบนเส้นทางแห่งความแตกแยกของผู้คนในสังคมเมืองกรุง บนการขับเคี่ยวระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคปชป.และพรรคเพื่อไทย
เช่นเดียวกับความพ่ายแพ้ที่ซ้ำซากสำหรับพรรคเพื่อไทย ในที่สุดพรรคก็เหลือมวลหมู่สมาชิกสภากทม. (ส.ก.) ในสังกัดแค่ 15 ที่นั่ง ถูกพรรคปชป.นำโด่งทิ้งห่างไปถึง 3 เท่าตัว (45 ที่นั่ง) กลายเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก ในสภากทม. เรียกว่าการบริหารจัดการกทม.นับจากนี้ไปในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ถือว่ากุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ ทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติถูกกินรวบ
เมื่อเป็นเช่นนี้โจทย์การบ้านข้อใหญ่จึงไปลงเอยที่พรรคเพื่อไทยว่า บทบาท หรือทิศทางการเมืองจากนี้ไปจะทำอย่างไรบนข้อจำกัดที่ถูกกำหนดไว้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งเรื่องของความชัดเจนภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นกรณีโครงสร้างหัวหน้าพรรค หรือแม้แต่นโยบายที่ได้พิสูจน์มาอย่างต่อเนื่อง
แล้วว่าที่ผ่านมาขาดความชัดเจน มีเพียง “นายใหญ่” ที่อยู่ในต่างแดนเท่านั้นที่คอยสั่งการขับเคลื่อนผู้บังคับบัญชาที่กำกับดูแลภาคกทม.ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าชื่อชั้นของ วิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.ในฐานะประธานภาค หรือแม้แต่น.อ.
อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. ก็ไม่มีผลต่อการสร้างกระแสชิงพื้นที่ข่าว ขณะที่ตัวจริงเสียงจริงอย่าง “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้แต่คอยแอบๆ กำกับอยู่เบื้องหลัง เพราะยังอยู่ในช่วงของการรักษาโรค 111 ที่ติดมาจากพรรค ไทยรักไทยกว่าจะรักษาหายขาดก็คงต้องอีกพักใหญ่ ช่วงเวลานี้สำหรับพรรคเพื่อไทยในสนามกทม.จึงดูเสมือนถูกลอยแพให้ลอยตามน้ำไหลไปเรื่อยๆ
ยิ่งเมื่อภาพลักษณ์จากกลุ่มคนเสื้อแดงถูกนำมาประกบแนบแน่นเคียงคู่ขนานไปกับพรรคเพื่อไทยด้วยแล้ว อัตลักษณ์ในความเป็นกลุ่มการเมืองที่เน้นความรุนแรงจึงแยกกันไม่ขาด ส่งผลทำให้ภาคกทม.ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แม้อยากจะสลัดคราบของความรุนแรงทิ้งไปจากพรรค แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสายเกินแก้เสียแล้ว ประเภทเดินหน้าก็ไม่ได้ถอยหลังหลังก็ติดหนึบ อย่าได้แปลกใจในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นภาพ รวมถึงข้อความบนป้ายหาเสียงของผู้สมัครหรือแม้แต่โลโก้พรรค ต้องหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่สื่อความไปถึงคนเสื้อแดง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเชื่อเหลือเกินว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งย่อมเป็นไปได้สูง
เมื่อเป็นเช่นนี้บทบาทการทำหน้า ที่ในสภากทม.จึงตกเป็นภาระที่หนักอยู่กับ 2 ผู้เฒ่าแห่งพรรคเพื่อไทย อย่างเช่น วิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ส.ก. ลาดกระบัง และประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ก. ห้วย ขวาง ที่คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เหมือนเช่นที่เคยรับผิดชอบเมื่อ 4 ปี
ที่แล้วจากการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคณะผู้บริหารกทม.ในหลายๆ โครงการจนเป็นเหตุทำให้ต้องมีการพิจารณาทบทวนโครงการกันใหม่
การกลับมาเที่ยวนี้จึงเชื่อเหลือเกินว่าบทบาทการทำหน้าที่ในสภากทม. สำหรับพรรคเพื่อไทย ยังไงก็ต้องใช้ผู้เฒ่า 2 คนนี้ในการขับเคี่ยวสร้างผลงานออกสู่สายตาประชาชนเช่นเดิม เพราะลำพังจะไปคาดหวังสมาชิกสภากทม.รายอื่นๆ ให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของคณะผู้บริหารดูจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทรเสียอีกเพราะที่ผ่านมาการจะเปิดให้มีการ
อภิปรายเรื่องใดเรื่องหนึ่งสักเรื่อง จะต้องมีการสืบค้นหาข้อมูลมาประกอบการอภิปราย ซึ่งในประเด็นสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย เหล่านี้ที่ผ่านมายังไม่เคยได้เห็นสมาชิกสภากทม.จากพรรคเพื่อไทยได้ทำหน้าที่ในการอภิปรายได้อย่างเต็มที่สมความภาคภูมิในฐานะผู้แทนอันทรงเกียรติ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริง
หนำซ้ำในบางครั้งมักจะได้ยินเสียงบ่นไล่หลังจากปากของนักการเมืองบางคน ที่ระบุว่าไม่อยากจะเปลืองตัวในการจะต้องไปเผชิญหน้ากับฝ่ายบริหาร เพราะมีแต่จะถูกเพื่อนพ้องต่างพรรคแต่พวกเดียวกันกล่าวตำหนิติเตียน การทำหน้า
ที่ในฐานะผู้ตรวจสอบการทำงานของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาจึงถือว่าน้อยครั้งที่จะสามารถทำปฏิกิริยาให้ระคายผิวต่อ คณะผู้บริหารกทม. และภารกิจในครั้งนี้สำหรับ 2 ผู้เฒ่าแห่งพรรคเพื่อไทยจะเป็นครั้งสำคัญและดูจะเป็นอีกหนึ่งความหวังในสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับภาคกทม.ที่คงไม่อาจปฏิเสธ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น