หากจับชีพจร จังหวะก้าว จังหวะขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง
ไม่มีประเด็นใดร้อนแรง-รุกเร็วเท่าวาระการเดินเกมปรองดองของฝ่ายค้าน-รัฐบาล-กองทัพ
ซีกเสี้ยวหนึ่งของแผนปรองดอง บรรจุเนื้อหากฎหมายแทรกไว้ในข้อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด 9 มาตรา
ที่เสนอต่อสาธารณะพร้อมกันทั้งใน-นอกสภาผู้แทนราษฎร
วาระที่ถูกรอบรรจุเพื่อพิจารณาในสำนักเลขาธิการสภา ถูกเสนอหลักการและเหตุผล โดย "บุญจง วงศ์ไตรรัตน์" รมช.มหาดไทย และ ส.ส.นครราชสีมา รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ความคิดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม มีการริเริ่มตั้งแต่สมัยอยู่ปีกเสื้อแดง พรรคพลังประชาชนหรือไม่
เสนอไว้ตอนสิงหาคม 2552 ตอนนั้นอยู่พรรคภูมิใจไทยแล้ว ส่วนตอนอยู่พรรคพลังประชาชนเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และเสนอแก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้ง ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม คือ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอคราวนั้นมีสาระสำคัญ คือ นิรโทษ 2 เหตุการณ์ อันแรกคือ ช่วงพันธมิตรชุมนุมยึดสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงที่ 2 คือ ช่วง นปช.ชุมนุมเดือนเมษายน 52 มีรถแก๊ส นี่คือกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา นอกจากนั้นจะเสนอร่างเพิ่มเติมประกอบ โดยให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ชุมนุมที่ราชประสงค์ด้วย
การนิรโทษรวมไปถึงอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบทั้ง 111 และ 109 คนหรือไม่
ไม่มีครับ คือในหลักการที่พรรคภูมิใจไทยมีมติต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปสู่ความปรองดองที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เราไม่สนใจการเมืองว่าออกมาจะผ่านเป็นกฎหมายสำเร็จไหม พรรคร่วมรัฐบาลจะคัดค้านหรือไม่ นั้นไม่เป็นไร เราต้องการเห็นบ้านเมืองสู่ความปรองดองจริง ๆ
คำว่าปรองดองของพรรคภูมิใจไทย เป็นปรองดองเดียวกับของพรรคเพื่อไทยเสนอหรือไม่
ไม่ใช่ครับ คนละแนว คือวันนี้ผมต้องเรียนว่า คนในประเทศรู้อยู่ว่าประเทศมีความแตกแยกขัดแย้งสูงมากอย่างที่บ้านเมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน และความขัดแย้งนั้นมันยังไม่จบ มันเพียงหยุดพักชั่วขณะ และขณะนี้คนในประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็ต้องการเห็นคนในประเทศหันหน้าเข้าหากัน และมีความปรองดองซึ่งกันและกัน จะเห็นได้จากท่านนายกฯมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ของท่านอาจารย์คณิต ณ นคร, อาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, ท่านอานันท์ ปันยารชุน นำไปสู่ความสมานฉันท์ ความปรองดอง นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลต้องการจะเห็น
และพรรคฝ่ายค้านก็มีแนวคิดที่จะเสนอแผนปรองดอง เห็นไหมครับ นั่นคือทุกคนต้องการเห็นว่าหยุดเถอะ...เรามาจับเข่าคุยกันดีกว่า มาหาทางออกกันเถอะ นั่นคือสิ่งที่ทุกคนเห็น
ในส่วนพรรคภูมิใจไทย เราก็เห็นว่าควรปรองดอง จึงเห็นว่าควรนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ร่วมชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ปรองดองแบบภูมิใจไทยมีจุดแตกต่างตรงไหนกับการปรองดองของพรรคเพื่อไทย
เพราะพรรคเพื่อไทยก็หาวิธีการเจรจากัน อย่างเช่น ยกโทษให้คนนี้ คืนเงินให้คนโน้น ซึ่งเป็นคนละเรื่อง มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้
ส่วนพรรคเพื่อไทยคิดอะไรนั้นต้องถามเจตนาพรรคเพื่อไทย เพราะของเราเมื่อพูดปรองดองปุ๊บ หมายถึงต้องออกกฎหมายนี้เลย ให้อภัยคนที่ร่วมชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ ให้อภัยเขาซะ
จะจำแนกความบริสุทธิ์ใจในการชุมนุมได้ยังไง เพราะเสื้อแดงก็มีหลายเฉด
ถามว่าจำแนกยังไง เราก็จำแนกว่า ถ้าใครที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนหลัก เป็นผู้ก่อการร้าย จะไม่ได้รับประโยชน์เลย แต่ถ้าเป็นชาวบ้านตามมาเพราะมีคนบอกให้ไปเผาศาลากลาง ก็วิ่งไปด้วย คนพวกนี้ก็จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุม มานอนกลางดิน มาอยู่กับเขาแต่ถูกจับ
อาจจะไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะมีคนหลายระดับเข้าร่วมการชุมนุม
ใครล่ะ ? ก็ต้องสกรีนกันครับว่า ประโยชน์ตกไปถึงใคร และหลักใหญ่ ๆ คนที่ไม่ได้รับประโยชน์ก็คือคนที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ นายทุน ผู้ก่อการร้าย จะไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้
ท่านนายกฯยังไม่ได้บอกว่า เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ จะแปลรหัสของนายกฯว่าอย่างไร
ก็นายกฯท่านเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของท่านนะครับ ถ้ากฎหมายจะไม่ผ่านก็แล้วแต่กระบวนการเสียงในสภา การไม่เห็นด้วยของท่านนายกฯหรือพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิทธิของพรรคประชาธิปัตย์ แต่จะไม่มีผลอะไรหรือไม่มีความขัดแย้งใดต่อการทำงานในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนคนที่เห็นต่างจากเราอาจเป็นเพราะไม่เข้าใจบางเรื่อง เช่น อาจจะเข้าใจว่ากำลังจะอภัยโทษหรือนิรโทษให้กับบ้านเลขที่ 111 และ 109 ซึ่งเราก็ตอบว่าไม่ใช่เลยนะครับ ไม่ใช่การช่วยแกนนำ ผู้ก่อการร้าย ความชัดเจนเป็นแบบนี้
ก่อนให้อภัยกันนั้น จะต้องสืบสวนหาความผิดก่อน หรือจะลืมเรื่องทั้งหมดไปโดยไม่ต้องย้อนกลับไปหาความผิดเพิ่มอีก
วันนี้ก็มีข้อมูลนี้ ถ้ากฎหมายผ่านแล้ว กลุ่มผู้ได้ประโยชน์คือผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง แล้วถูกตั้งข้อหาการทำผิดทางอาญา เช่น ถูกจับข้อหาวางเพลิง หรือไปปิดถนนกับเขา ก็ถูกตั้งข้อหาด้วยมากมายก่ายกอง แต่ไม่รวมถึงแกนนำที่ฝากขังอยู่ทุกวันนี้ เพราะเป็นแกนนำ เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ใช้รายใหญ่ พวกนี้ไม่ได้รับประโยชน์ ความชัดเจนจะเป็นแบบนี้
ถ้าการปรองดองจะมีอะไรที่ไปพ้องกับฝ่ายค้านในจังหวะเดียวกัน เป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ
ก็ดี...ถ้าฝ่ายค้านเขาเห็นปรองดองอยู่แล้วก็ดี เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราเสนอนี้ คนที่ได้รับประโยชน์ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 111 หรือ 109 และไม่ใช่พวกที่เป็นตัวการ เอาง่าย ๆ อย่างอดีตนายกฯทักษิณนี่ไม่ได้ประโยชน์เลย (หัวเราะ) ชัดเจนเลย
วิธีการอย่างนี้ก็เป็นการหาเสียงของพรรคด้วย
ฮึ่ม...เป็นการทำความเข้าใจกับประชาชน...วันนี้ต้องเข้าใจนะครับว่า พอพูดถึงนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดทางการเมืองนี่...คนฟังคิดเป็นหลายอย่าง เช่น เอาอีกแล้ว คนทำผิดจะไม่เอาเขาติดคุก แต่จะให้อภัยเขาอีกแล้ว...เอาอีกแล้ว ช่วยนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 เนี่ย มันมีความคิดอย่างนั้น โทษเขาไม่ได้ เราจึงต้องมีการอธิบายรณรงค์ว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น
แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์ แต่ยืนยันเดินหน้าต่อ
พร้อมรับเสียงวิจารณ์ แต่อยากจะถามกลับคนวิจารณ์ว่า แล้วคุณจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไร ช่วยหาคำตอบหน่อย ใครที่วิจารณ์ต้องถามกลับว่า คุณจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไร
ถ้ายอมรับว่าเป็นการหาเสียงของพรรคก็ไม่เห็นผิดอะไร เพราะพรรคการเมืองก็ย่อมต้องการคะแนนนิยม
เป็นการหาเสียงหรือไม่ ผมต้องตอบว่าเป็นการเสนอทางออกให้กับประเทศ แต่เมื่อเสนอแล้วแนวทางนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน จึงต้องมีการอธิบายไงครับ เมื่ออธิบายเสร็จแล้วเห็นด้วยกับเรา ก็ลงชื่อเสนอกฎหมายเลยครับ ประชาชนก็เสนอกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญเราเห็นอย่างนี้นะครับ ไม่ใช่ไปหาเสียงอะไรหรอกครับ แต่เป็นเรื่องที่เราถามประชาชนเลยว่า เข้าใจเรื่องนี้ไหม ร่วมไหม อยากเห็นพี่น้องเราที่ถูกจับกุมต้องหนี ต้องหลบซ่อน เพราะว่าไปร่วมชุมนุมกับเขาไหม ? เอ้า้องการนิรโทษก็ว่ากันไป อย่างนี้
ข้อสังเกตว่าจะกระทบความเป็นเอกภาพของพรรคภูมิใจไทยกับรัฐบาลนั้น เป็นปัญหาหรือไม่
เรื่องนี้จะไม่เป็นประเด็นการเมือง จะไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่พรรคภูมิใจไทยต้องการเห็น ถามใครก็อยากเห็นปรองดอง แต่มันพูดแต่ปากครับ ปากบอกปรองดอง มันไม่เกิดหรอกครับ เราก็บอกเอางี้เลย ออกนิรโทษกรรมให้เขาเลยเป็นกฎหมาย
ถ้ากฎหมายไม่ผ่านก็ไม่เป็นประเด็นการเมือง ไม่ทำให้เป็นปัญหาการบริหารการอยู่ร่วมกันของฝ่ายรัฐบาล
ถ้ากลุ่มคนที่ทางภูมิใจไทยอยากให้อภัยนั้น เขาไม่ได้สู้กับรัฐบาล แต่มองว่ากำลังสู้กับฝ่ายตรงข้ามคืออำมาตย์ หรือที่เลยไปจากรัฐบาล
ให้มันถึงเวลานั้น...วันนี้เรามองว่า วันนี้คนเหล่านี้เขาถูกตั้งข้อหาเป็นผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเรื่องปิดถนน เรื่องการเผาโน่น เผานี่ อีกหลายเรื่องเป็นพัน ๆ คนเนี่ย เขาเป็นคนมาชุมนุมด้วยอุดมการณ์บริสุทธิ์ของเขา แต่ในเมื่อมันถึงขนาดนี้แล้ว เขาก็ต้องตกเป็นผู้ต้องหา ทำให้ชีวิตครอบครัวเขาต้องลำบาก ต้องหลบต้องหนี เราก็เห็นว่าให้อภัยกันเถิด
หากคนที่จะได้รับการให้อภัยมีทัศนคติต่อต้านมือที่มองไม่เห็น แบบนี้จะทำยังไง
อันนั้นเป็นเรื่องของผู้ปลุกระดม เป็นกลอนพาไป อย่าลืมว่ากฎหมายนี้ ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนที่เป็นแกนนำน่ะ...
***************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น