--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

ทำไมนักกฎหมายรับใช้เผด็จการ!?

บทความนี้เรียบเรียงจากบทความที่เขียนขึ้นเพื่อประกอบการอภิปรายของนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนพฤษภาอำมหิต อนาคตสังคมไทย” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ซึ่งกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์และเพื่อนอาจารย์เปิดเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ซึ่งมีมุมมองในการรัฐประหาร 3 ประเด็นคือ 1.ความสำเร็จของรัฐประหาร รัฐประหารดำรงและสำเร็จได้อย่างไร 2.ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน และ 3.รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับพฤษภาอำมหิต 2553

1.ความสำเร็จของรัฐประหาร

รัฐประหารโดยตัวของมันเองอาจไม่มีน้ำยาอะไร แต่รัฐประหารจะสำเร็จและดำรงอยู่ต่อไปได้จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุน การลงมือกระทำรัฐประหารมีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร ปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่

หนึ่ง แรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก อาจเกิดจากวัฒนธรรมการเมืองของประเทศนั้นๆที่ประชาชนอาจเชื่อว่ารัฐประหารเป็นวิธีสุดท้ายในการแก้ปัญหาทางการเมือง หรือเป็น The last word of politic แรงสนับสนุนอาจเกิดจากการโหมกระพือของปัญญาชนและสื่อสารมวลชนมาก่อนหน้านั้น เพื่อเร่งเร้าให้สถานการณ์สุกงอมพอจนทำให้คณะรัฐประหารมั่นใจว่ารัฐประหารแล้วจะไม่มีประชาชนต่อต้านมาก

สอง การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อปราบปรามการต่อต้านรัฐประหาร เช่น จับกุมคุมขัง นำทหารออกมาควบคุมสถานการณ์จำนวนมาก ปราบปราม ลอบฆ่า อุ้มหาย ปิดกั้นสื่อ ห้ามชุมนุม

สาม การใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น ตรารัฐธรรมนูญรับรองความชอบธรรมของรัฐประหาร คำพิพากษาของศาลรับรองรัฐประหาร

สี่ ประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุนรัฐประหาร เช่น รัฐประหารในอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายประเทศที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างลับๆ

ห้า บุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์รับรองรัฐประหาร เป็นต้น

แปลความในทางกลับกัน ถ้าปราศจากซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จเด็ดขาด หากรัฐประหารปราศจากคนไปมอบดอกไม้ ปราศจากสื่อสารมวลชนร่วมเชียร์ ปราศจากมาตรการรุนแรงของเผด็จการในการปราบปราม หรือหากมีผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งตัดสินว่ารัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลบล้างรัฐประหาร และผลพวงลูกหลานของรัฐประหาร หากบุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์แสดงต่อสาธารณะว่าตนไม่สนับสนุนรัฐประหาร รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ และกลายเป็นความพยายามรัฐประหารหรือกบฏเท่านั้น

2.ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน

เอกลักษณ์ร่วมกันของรัฐประหารคือกระทำการโดยคณะบุคคล มีคนร่วมมือกันไม่กี่คน และยึดอำนาจโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ณ เวลานั้น ซึ่งรัฐประหารของแต่ละประเทศจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป แต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจสรุปได้ 3 ข้อ

1.รัฐประหารที่พรากความเป็นพลเมือง (ซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว) ให้หายไป

ตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองประการหนึ่งคือ ความเสมอภาคทางการเมือง

ความเสมอภาคทางการเมืองแสดงออกให้เห็นได้จาก “หนึ่งคน หนึ่งเสียง” พลเมืองทุกคน ไม่ว่าชาติกำเนิดใด ศาสนาใด ความเชื่อใด ฐานะเศรษฐกิจอย่างใด เมื่อเดินไปหน้าคูหาก็มี 1 เสียงเท่ากัน

พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้แทนฯและรัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แน่นอนนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจำเป็นต้องเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เคารพเสียงข้างน้อย มีองค์กรตุลาการคอยตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย

เมื่อฝังรากลึกแล้วกลไกประชาธิปไตยแบบผู้แทนฯก็มีปัญหาในตัวมันเอง เมื่อนั้นก็ค่อยๆพัฒนากลไกตรวจสอบต่างๆตามมา แต่อย่างไรเสียสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม และองค์กรผู้ใช้อำนาจสาธารณะทั้งหลายล้วนต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชน ก็เป็นหลักการพื้นฐานอันดับ 1 ตรงกันข้ามกับบ้านเราได้มาง่าย ง่ายเกินไปจริงๆ ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ก็เขียนใส่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการดี แต่เมื่อได้มาง่ายก็ดูเหมือนไม่มีค่า ประกอบกับโดนขบวนการสถาปนาอุดมการณ์ “ราชา-ชาตินิยม” บดขยี้ด้วยการสร้างวาทกรรม “นักการเมืองเป็นคนชั่วร้าย” “ชาวบ้านโง่เขลาโดนซื้อ” สิทธิการเลือกตั้งแบบทั่วไป-เท่าเทียมจึงเป็นเหมือนของไร้ราคา มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ใครมาพรากเอาไปรู้สึกเฉยๆ

ผมเห็นว่าความเสมอภาคทางการเมืองมาก่อนความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ผมเชื่อของผมเองว่า “ความเสมอภาคทางการเมือง” เป็นบ่อเกิดของสังคมเสรีประชาธิปไตย

หากปราศจากสิ่งนี้ เราไม่อาจอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบบการเมือง ไม่ใช่รูปแบบของรัฐบาล แต่เป็นรูปแบบของการรักษา “สนาม” ที่เปิดให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกรสนิยมได้ถกเถียงกัน และ “ความเสมอภาคทางการเมือง” ก็เป็นเครื่องมือในการรักษา “สนาม” นี้ให้เกิดการถกเถียงอย่าง “ฟรี” และ “แฟร์” เมื่อนั้นใครจะผลักดันรสนิยมทางการเมืองของตนย่อมได้ทั้งนั้น จะขวาหรือซ้าย จะอนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้า จะเสรีนิยมทางเศรษฐกิจหรือสังคมนิยม จะเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า ย่อมสามารถถกเถียง-รณรงค์ได้อย่างเสรี

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการเหยียบย่ำสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม ขบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการประกาศซ้ำว่าที่แห่งนี้ไม่อนุญาตให้มี “ความเสมอภาคทางการเมือง”

รัฐประหาร 19 กันยายนได้พรากเอาความเป็นพลเมืองไป ลดสถานะพลเมืองให้กลายเป็นไพร่ กระบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหารยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อตอกย้ำความเป็นไพร่ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

2.รัฐประหารเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้มั่นคงสถาพรตลอดกาล

ชื่อของคณะรัฐประหารบอกไว้ชัดเจนว่า “คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” บุคคลที่ครองอำนาจหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แนวทางของรัฐบาลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายนก็เป็นไปในทางฟื้นฟู “พระราชอำนาจ” เทิดพระเกียรติและใช้กฎหมาย 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จัดการคน ดังจะเห็นได้จากจำนวนคดีมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการปิดกั้นสื่อจำนวนมาก ทั้งใช้อำนาจรัฐและการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อ

3.รัฐประหารของนักกฎหมาย

“กฎหมาย” มีความสำคัญกับรัฐประหารในสามแง่มุม หนึ่ง-เป็นกลไกรับรองความชอบธรรมและสนับสนุนรัฐประหาร สอง-เป็นกลไกปราบปรามศัตรูของคณะรัฐประหารและพวก และปราบปรามอุดมการณ์ตรงข้ามกับรัฐประหาร สาม-เป็นกลไกรักษาและเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐประหาร ซึ่งอุดมการณ์ของรัฐประหาร 19 กันยายน คือประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

คณะรัฐประหารประกอบด้วยทหารไม่กี่นาย ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่มีความสามารถเสกสรรปั้นแต่งกฎหมายเพื่อรับรองและรับใช้รัฐประหารได้ เช่นนี้แล้วนักกฎหมายจึงจำเป็นต่อรัฐประหาร 19 กันยายน

นักกฎหมายเข้าไปมีบทบาทกับรัฐประหาร 19 กันยายน ตั้งแต่การแนะนำเทคนิคทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหารถึงการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของรัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญ การยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง เก็บฉบับใดไว้บ้าง การยกเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดบ้าง เก็บองค์กรใดไว้บ้าง และควรสร้างองค์กรทางกฎหมายใหม่ใดขึ้นมาบ้างเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู

จากนั้นนักกฎหมายต้องเข้าไปรับใช้คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น และเพื่อให้รัฐประหาร 19 กันยายนสำเร็จเด็ดขาดจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาจัดการกับการตอบโต้รัฐประหารและศัตรูของคณะรัฐประหารและพวก กลไกที่ว่าต้องเป็นกลไกทางกฎหมาย เพราะสามารถเอาไปอ้างความชอบธรรมได้ว่ากระทำการตามกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐ เราจึงเห็นนักกฎหมายไปช่วยออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญ 2550 เราจึงเห็นนักกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นกรรมการองค์กรต่างๆเต็มไปหมด

พวกนักกฎหมายมีความสามารถเอกอุ สามารถเขียนกฎหมายรองรับรัฐประหาร ปิดรูโหว่ อุดรูนั้น ปิดรูนี้ ไหนจะวางกลไกทางกฎหมายไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู เช่น เขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรคให้มีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีก่อนหน้า หรือเขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรค ลากเอาความผิดของกรรมการบริหารมาเป็นเหตุให้ยุบพรรค หรือเขียนรัฐธรรมนูญรับรองรัฐประหารและลูกหลานไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ให้ไม่เป็นคุณต่อพรรคการเมืองขั้วศัตรู

บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือถูกกลไกของรัฐประหารเล่นงานอาจร้องขอความเป็นธรรมเอากับศาล ให้ศาลช่วยตรวจสอบรัฐประหาร ดังนั้น ศาล (คือผู้ปฏิบัติทางกฎหมาย แต่การกระทำของศาลมีอานุภาพมหาศาลกว่าการกระทำของผู้ปฏิบัติการทางกฎหมายอื่นๆ) จึงต้องเข้ามารับรองรัฐประหารผ่านคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐประหาร “สมบูรณ์” ในนามของนิติรัฐ ดังปรากฏให้เห็นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551

รัฐประหารและกระบวนการต่อเนื่องยังอาศัยนักกฎหมายตามไล่บี้ ไล่ทุบ ปราบปรามศัตรู ดังปรากฏให้เห็นในปรากฏการณ์ที่เขาเรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งได้อภิปรายและเขียนไว้ในหลายที่

3.รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับพฤษภาอำมหิต 2553

รัฐประหาร 19 กันยายน บอกเราว่าชนชั้นนำจารีตประเพณีไม่อนุญาตให้ประเทศนี้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ รัฐบาลไหนขึ้นมาทำตัวหน่อมแน้ม สุภาพเรียบร้อย บริหารไปวันๆเหมือนงานรูทีนก็ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งได้ รัฐบาลไหนที่ขึ้นมาดำเนินนโยบายมากมาย สร้างฐานมวลชน แย่งชิงฐานลูกค้าจากชนชั้นนำประเพณี ได้รับความนิยมเท่ากันหรือสูงกว่าชนชั้นนำประเพณี รัฐบาลนั้นต้องมีอันไป

กล่าวให้ถึงที่สุดต้นตอความขัดแย้งของสังคมไทยคือชนชั้นนำจารีตประเพณีนอกระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากวัตรปฏิบัติ ประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อและการเผยแพร่อุดมการณ์หลักของรัฐไทยปะทะกับนักการเมืองในระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงแสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียง และทำให้พลเมืองเกิดความรู้สึกว่าคะแนนเสียงมีค่า

ปะทะกันจนชนชั้นนำจารีตประเพณีรู้สึกว่าตนถูกคุกคามอย่างหนัก หากปล่อยไว้ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของตน เพื่อรักษาสถานะเดิมของตนจึงต้องจัดการ วิธีการจัดการคือรัฐประหาร 19 กันยายน

เราไม่อาจแยกรัฐประหาร 19 กันยายนกับเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตออกจากกันได้ ผมได้ยินความเห็นหลายคน รวมทั้งอาจารย์ในคณะบางคนพูดทำนองว่า “พูดกันแต่เรื่อง 19 กันยายน ไม่เบื่อกันหรือไร ผ่านมาตั้งนานแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่าว่าจะจัดการสังคมอย่างไร” หรือผู้นำความคิดรุ่นใหม่บางคนแอ๊บเนียนว่า “ตนเองไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่ควรหมกมุ่นกับรัฐประหาร รัฐประหารเป็นเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นแล้วในอดีต ถ้าอ้างว่าทุกอย่างสืบมาไม่ถูกต้อง เลยไม่สนใจจะดูว่าเกิดอะไรขึ้น แบบนี้ก็ไม่ถูก”

ผมเห็นว่าวันนี้เราไม่พูดถึง 19 กันยายนไม่ได้เลย เพราะ 19 กันยายนเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์ปัจจุบัน ณ เวลานี้เรายังคงอยู่ในรัฐประหาร 19 กันยายน เป้าประสงค์ของรัฐประหารยังคงอยู่ครบถ้วน และจำเป็นต้องพูดต่อไป พูดทุกโอกาส เพราะถ้าไม่พูดเดี๋ยวก็ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานคณะรัฐประหารและพวกทั้งทางตรงและทางลับ แต่จนวันนี้มาทำเนียนว่าไม่เห็นด้วย ต้องช่วยกัน และไม่อยากพูดถึงแล้ว ผ่านไปแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่า

หากถามผมว่าเบื่อไหม ขอตอบว่าเบื่อมากที่ต้องพูดเรื่องนี้ แต่ต้องถามกลับไปยังพวกเขาเหล่านั้นว่า แล้วพวกคุณไม่เบื่อบ้างหรือที่ไปรับรองรัฐประหาร ไปสนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานรัฐประหาร หรือขลุกอยู่กับกระบวนการรัฐประหารและพวกแล้วมันอิ่มอำนาจ อิ่มท้อง อิ่มใจที่ศัตรูได้พ้นจากอำนาจ

เมื่อรัฐประหาร 19 กันยายน ไม่ต้องการให้ “คะแนนเสียง” ของพลเมืองมีความหมาย พวกเขาจึงจัดการไล่รัฐบาลที่พลเมืองเลือกมาออกไป และเมื่อรัฐบาลขั้วเดียวกันกลับมาได้อีก เพราะพลเมืองยังเลือกกลับเข้ามาอีก ลูกหลานของรัฐประหารก็ต้องหาหนทางกำจัดรัฐบาลนั้นออกไปอีก

สีแดงก็ไม่ได้เป็นสีแดงเหมือนกันทั้งหมด มันยังมีเฉดสี มีระดับ มีความแตกต่างหลากหลายภายในสีแดงนั้นเอง แต่อย่างน้อยจุดยืนร่วมกันที่เราพอสังเคราะห์ออกมาได้คือ “ความเสมอภาคทางการเมือง” เมื่อการมาของ “สีแดง” เป็นไปเพื่อสิ่งนี้ เมื่อจำนวนของ “สีแดง” มากขึ้นเรื่อยๆย่อมสะเทือนไปถึงบรรดาผู้ไม่ปรารถนาให้สังคมไทยมี “ความเสมอภาคทางการเมือง” เพราะหากทุกคนเสมอกันหมด หากไพร่เกิดจิตสำนึกทางการเมืองมาร้องขอเป็นพลเมืองกันทั้งแผ่นดินละก็ สถานะของบรรดาชนชั้นนำจารีตประเพณีย่อมสะเทือนเช่นนี้ ใบอนุญาตให้ฆ่าจึงเกิดขึ้น 10 เมษาก็แล้วยังเอาไม่อยู่ จึงต้องเกิด 19 พฤษภาอีกสักหน

เพื่อประกาศให้รู้ว่าพวกเอ็งคนเสื้อแดงมิได้เป็นพลเมือง ให้เป็นไพร่ดีๆก็ไม่เอา คิดกำเริบเสิบสาน เมื่อหือกับข้ามากนัก ไพร่ข้าก็ไม่ให้เป็น เอ็งเป็นแค่ Homo sacer ใครก็ฆ่าเอ็งได้ ฆ่าแล้วไม่มีความผิด

การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเป็นเรื่องไร้สาระ บุคคลที่เข้าร่วมเป็นกรรมการปฏิรูปแม้จะอ้างเหตุผลใดๆก็ตามล้วนแล้วแต่ไม่มี ethics ทางการเมือง หากเชื่อว่าโลกนี้มี “ดี” มี “เลว” จริง มีมาตรฐานที่พอจะวัดได้ว่าใคร “ดี” ใคร “เลว” ผมเห็นว่าบุคคลที่เข้าไปร่วมกับสารพัดกรรมการที่อภิสิทธิ์ตั้งขึ้นนั้น “เลว” คนตายต่อหน้าต่อหน้า ตายกันเกือบร้อย ตายกันกลางเมืองหลวง ตายด้วยการซุ่มส่องสไนเปอร์ กลับมองไม่เห็น หรือแกล้งมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่คิดคำนึง

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนห่าเหวอะไรอีก ทำไมต้องมี fact finding ตั้งกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเมื่อเห็นกันคาตา รูปก็มี คลิปวิดีโอก็มี รายงานข่าวก็มี พยานบุคคลก็มี เห็นกันเต็มสองตาว่ามีคนตาย มีคนตายจากการถูกทหารยิง

สิ่งที่ต้องทำ ต้องตรวจสอบ จึงเหลือเพียงประการเดียว ใครสั่ง ใครกดปุ่ม ใครออกใบอนุญาตให้ฆ่า

ผมขอปิดอภิปรายด้วยเรื่องสั้น Die Bäume หรือ “ต้นไม้” ของ Franz Kafka สำนวนแปลโดยอาจารย์ถนอมนวล โอเจริญ ว่า

“พวกเราเปรียบเสมือนขอนไม้บนหิมะ ดูเหมือนขอนไม้เหล่านี้วางเรียงกันเป็นธรรมดา ถ้าใช้แรงผลักเพียงนิดเดียวก็คงขยับเขยื้อนมันได้ แต่มิใช่เช่นนั้นดอก ไม่มีใครขยับเขยื้อนมันได้ เพราะขอนไม้เหล่านั้นติดแน่นอยู่กับพื้น แต่ดูสิ นี่เป็นเพียงดูเหมือนว่าเท่านั้น”

ใครเป็น “พวกเรา”

ใครเป็น “ขอนไม้”

และตกลงแล้วขอนไม้เขยื้อนได้หรือไม่

ทุกท่านมีเสรีภาพในการพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญาแห่งตน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น